เบร็กซิท : "ช่วงเปลี่ยนผ่าน"คืออะไรและจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

Britain, Europe and exit text with flag on wooden signpost outdoors in nature, emergency sign to symbolise Brexit

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังเป็นสมาชิกมา 47 ปี สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการในเวลา 23.00 น. ตามเวลาในสหราชอาณาจักร หรือเวลา 24.00 น. ตามเวลาในกรุงบรัสเซลส์ ของวันที่ 31 ม.ค.นี้

โดยหลังจากวันนี้ สหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" (transition period) แต่ช่วงเวลานี้หมายความว่าอย่างไรและจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง บีบีซีมีคำอธิบาย

ช่วงเปลี่ยนผ่านคืออะไร

ช่วงเปลี่ยนผ่านจะดำเนินไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2020

ในช่วงนี้ สหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ในสหภาพศุลกากรอียู และเขตตลาดเดียวของอียู นั่นหมายถึงการที่กฎระเบียบส่วนใหญ่จะยังคงเป็นเช่นเดิมจนกว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลง ซึ่งรวมถึงเรื่องต่อไปนี้ :

  • การเดินทางเข้า-ออกจากอียู (รวมถึงกฎระเบียบว่าด้วยใบอนุญาตขับขี่ และหนังสือเดินทางสัตว์เลี้ยง)
  • เสรีภาพในการเดินทาง (สิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานในอียูของพลเมืองสหราชอาณาจักร และสิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานในสหราชอาณาจักรของพลเมืองอียู)
  • การค้าระหว่างสหราชอาณาจักร-อียู จะดำเนินต่อไปโดยไม่มีค่าธรรมเนียมพิเศษ หรือการตรวจสอบด้านศุลกากร

เมื่อช่วงการเปลี่ยนผ่านเริ่มต้นขึ้น สหราชอาณาจักรจะสูญเสียสมาชิกภาพของตนในสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ของอียู เช่น รัฐสภายุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป

ดังนั้น ในขณะที่สหราชอาณาจักรจะไม่มีสิทธิ์ลงมติออกเสียงใด ๆ ในสถาบันทางการเมืองของอียู แต่ก็ยังจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียูต่อไป และศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปจะมีสิทธิ์ชี้ขาดในข้อพิพาททางกฎหมายต่าง ๆ

นอกจากนี้ พลเมืองสหราชอาณาจักรจะพ้นจากการเป็นพลเมืองยุโรปด้วย

การเปลี่ยนผ่านยังหมายความว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงจ่ายเงินสมทบให้อียูต่อไป

Presentational grey line
Presentational grey line
ลำดับเหตุการณ์เบร็กซิท

เหตุใดจึงมีความจำเป็นต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน

แนวคิดเรื่องช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้เพื่อให้มีเวลาสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต และข้อตกลงใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู หลังจากวันที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกไปในวันที่ 31 ม.ค.นี้

ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้กำหนดกรอบเป้าหมายคร่าว ๆ เรื่องนี้ไว้แล้วในคำประกาศทางการเมืองที่มีเนื้อหา 27 หน้า

มีอะไรบ้างที่ต้องจัดการให้เสร็จลุล่วงในช่วงนี้

สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-อียู หากสหราชอาณาจักรยังคงต้องการทำการค้ากับอียูต่อไปโดยไร้ภาษีศุลกากร, โควตา หรืออุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ หลังผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนผ่านไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีจะไม่ขจัดการตรวจสอบด้านศุลกากรระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรออกไป ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือในเรื่องนี้

ในปี 2018 การค้าของสหราชอาณาจักร (สินค้าและบริการ) มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.3 ล้านล้านปอนด์ ซึ่งในจำนวนนี้ 49% เป็นการค้ากับอียู

นอกจากนี้ ช่วงการเปลี่ยนผ่านยังเป็นโอกาสที่สหราชอาณาจักรจะได้เปิดการเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จลุล่วงทันเวลา ข้อตกลงการค้าเหล่านี้ก็จะมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงการเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลง

ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิทกล่าวอ้างมานานว่า การให้อิสระสหราชอาณาจักรได้กำหนดนโยบายการค้าของตนเองได้นั้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แม้นักวิจารณ์คนอื่น ๆ จะระบุว่าการคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอียูมีความสำคัญกว่า

นอกจากเรื่องการค้า อียูและสหราชอาณาจักรยังต้องตัดสินใจเรื่องความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ในอนคตด้วย เช่น

  • การบังคับใช้กฎหมาย การแบ่งปันข้อมูล และความร่วมมือด้านความมั่นคง
  • มาตรฐานและความปลอดภัยด้านการบิน
  • การเข้าใช้น่านน้ำเพื่อการประมง
  • การจัดหาไฟฟ้าและก๊าซ
  • การออกใบอนุญาตและระเบียบข้อบังคับทางการแพทย์

สหราชอาณาจักรจะต้องกำหนดและจัดเตรียมระบบใหม่หลายอย่าง เช่น วิธีจัดการคนเข้าเมืองเมื่อเสรีภาพในการเดินทางระหว่างสองฝ่ายสิ้นสุดลง

a pro-remain protester holds up an EU flag with one of the stars symbolically cut out in front of the Houses of Parliament,

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

เบร็กซิทจะเป็นอย่างไรภายหลังช่วงเปลี่ยนผ่าน

ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้มี 3 รูปการด้วยกัน คือ

ข้อตกลงการค้าสหราชอาณาจักร-อียู มีผลบังคับใช้

หากข้อตกลงการค้าระหว่างสองฝ่ายเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้ สหราชอาณาจักรก็อาจเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการค้ารูปแบบใหม่กับอียูได้เมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลง

หากสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ แต่ยังมีประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ในด้านอื่น เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคงในอนาคต ข้อตกลงการค้าก็ยังจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีการใช้แผนการสำรองในประเด็นอื่น ๆ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย

สหราชอาณาจักรออกจากช่วงเปลี่ยนผ่านโดยไร้ข้อตกลงกับอียู

ในรูปการนี้ สหราชอาณาจักรและอียูไม่สามารถบรรลุการเจรจาและบังคับใช้ข้อตกลงการค้าได้ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2021 อีกทั้งไม่มีการทำข้อตกลงขยายช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านออกไปอีก

นี่หมายความว่า สหราชอาณาจักรจะต้องทำการค้ากับอียูภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะทำให้สินค้าส่วนใหญ่ของสหราชอาณาจักรจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรจนกว่าจะมีการนำข้อตกลงการค้าเสรีมาใช้

หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ประเด็นเหล่านี้ก็จะต้องดำเนินการไปตามเงื่อนไขแบบไร้ข้อตกลง

มีการขยายช่วงเปลี่ยนผ่านในขณะที่การเจรจายังคงดำเนินต่อไป

หากสองฝ่ายใกล้จะบรรลุข้อตกลงการค้าแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในขั้นสุดท้าย นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็อาจตัดสินใจขอขยายกรอบเวลาการเปลี่ยนผ่านออกไป (ได้นานเท่าที่อียูเห็นชอบ)

ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement) จะสามารถขยายช่วงเปลี่ยนผ่านไปได้ 12 หรือ 24 เดือน แต่หากสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เร็วกว่านั้น ช่วงเปลี่ยนผ่านก็จะสิ้นสุดลงได้เร็วขึ้นเช่นกัน

ข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรประบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเห็นพ้องเรื่องการขยายช่วงเปลี่ยนผ่านภายในวันที่ 1 ก.ค. 2020

อย่างไรก็ตาม รูปการนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะกฎหมายที่ผ่านสภา จะไม่อนุญาตให้ขยายช่วงเปลี่ยนผ่านออกไป และนายกรัฐมนตรีจอห์นสันก็เคยประกาศว่าจะไม่อนุมัติเรื่องนี้

แม้นายจอห์นสันได้ให้คำมั่นว่าจะ "ทำเบร็กซิทให้ลุล่วง" ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2020 แต่ยังคงมีการเจรจากับอียูที่ยืดเยื้ออีกหลายเดือนรอเขาอยู่ข้างหน้า