แรงงานเมียนมาเล่าสภาพการทำงานบนเรือประมงไทย ขณะ ยูเอ็นลงพื้นที่สำรวจสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติ

A fishing boat is seen at the port in Songkhla on February 2, 2016

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสามของโลก

เมื่อสองปีก่อน "วิน" จากเมียนมา ถูกขายในราคา 6,000 บาท ให้มาทำงานบนเรือประมงในไทย เขาต้องทำงานวันละ 19 ชั่วโมง บางครั้งในช่วงฤดูที่หาปลาได้มาก ลูกเรือจำนวน 30 คน ไม่ได้พักผ่อนเลย จนกระทั่งเขาเสียแขนซ้ายจากอุบัติเหตุบนเรือในปีนี้

"เป็นชาวประมงในเมียนมา ชีวิตลำบากมาก ผมเลยคิดว่าชีวิตคงจะดีขึ้น ถ้ามาทำงานในประเทศไทย" คุณพ่อลูกสี่วัย 39 ปี กล่าวกับมูลนิธิทอมป์สันรอยเตอร์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติกำลังออกตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ทารุณภายในสัปดาห์นี้ในไทย

"'นายหน้า' ไม่ได้บอกว่าผมจะได้ทำงานอะไร หรือได้ค่าจ้างเท่าไหร่ สุดท้ายผมได้ไปทำงานบนเรือ"

ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสามของโลก อุตสาหกรรมประมงจ้างงานมากกว่า 3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

อุตสาหกรรมนี้เผชิญกับข้อกล่าวหากระทำทารุณแรงงานมาเป็นเวลานานและกำลังถูกตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติในการลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของไทยเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงด้วย

วิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์กลางการประมงที่สำคัญของไทย และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เล่าว่า เขาเสียแขนซ้าย หลังจากติดอยู่ในล้อเลื่อนขณะกำลังดึงอวนขึ้นจากทะเล

นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับเขาเพียง 10,000 บาท ซึ่งเขาไม่พอใจ และกำลังร้องเรียนต่อทางการไทยเพื่อขอค่าชดเชยที่สูงขึ้น

ถูกมีดยาวตีหัว

วินกล่าวว่า ก่อนเสียแขน เขาก็รู้สึกว่าได้รับค่าจ้างต่ำเกิน โดยเริ่มจาก 10,000 บาทที่ได้ในเดือนแรก แล้วลดลงมาที่ 4,000 บาท ขณะที่ค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำตามกฎหมายของไทยอยู่ที่ราว 9,000 บาท

อุตสาหกรรมประมงไทยจ้างงานมากกว่า 3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, อุตสาหกรรมประมงไทยจ้างงานมากกว่า 3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

"ทุกครั้งที่เราทำอะไรผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะถูกด่าหรือทุบตี ผมเคยถูกตีสองครั้ง ครึ่งหนึ่งเขาใช้มีดยาวตีที่หัวผม" วิน ซึ่งขอไม่ให้ใช้ชื่อเต็ม เพราะกลัวว่าจะส่งผลต่อคดีที่ดำเนินการกับทางการไทย กล่าว

อุตสาหกรรมอาหารทะเลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของไทย ถูกตรวจสอบมาโดยตลอดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากสื่อและกลุ่มสิทธิมนุษยชนพบว่ามีการใช้แรงงานทาส ค้ามนุษย์ และความรุนแรง บนเรือหาปลา และตามสถานที่แปรรูปอาหารทะเลบนชายฝั่งด้วย

กองทัพซึ่งขึ้นมามีอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2557 พยายามปฏิรูปหลายเรื่อง หลังสหภาพยุโรปขู่ในปี 2558 ว่าจะห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากไทย ถ้าไม่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ใสสะอาด

งานวิจัยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ในเดือนนี้ระบุว่า นายจ้างปฏิบัติตามกฎใหม่มากขึ้น เช่น การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่ชาวประมง และการทำสัญญา แต่ ILO ก็พบด้วยว่า ยังคงมีการปฏิบัติหลายเรื่องที่เป็นการบังคับใช้แรงงาน แม้ว่ามีแรงกดดันจากบริษัทผู้นำเข้า ให้แก้ปัญหาในอุตสากรรมนี้ รวมถึง สภาพการทำงานที่ละเมิดสิทธิคนงาน และการทำงานล่วงเวลามากเกินไป โดยเฉพาะในหมู่แรงงานต่างด้าวจากกัมพูชา และเมียนมา

hai Marine police officers inspect documents and work permits from Myanmar migrant fishermen at a fishing port in Samut Sakhon province, Thailand, 19 March 2018

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ทางการไทยพยายามปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง หลังสหภาพยุโรปขู่ในปี 2558 ว่าจะห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากไทย ถ้าไม่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ใสสะอาด

จากการสำรวจแรงงานประมง 260 คน ขององค์การยุติธรรมนานาชาติ (International Justice Mission—IJM) ซึ่งทำงานด้านต่อต้านการค้ามนุษย์ เมื่อปีที่แล้ว พบว่า มากกว่าหนึ่งในสามของแรงงานประมงต่างด้าวในไทย เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

โฆษกจากคณะทำงานของสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ระหว่างการเยือนไทย 10 วัน ทางกลุ่มจะเข้าพบเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเคลื่อนไหว และแรงงานต่างด้าว วัน เพื่อตรวจสอบว่า มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยใช้ได้ผลหรือไม่

"ปัญหาภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงในภูมิภาคเอเชียด้วย" สุรยา เดวา ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาซิตี้แห่งฮ่องกง และเป็นหนึ่งในคณะทำงาน กล่าวกับมูลนิธิทอมป์สันรอยเตอร์

"การละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น ในห่วงโซ่อุปทาน เป็นปัญหาสำคัญ สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างหนึ่งในระดับโลกคือ สิทธิของแรงงานต่างด้าว"

ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในไทย ทางคณะทำงานได้รับมอบหมายให้ โน้มน้าวรัฐบาลไทยให้ออกแผนปฏิบัติการแห่งชาติ จัดการกับปัญหาค้ามนุษย์และทาสยุคใหม่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ อาหารทะเลไปจนถึงภาคการผลิต และการท่องเที่ยว

ดัชนีทาสโลกปี 2016 โดยมูลนิธิวอล์กฟรี (Walk Free Foundation) ประเมินว่ามีผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะของการเป็นทาสยุคใหม่ในประเทศไทยราว 425,500 คน

ดัชนีทาสโลกปี 2016 โดยมูลนิธิวอล์กฟรี ประเมินว่ามีผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะของการเป็นทาสยุคใหม่ในไทยราว 425,500 คน (ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ดัชนีทาสโลกปี 2016 โดยมูลนิธิวอล์กฟรี ประเมินว่ามีผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะของการเป็นทาสยุคใหม่ในไทยราว 425,500 คน (ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ)

'ผมไม่มีความสุขที่อยู่ที่นี่'

แต่นักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้คณะทำงานของสหประชาชาติ ดำเนินการมากกว่าแค่การให้คำแนะนำ

"ถ้าสหประชาชาติมาวิจัยและเก็บข้อมูล นั่นก็คงไม่ได้ช่วยอะไรหรอก" ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล จากเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานของไทย กล่าว โดยเครือข่ายนี้ทำงานในการช่วยเหลือชาวประมงที่ถูกกระทำทารุณจากการใช้แรงงาน

กลับมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เรือหลายลำกำลังกลับเข้าฝั่งในเช้าที่อากาศสดใส และชาวประมงกำลังยุ่งอยู่กับการขนอาหารทะเลที่หามาได้ขึ้นฝั่ง

ผู้หญิงในพื้นที่และแรงงานต่างด้าวหลายคนจากเมียนมา กำลังคัดปลาแยกตามขนาดอยู่เงียบ ๆ ก่อนที่ปลาเหล่านี้จะถูกขนขึ้นรถบรรทุกนำไปส่งตามโรงงานแปรรูปที่อยู่ใกล้เคียง

แต่นี่คือภาพที่วินต้องการจะลืม สิ่งที่เขาต้องการในตอนนี้คือ เงิดชดเชยจากการที่ต้องสูญเสียแขนและกลับบ้านในเมียนมา

"ผมไม่มีความสุขที่อยู่ที่นี่ อย่างน้อย ถ้าผมกลับบ้าน ผมก็ได้อยู่กับภรรยาและลูก ๆ" เขากล่าว