ศิลปินต้านเผด็จการรวมพลรอบใหม่ ยืนยันประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก-วิจารณ์รัฐบาล

Headache Stencil, Rapper Against Dictator และศิลปินมีมากมาย

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, Headache Stencil, Rapper Against Dictatorship และศิลปินอีกหลายคนมาร่วมยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
  • Author, เรื่อง-ภาพ ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล และ สมิตานัน หยงสตาร์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ศิลปินต้านเผด็จการรวมพลเพื่อยืนยันว่าประชาชนควรมีเสรีภาพในการแสดงออก วิจารณ์หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น "ความอยุติธรรมในสังคม" อย่างเปิดเผย

"โจร 500" ธีมผลงานชิ้นล่าสุดของศิลปินกลุ่ม "เฮดเอค สเตนซิล (Headache Stencil)" เด่นอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่สร้างจำลองเป็นกล่องพัสดุขนาดใหญ่บนลานจัดกิจกรรมของ เดอะแจมแฟคทอรี่ ย่านคลองสาม ด้านนอกกล่องพัสดุยักษ์พ่นสีว่า "กรุณาส่งอดีตกาล"

เมื่อถามถึงนัยยะของผลงานชิ้นนี้ ศิลปินร่างใหญ่ในเสื้อยืดสีแดง ตอบบีบีซีไทยโดยขอสงวนชื่อจริงว่า "รูปนี้ แทบไม่ต้องอธิบาย"

คำบรรยายวิดีโอ, ศิลปินต้านเผด็จการรวมพลแสดงจุดยืน เสรีภาพการแสดงออกไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง

"โจรห้าร้อย หรือลุงห้าร้อย หรืออะไรก็ตาม ผมว่าถ้าเป็นผมนะ...ไม่นั่งอยู่ให้คนด่าทุกวันแน่ ๆ" ศิลปินพ่นสีอธิบาย

"โจร 500" เป็นวลีที่ดังขึ้นหลังจากการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโหวตจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 500 เสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานนี้บอกว่า เขาต้องการให้คนไทยในอดีตจดจำว่าเกิดอะไรขึ้นหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

การแสดงผลงานศิลปะพ่นสีของ Headache Stencil เป็นส่วนหนึ่งของงานรวมพลศิลปินที่ชื่อว่า "อันเซ็นเซอร์" (Uncensored) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2562 นอกจากศิลปะพ่นสีแล้ว ยังมีแร็ปเปอร์นับสิบคน รวมทั้ง Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" มาร่วมแสดงด้วย

โจร 500 คือใคร?

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, โจร 500 คือใคร?

มือพ่นสี เจ้าของผลงานสร้างกระแส อาทิ "ลุงตู่นางกวัก" และ "เสือดำไม่ตายฟรี" ชี้ว่า คำพูดลักษณะนี้ หรือการสร้างสรรค์ผลงานวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ควรทำได้อย่างเสรี เพราะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก นักการเมืองจะได้รับรู้ว่า จริง ๆ แล้วประชาชนคิดอย่างไร

ศิลปินรายนี้เชื่อว่านายกฯ ยังไม่ได้รับรู้ความคิดเห็นของประชาชนเพราะ "ลูกน้องเขาน่าจะรายงานแต่เรื่องดี ๆ ที่เขาอยากฟัง"

หากมีโอกาสพบหน้า พล.อ. ประยุทธ์ เขาอยากบอกนายกฯ ด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า "มันจบแล้วครับนาย"

Headache Stencil สร้างชื่อในโลกสังคมออนไลน์จากผลงานเสียดสีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บริเวณสะพานลอยระหว่างซอยสุขุมวิท 23 กับ 58 เมื่อเดือน ม.ค. 2561

รูปหน้า พล.อ.ประวิตร อยู่ในนาฬิกาปลุก ล้อเลียนปมนาฬิกาหรู ที่รองนายกฯ อ้างว่า "ยืมเพื่อนมา" โดยที่สังคมไม่เคยได้คำตอบว่าแท้จริงแล้ว นาฬิกา 20 กว่าเรือนนั้นมีที่มาอย่างไร

ผลงานบางส่วนของ Headache Stencil ที่นำมาจัดแสดง

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผลงานบางส่วนของ Headache Stencil ที่นำมาจัดแสดง

นับแต่นั้น เขาก็สร้างผลงานข้างถนน ท้าทายอำนาจ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ มาหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผลงานแบบ "ปัจจุบันทันด่วน" ตามกระแสข่าวในช่วงนั้น ๆ

ยกตัวอย่าง "เดรัจศาล" เป็นรูปเทพีอุ้มรัฐธรรมนูญ ส่วนมืออีกข้างถือตาชั่งที่เอียง วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในคดีถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 32 คน ที่ศาลรับฟ้องแต่ไม่ได้มีคำสั่งให้ ส.ส.ที่ถูกตรวจสอบต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต่างจากกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เสรีภาพ...สิ่งที่ประเทศ 'กู' ไม่มี

ฟ้าเริ่มมืด สนามหญ้าที่ใช้จัดงานดูเล็กลงถนัดตา เพราะอัดแน่นด้วยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ จนถึงวัยชราก็มี เรียงซ้อนแถวครึ่งวงกลม ล้อมหน้าเวที ซึ่งด้านหลังมีแผ่นกระดานสีขาวพ่นสีสเปรย์เป็นคำว่า "เสรีภาพ" ที่หากมองใกล้ ๆ จะเห็นว่าสระและตัวอักษรแต่ละตัวถูกเขียนขึ้นจากภาพทหาร-ปืน-รถถัง

บรรยากาศคึกคักด้วยเสียงโห่ร้องอย่างถูกใจ สอดรับจังหวะหนัก ๆ ผสมผสานกับเนื้อร้องที่ดุเดือด

Liberated P หนึ่งในแร็ปเปอร์ผู้ร้องเพลง 'ประเทศกูมี'

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, Liberate P หนึ่งในแร็ปเปอร์ผู้ร้องเพลง 'ประเทศกูมี'

"สิ่งที่ประเทศกูไม่มี คนต้องจ่ายค่าอิสรภาพที่ไม่ฟรี แค่มึงยืนงั่ง ๆ แค่มึงนั่งก็โดนจับ แค่มึงพูดไม่เข้าหูมึงก็เสี่ยงโดนปรับทัศนคติ…"

เสียงแร็ปเพลง "สิ่งที่ประเทศกูไม่มี" โดย "ลิเบอร์เรต พี" (Liberated P) ดังก้องส่งท้ายช่วงเวลา 2 ชั่วโมงที่แร็ปเปอร์เกือบ 20 ชีวิตร่วมกัน "แร็ป" วิพากษ์สังคมและการเมืองแบบมาราธอน

จากนั้นกลุ่ม RAD หรือ 'แร็ปต่อต้านเผด็จการ' พร้อมแร็ปเปอร์คนอื่น ๆ ก็ร่วมร้องเพลง "ประเทศกูมี" ที่โด่งดังหลังจากเผยแพร่ทางยูทิวบ์เมื่อเดือน ต.ค. 2561 โดยล่าสุดมีผู้ชมกว่า 68 ล้านครั้ง และทำให้ศิลปินได้รับรางวัลจาก Human Rights Foundation (มูลนิธิสิทธิมนุษยชน) ในฐานะที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความไม่ยุติธรรม

ผู้ชมหลายคนพร้อมใจชู 3 นิ้ว ในหลายช่วงของการแสดง

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผู้ชมหลายคนพร้อมใจชู 3 นิ้ว ในหลายช่วงของการแสดง

"ประเทศกูยังมี"

งานรวมพลศิลปิน Uncensored ริเริ่มจากแนวคิดของ Headache Stencil ที่เบื่อหน่ายกับคอมเมนต์ในสังคมออนไลน์ที่สะท้อนความกลัวต่อการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ เช่น เมื่อมีคนวิจารณ์รัฐบาล ก็จะมีคนอื่น ๆ มาแสดงความเห็นว่า "อยากกินอะไรในคุก" หรือ "เดี๋ยวก็โดนอุ้มหรอก"

"เฮ้ย เราต้องอยู่ในสภาวะที่จะพูดอะไร แล้วเราต้องติดคุกเหรอ พูดอะไรแล้วต้องมีคนมาบุกบ้าน…เนี่ยเราเลือกตั้งมาสักพักแล้ว ทำไมเราถึงยังต้องอยู่ในกฎอะไรแบบนั้นอีก" เขาตั้งคำถาม

เขาจึงชวนเพื่อนศิลปินในแวดวงต่าง ๆ ที่มีแนวทางผลงานและความเห็นตรงกัน ว่าควรต้องทำอะไรสักอย่าง ให้ประชาชนได้เห็นว่า เรามีสิทธิที่จะกล่าวถึงรัฐบาลได้อย่างเสรี

"เราต้องอยู่ในสภาวะที่จะพูดอะไร แล้วเราต้องติดคุกเหรอ"

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "เราต้องอยู่ในสภาวะที่จะพูดอะไร แล้วเราต้องติดคุกเหรอ"

"เราต้องวิจารณ์คนที่เราจ่ายเงินจ้างให้มาทำงานได้...เมื่อเราวิจารณ์คุณแล้ว คุณไม่มีสิทธิส่งตำรวจหรือทหารมาไล่จับเรา หรือบุกบ้านเรา"

ปรัชญา สุรกำจรโรจน์ หรือ อาร์ท หนึ่งในเจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' มองว่าไม่ว่าเมื่อวาน วันนี้ หรือพรุ่งนี้จะมีรัฐบาลก็ "ไม่ต่างกัน" เพราะสุดท้ายก็คือรัฐบาลชุดเดิม ที่อาจสับเปลี่ยนบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เท่านั้นเอง

เขายังเล่าติดตลกว่า ประเทศกูมี ผ่านมากว่า 1 ปี ก็ยังรู้สึกว่า "ประเทศกูยังมี"

"สัปดาห์ที่แล้วผมไปเล่นในงาน ๆ หนึ่ง…เล่นเพลงประเทศกูมี ผมก็แบบว่า รู้สึกขึ้นมาตอนที่กำลังเล่นว่า ทำไมเนื้อเพลงมันดูอัพเดตจังวะ ออกมาจะปีแล้ว"

ศิลปะเสียดสีการเมือง = พื้นที่เสี่ยง?

สามวันก่อนจัดงาน Headache Stencil ประกาศผ่านหน้าเฟชบุ๊ก ถึงการย้ายสถานที่จัดงาน Uncensored อย่างกะทันหัน จากเดิมตั้งใจจัดที่ Warehouse 30 ซึ่งเขาเข้าใจเหตุผลดี

"ถ้าคนไม่ได้มองว่าสิ่งที่เราทำเป็นศิลปะ เขาจะมองว่าเป็นการเมืองแล้วเขากังวล มันเป็นเรื่องธรรมดา"

แต่ความต้องการของมือพ่นสีนักวิพากษ์การเมือง คือ ให้ทุกคนมองว่ากิจกรรมนี้เป็นแค่งานศิลปะ

สิตานันท์ บุณยโยธิน เคยเข้าร่วมชมงานศิลปะเสียดสี "คดีเสือดำ" และมองว่าการใช้ศิลปะเสียดสีการเมือง ช่วยให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น เธอมาร่วมงานวันนี้ เพราะอยากรู้ว่าผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว งานลักษณะนี้ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอยู่หรือไม่

"หนูว่าจริงๆ มันก็เสี่ยง แต่เรามีสิทธิแสดงความคิดเห็นของเรา" สิตานันท์ บุณยโยธิน

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar/BBCThai

คำบรรยายภาพ, "หนูว่าจริงๆ มันก็เสี่ยง แต่เรามีสิทธิแสดงความคิดเห็นของเรา" สิตานันท์ บุณยโยธิน

"หนูว่าจริงๆ มันก็เสี่ยง แต่เรามีสิทธิแสดงความคิดเห็นของเรา ศิลปินเขาก็แสดงความคิดเห็นของเขาในด้านศิลปะออกมา ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรืองานศิลปะ"

จุฑามาศ คำแดงไสย์ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มองว่างานศิลปะที่ผสมผสานการเมืองเป็นสิ่งจำเป็น แม้ศิลปินต้องแบกรับความเสี่ยงก็ตาม

ศิลปะเสียดสีการเมือง ช่วยให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar/BBCThai

คำบรรยายภาพ, "พอการเมืองมันเป็นอย่างนี้ยิ่งน่าสนใจ" จุฑามาศ คำแดงไสย์

"พอการเมืองมันเป็นอย่างนี้ยิ่งน่าสนใจ มันทำให้ผู้คนเข้าถึงงานศิลปะมากขึ้นด้วย จากเดิมที่อาจไม่รู้จักศิลปะเลย มันเหมือน วิน-วิน ทั้งคู่"

แม้จะต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานอย่างกะทันหัน แต่งานรวมพลศิลปิน Uncensored ก็ผ่านไปได้ด้วยดี โดยไม่มีการ "รบกวน" จากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร

"ผมไม่ได้บอกทุกคนว่าเราต้องก่อม็อบนะ แต่ผมแค่กำลังบอกว่า เราต้องมีสิทธิพูด มีสิทธิแสดงออก" ศิลปินพ่นสีผู้ริเริ่มจัดงาน Uncensored กล่าว "ถ้างานนี้จัดไปได้แล้วทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เท่ากับว่าต่อไปนี้ประชาชนทุกคนจะต้องวิจารณ์รัฐบาลได้เหมือนที่เราทำ เพราะพวกเราคือคนธรรมดาเหมือนกัน"