ระเบิดในศรีลังกา : ประชาชนอาลัยเหยื่อที่พุ่งสูงถึง 321 ราย ท่ามกลางความกังขาถึงประสิทธิภาพของรัฐบาล หลังตำรวจเคยได้รับคำเตือนภัยล่วงหน้าแล้ว

งานศพ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนเข้าร่วมพิธีศพที่จัดขึ้นในโบสถ์เซนต์เซบาสเตียน เมืองเนกอมโบ

ชาวศรีลังกาจัดพิธีศพหมู่ให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดโจมตี 321 คน ท่ามกลางความโศกเศร้า และความเคลือบแคลงในรัฐบาล หลังมีรายงานว่าตำรวจเคยได้รับคำเตือนว่าจะมีการก่อเหตุร้ายแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่เคยรับทราบเรื่อง

พิธีศพครั้งนี้จัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์เซบาสเตียนในเมืองเนกอมโบ ทางตอนเหนือของกรุงโคลัมโบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่เกิดเหตุ ขณะที่ยอดผู้บาดเจ็บอยู่ที่ราว 500 คน

นอกจากนี้ ยังมีการสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในเวลา 8.30 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นนาทีที่เสียงระเบิดลูกแรกจากทั้งหมด 6 ลูกดังขึ้นนั่นเอง ธงชาติศรีลังกาถูกลดลงครึ่งเสา ผู้คนต่างโค้งศรีษะอย่างเงียบงันเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ

ล่าสุด กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า รัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ได้ประกาศว่าอยู่เบื้องหลังเหตุนองเลือดครั้งนี้ผ่านทางสื่อของกลุ่ม

แต่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลศรีลังกา ระบุว่า เหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้เป็นฝีมือของ National Thowheed Jamath (NTJ) กลุ่มติดอาวุธอิสลามในพื้นที่ โดยตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยว่าพัวพันกับเหตุก่อการร้ายแล้ว 40 คน ทั้งยังปิดกั้นการเข้าใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก วอทส์แอป และอินสตาแกรม หลังเหตุการณ์ระเบิดด้วย

หญิงสาวร้องไห้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายพุ่งสูงถึง 310 คน แล้ว ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีประมาณ 500 คน

ทั้งนี้ กลุ่ม NTJ ไม่เคยมีประวัติก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่มาก่อน จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายพระพุทธรูป อย่างไรก็ตาม NTJ หรือกลุ่มติดอาวุธอิสลามอื่นยังไม่ออกมายอมรับว่าเหตุระเบิดก่อการร้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 นั้นเป็นฝีมือของตน

ทางการศรีลังกาประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดตามมา ทำให้ตำรวจและทหารมีอำนาจเด็ดขาดในการกักขังและสอบสวนผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล อำนาจดังกล่าวถูกใช้ครั้งล่าสุดในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1983 - 2009 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

รัฐบาลเมินคำเตือน?

หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด ความเคลือบแคลงสงสัยก็พุ่งไปที่ผู้นำของประเทศศรีลังกา เพราะรายงานข่าวปรากฎว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้รับคำเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นครั้งนี้

โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่ม NTJ มานานแล้ว และได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าอาจจะเกิดการโจมตีขึ้น อย่างไรก็ตาม นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกาและคณะรัฐมนตรี กลับไม่ได้รับคำเตือนนั้นด้วย

ทหารยืน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทางการได้ประกาศให้ประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว

นี่จึงเป็นรอยร้าวระหว่างนายวิกรมสิงเห และ นายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ว่าเหตุใดนายวิกรมสิงเหจึงไม่เคยได้รับข่าวกรองเรื่องนี้เลย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นกันว่า นายสิริเสนา เคยได้รับการบอกกล่าวถึงเหตุระเบิดครั้งนี้หรือไม่ ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายชิรัล ลัคธิลากะ ที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดี โดยเขายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประธานาธิบดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษนำโดยผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว

ซากความเสียหายจากระเบิด

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ความเสียหายจากเหตุระเบิดในโบสถ์เซนต์เซบาสเตียน เมืองเนกอมโบ