รองนายกฯ เผยการจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่ "ปัดกวาดพระศาสนา" เล็งจัดระเบียบพุทธพาณิชย์ที่เอาศาสนามาค้ากำไร

พระยืน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/ BBC Thai

รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เผยปฏิบัติการจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป เป็นการปัดกวาดให้ "พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ผุดผ่อง เด่นชัดขึ้น" ในอนาคตอาจจัดระเบียบพุทธพาณิชย์ ที่นำเอาพุทธศาสนามาค้ากำไร

นายวิษณุกล่าวว่า "สะเทือนต่อวงการพระสงฆ์และสะเทือนต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน..แต่ไม่กระทบต่อพุทธศาสนาในประเทศซึ่งยังมั่นคงดีอยู่" และกล่าวอีกว่าเมื่อมีเรื่องการทุจริต ก็ต้องเข้าไปจัดการ "เรื่องแบบนี้อาจะเกิดึ้นได้ในทุกศาสนา และจะต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะเหตุที่เกิดขึ้น...คล้ายกับการปัดกวาดบ้านช่องห้องหอ จากที่ไม่สะอาด ให้กลับมาสะอาดขึ้น"

นอกจากนี้รองนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า "ในอนาคตเราต้องมีการจัดระเบียบเรื่องพุทธพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจกับชาวพุทธ เพราะเป็นการนำพุทธศาสนาหรือศาสนาวัตถุ หรือศาสนาบุคคลมาทำมาค้าขาย หากำไร ต้องเป็นเรื่องที่ต้องจัดการต่อไป"

เหตุการณ์เมื่อวานนี้

ตำรวจได้ออกปฏิบัติการตรวจค้นวัดมีชื่อเสียง และจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปด้วยกัน คือ พระศรีคุณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ , พระครูสิริวิหารการสมจิตร จันทร์ศรี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ , พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือเจ้าคุณเทอด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ , พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และ พระอรรถกิจโสภณ เลขาเจ้าคณะกรุงเทพ วัดสระสามพระยา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเงินสนับสนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

ส่วนพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และ พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ซึ่งอยู่ในหมายจับด้วยหลบหนีไปได้ และคาดว่าอาจจะออกนอกประเทศไปแล้ว นอกจากนี้ก็ยังจับกุมฆราวาสอีก 4 คนอีกด้วย รวมเป็นจับกุมทั้งหมด 9 ราย

พระพุทธอิสระ

ที่มาของภาพ, ข่าวสด

ในตอนค่ำ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์การกระทำความผิดมีผลกระทบต่อพุทธศาสนาและมีลักษณะเป็นขบวนการ โดยมีการแบ่งหน้าที่ยักย้ายเงินที่ได้มาผ่านทางธนาคาร จึงต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหากับพวก หากให้ปล่อยชั่วคราวแล้วเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และพระชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมดก็ถูกจับสึกให้นุ่งขาวก่อนที่จะเข้าเรือนจำ

เช้าวันเดียวกัน ตำรวจอีกทีมก็ได้ปฏิบัติแยกส่วน เข้าจับกุมพระพุทธะอิสระ หรือนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ อายุ 59 ปี เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะ ภายใต้คดีอั้งยี่ซ่องโจรที่การ์ด กปปส. ร่วมทำร้ายร่างกายตำรวจสันติบาล 2 นายบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส และคดีปลอมพระปรมาภิไธย โดยใช้พระปรมาภิไธยที่มีการปลอมขึ้นลงองค์พระเครื่อง "นาคปรกอุดปรอท"

เมื่อ 18.30 น. ศาลอาญารัชดาไม่ให้ประกันตัว พร้อมจับสึก โดยพิธีสึกมีขึ้นภายในห้องควบคุมผู้ต้องขังของราชทัณฑ์ บริเวณใต้ถุนศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก หลังทนายยื่นหลักทรัพย์ประกัน 1.5 แสนบาท จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถเพื่อไปเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพ ท่ามกลางความโศกเศร้าของญาติโยมที่มาให้กำลังใจ

3 พระชั้นพรหมพ้นตำแหน่งในมหาเถรสมาคม

เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 พ.ค. พระพรหมมุนี กรรมการ มส. ในฐานะเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เปิดเผยว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาให้กรรมการ มส. พ้นจากตำแหน่ง 3 รูปที่ถูกออกหมายจับ คือ พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร, พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม, พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตามที่ พศ. เสนอมา

คำสั่งดังกล่าวเป็นการให้พ้นตำแหน่งไปก่อน หากทั้ง 3 รูปสามารถพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการทางกฎหมายและไม่มีความผิด ก็สามารถที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งกรรมการ มส. ได้อีกครั้งหนึ่ง

พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา (ซ้าย)

พศ. ได้เดินหน้าตรวจสอบกรณีทุจริตมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2560 และเมื่อวันที่ 19 เม.ย. กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เปิดรายชื่อวัดที่มีการทุจริตเงินทอน ล็อตที่ 3 จำนวน 3 วัด จากทั้งหมดที่ตรวจสอบพบกรณีทุจริต 10 วัด

วัดสัมพันธวงศ์

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

บีบีซีไทย รวบรวมประวัติความเป็นมาของพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 3 รูป รวมทั้งพระพุทธอิสระที่ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงพระปรมาภิไธย

พระพุทธอิสระคือใคร

เว็บไซต์คมชัดลึกให้ข้อมูลว่าพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ พระพุทธะอิสระ เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2499 อุปสมบทครั้งแรก เมื่ออายุ 20 ปี ที่วัดคลองเตยใน กรุงเทพฯ จากนั้นได้สึกไปรับราชการทหาร และอุปสมบทอีกครั้งที่จังหวัดพัทลุง เมื่อปี 2526 มีฉายาว่า "พระสุวิทย์ ธมฺมธีโร" เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดอ้อน้อยจากที่ดินบริจาคที่ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ปี 2532 และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย เมื่อปี 2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลห้วยขวาง แทนเจ้าคณะรูปเดิมที่มรณภาพไป เมื่อปี 2542

พระพุทธอิสระมีบทบาททั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเป็นผู้ยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้อายัดทรัพย์พระธัมมชโย แห่งวัดธรรมกาย และได้เข้าร่วมกับ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ในการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยได้ขึ้นเวทีแสดงธรรมและให้กำลังใจผู้ชุมนุมหลายครั้ง ในหลายสถานที่

พระพุทธอิสระก่อนถูกจับสึกในวันนี้

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว "พระพุทธอิสระ" หลังทนายยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 150,000 บาท พร้อมให้สึกจากการเป็นพระ

เมื่อสองปีที่แล้ว ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน โดยเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา ซึ่งมีชื่อของพระพุทธะอิสระรวมอยู่ด้วย

เจ้าคุณเอื้อน (พระพรหมดิลก) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา

พระพรหมดิลก หรือเจ้าคุณเอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9 ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสามพระยาเมื่อปี 2539 เป็นกรรมการ มส. เมื่อปี 2553 และขึ้นเป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2556

เว็บไซต์ผู้จัดการ เขียนในรายงาน "พระชั้นผู้ใหญ่จับมือคว่ำบาตร ผอ.พศ.- กระทบชิ่งรัฐบาล" เมื่อเดือน ก.ค. 2560 ว่า เจ้าคุณเอื้อน เป็นหนึ่งในพระชั้นผู้ใหญ่ที่ออกมาตำหนิ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ. พศ. ต่อการตรวจสอบกรณีทุจริตเงินงบประมาณระหว่างวัดกับข้าราชการ พศ. พร้อมทั้งขยายการตรวจสอบออกไปถึงวัดดังในกรุงเทพฯ

เป็นห้วงเวลาที่พระชั้นผู้ใหญ่ ออกมาประสานเสียงไม่ยอมรับ ผอ. พศ. พร้อมกับออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ขององค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทยประกาศจะไม่รับเงินอุดหนุนใด ๆ จาก พศ. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ปีที่แล้ว และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัว ผอ. พศ. เพื่อรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทุจริตในองค์กร

เว็บไซต์ผู้จัดการ ยังระบุอีกว่า เจ้าคุณเอื้อน ถูกพระพุทธะอิสระ กล่าวหาว่า "เป็นผู้ที่สนับสนุนคนเสื้อแดง และชื่นชมยกย่องพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย"

เจ้าคุณธงชัย (พระพรหมสิทธิ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ

ก่อนถูกปลด พระพรหมสิทธิ หรือเจ้าคุณธงชัย สุขญาโณ ในอายุ 62 พรรษา ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ มส. เจ้าคณะภาค 10 และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่ตำรวจยังหาตัวไม่พบ

ที่มาของภาพ, มหาเถรสมาคม

คำบรรยายภาพ, พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่ตำรวจยังหาตัวไม่พบ และมีข่าวว่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว

เว็บไซต์ข่าวสด คอลัมน์พระเครื่อง โดยมงคลข่าวสด เขียนไว้ว่า เจ้าคุณธงชัย เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิด เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช "ได้รับความไว้วางใจ และได้รับมอบหมายภารกิจสนองงาน ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และอื่น ๆ อีกมากมาย"

ปี 2531 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง รับผิดชอบการบูรณปฏิสังขรณ์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) บูรณะอาคารสำหรับรองรับพระสงฆ์ที่กลับจากการปฏิบัติศาสนกิจต่างประเทศ สร้างอาคารรับรองพระสงฆ์นานาชาติ และสร้างอาคารอเนกประสงค์

ในการเข้าตรวจค้นของกองปราบวันนี้ ไม่พบตัวเจ้าคุณธงชัย แต่พบบัญชีเงินฝากส่วนตัวของพระพรหมสิทธิ 10 บัญชี รวมเงิน 132 ล้านบาท เลขาธิการ ปปง. จึงอายัดไว้ จากนั้นก็มีรายงานว่าพระพรหมสิทธิหลบหนีออกจากวัด และอาจจะออกนอกประเทศไปแล้ว

พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม

เป็นกรรมการ มส. ธรรมยุติกนิกาย ตั้งแต่ปี 2546 และเป็นเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต) และก็ยังเป็นโฆษก มส. อีกด้วย ก่อนหน้านี้พระพรหมเมธีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าฉลองสมณศักดิ์อย่างใหญ่โตเกินความจำเป็นเมื่อปี 2555 ภายหลังก็ยังถูกพระพุทธะอิสระ ซึ่งกล่าวหา มส. มาตลอดว่าใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกายมาตลอด แจ้งความดำเนินคดี เมื่อปี 2558 พร้อมทั้งพระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และโฆษก พศ. ข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุที่ มส. มีมติให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก

ในขณะนี้ตำรวจก็ยังตามไม่พบตัวพระพรหมเมธีด้วยเช่นกัน

วัดสระเกศฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, วัดสระเกศฯ

กวาดล้างเพื่อเร่งการปฏิรูปศาสนา?

ผศ.ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การจับกุมพระระดับสูง ซึ่งเป็นกรรมการใน มส. ในวันนี้ อาจเกี่ยวพันเป็นกระแสอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งเป็นความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่จะ "กวาดล้าง" วงการพระสงฆ์ เพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปพระพุทธศาสนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

การปฏิรูปพุทธศาสนานั้นเป็นวาระสำคัญของกลุ่มคนในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มานาน "ซึ่งกลุ่มนี้มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิก สปช. นพ. มโน เลาหวณิช เป็นแนวหน้า และก็มีนักวิชาการบางท่านเป็นมันสมองให้" ผศ.ดร. ชาญณรงค์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ก็เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ และร่าง พ.ร.บ. สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาจัดการเรื่องทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ รวมถึงปัญหาการขาดองค์กรทำหน้าที่ศึกษาตีความพระธรรมวินัยไม่ให้มีผู้นำไปบิดเบือน แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรมเพราะถูกคัดค้านอย่างหนัก

ผศ. ดร. ชาญณรงค์กล่าวว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวอาจจะเห็นว่า ถ้าใช้จุดอ่อนเรื่องการจัดการกับเงินงบประมาณของวัดต่าง ๆ ที่หละหลวม และมีการฉ้อโกงกันก็น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นด้วยได้มากกว่า ดังนั้นจึงอาจเป็นที่มาของมาตรการสอบสวน จับกุม ตรวจสอบบัญชีวัดหลายระลอก

เขายังได้กล่าวอีกว่าปัญหาเรื่อง "เงินทอนวัด" และการโอนเงินเข้าบัญชีเจ้าอาวาส ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อาจมองได้สองชั้นคือ มีการฉ้อโกงเงินจริง โดยผู้เกี่ยวข้องบางคน ซึ่งเป็นทั้งคนของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และความหละหลวมของระบบการใช้เงินของวัดเอง

"ส่วนทางพระสงฆ์เองนั้น การบริหารเงินเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่ง เท่าที่ผ่านมาวัดไม่มีการจัดการบัญชีอย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าพระไม่เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณ เพื่อที่จะใช้เงินให้สะดวกเพื่อกิจการของวัดต่าง ๆ ก็โอนเงินงบประมาณหรือเงินบริจาคที่อยู่ในมูลนิธิมาไว้ในบัญชีเจ้าอาวาส โดยไม่ได้สนใจว่ามันผิดกฎหมาย หรือเป็นช่องโหว่ให้มีการฉ้อฉลกันต่อไปได้" นักวิชาการที่ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการพุทธศาสนาตลอดมากล่าว

นอกจากนี้เขายังได้กล่าวอีกว่ากลุ่มพระที่ถูกกล่าวหาก็มีความเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกาย อันมีสายสัมพันธ์กับวัดปากน้ำอย่างใกล้ชิด "ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิมภายใน มส. อาจมีความต้องการของฝ่ายปฏิรูปที่จะให้พระกลุ่มนี้ออกไป เพราะมีข้อครหาหลายประการ นอกจากเรื่องการจัดการเงินรายได้รายจ่ายของวัดแล้ว ยังเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองอีกด้วย"