ระเบิด กทม. : แม่ผู้ต้องสงสัยวอนเจ้าหน้าที่เปิดเผยที่คุมตัว เผยลูกเพิ่งเรียนจบ เตรียมรับปริญญา

เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานหนึ่งในจุดที่เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อ 2 ส.ค. 2562

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานหนึ่งในจุดที่เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อ 2 ส.ค. 2562
  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ครอบครัวของผู้ต้องสงสัย 2 คนที่ถูกควบคุมตัวหลังเหตุลอบวางวัตถุต้องสงสัยและเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-2 ส.ค. 2562 วอนเจ้าหน้าที่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว หวั่นถูกทำร้ายร่างกาย ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า "ไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว"

นายลูไอ แซแง อายุ 22 ปี ชาว ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และนายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี ชาว ต.สาวอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกจับกุมระหว่างเดินทางด้วยรถโดยสารที่ จ.ชุมพร กลางดึกวันที่ 1 ส.ค. ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยนำวัตถุคล้ายระเบิดซุกซ่อนไว้บริเวณป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ่อและแม่ของนายลูไอ พร้อมด้วยแม่และน้องสาวของนายวิลดัน รวมทั้งหมด 4 คน เดินทางโดยรถไฟจาก จ.นราธิวาส มาถึงกรุงเทพฯ ช่วงสายวันนี้ (4 ส.ค.) โดยหวังจะได้พบกับผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 2 คน

แม่ของนายลูไอและน้องสาวของนายวิลดัน ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่าครอบครัวต้องการรู้ว่าทั้ง 2 คน ควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและปลอดภัยดีหรือไม่ เนื่องจากทั้ง 2 คนถูกควบคุมตัวไปนานถึง 3 วันแล้วโดยที่ญาติไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่หรือรับรู้ชะตากรรมของทั้งคู่เลย

ลูไอ แซแง

แม่ของนายลูไอให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า เธอมีลูก 3 คน ลูไอเป็นลูกชายคนโต เขาเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนต้นตันหยง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จากนั้นเข้าเรียนต่อที่สถาบันอิสลามศึกษาชั้นสูง เซ็คดาวุด อัล-ฟาฏอนี จ.ยะลา และเพิ่งจบปริญญาตรี เตรียมเข้าพิธีรับปริญญาในเดือน พ.ย.นี้

"แกอยากเรียนต่อปริญญาโท แต่บ้านเราไม่มีเงิน แกก็เลยทำงานเก็บเงินเพื่อเรียนต่อด้วยการเป็นครูที่โรงเรียนตาดีกาใกล้บ้าน ได้ค่าสอนวันละ 200 กว่าบาท วันที่ 31 ก.ค. แกบอกว่าจะขึ้นไปหาเพื่อนที่กรุงเทพฯ แม่ก็สนับสนุนว่าน่าจะไปพักผ่อนบ้างเพราะเห็นว่าเครียดจากการทำวิจัยก่อนเรียนจบ" แม่ของลูไอ วัย 40 ปี ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ

เธอบอกว่าได้รับแจ้งจากกำนันว่าลูกชายถูกจับเมื่อวันที่ 1 ส.ค. หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เลย เธอเป็นห่วงลูกมากแต่ไม่มีเงิน ญาติจึงรวบรวมเงินซื้อตั๋วรถไฟให้ขึ้นมากรุงเทพฯ

เธอมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนสามีไม่ได้ทำงานเพราะได้รับบาดเจ็บจากการรับจ้างทำงานในสวนมังคุดเมื่อไม่นานมานี้ ลูไอมักเอาเงินค่าสอนที่ได้มาให้แม่ส่งน้อง ๆ ไปโรงเรียน

"ลูไอไม่เคยมีประวัติในคดีความมั่นคง ไม่ยุ่งเรื่องยาเสพติด ทุกคนในหมู่บ้านรู้ดี ทหารก็มาคุยกับแกอยู่บ่อย ๆ ไม่เคยมีปัญหาอะไร" เธอกล่าว

แม่ของลูไอเชื่อว่าชายต้องสงสัยในกล้องวงจรปิดที่มีการเผยแพร่ในสื่อไม่ใช่ลูกชายของเธอ

"แกเป็นคนผอมมาก ไม่เหมือนคนในภาพที่ท้วม ๆ และเป็นคนค่อนข้างเฉื่อย ทำอะไรช้า ไม่ได้คล่องแคล่วเหมือนคนที่อยู่ในคลิป"

เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้คือรู้ว่าลูกชายถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและปลอดภัยดีหรือไม่

"ผิดหรือไม่ผิดก็ว่าไปตามกระบวนการ แต่ตอนนี้แม่ขอวอน ขอรู้ว่าตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน นี่ก็เข้าวันที่ 3 แล้ว ทำไมต้องปิดเป็นความลับ นักเรียนของแก (ที่โรงเรียนตาดีกา) ก็กำลังรอครูกลับมา ถ้าเจ้าหน้าที่ยังไม่สะดวกให้แม่เข้าเยี่ยม ขอให้ได้ยินเสียงสักคำสองคำก็ยังดี หรือให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาบอกว่าตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน ขอให้ได้รู้ว่าเขาปลอดภัย ไม่ได้ถูกทำร้าย"

หน่วยอีโอดีตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, หน่วยอีโอดีตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562

วิลดัน มาหะ

อาซีเยาะ น้องสาวของนายวิลดัน มาหะ เล่าถึงพี่ชายซึ่งเป็น 1 ในผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับว่า เธอเจอวิลดันครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่เขาขอให้เธอไปส่งที่สถานีรถไฟรือเสาะเพื่อขึ้นรถไฟมาหาเพื่อนที่กรุงเทพฯ

อาซีเยาะ วัย 26 ปี ไม่เชื่อว่าพี่ชายของเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเขาไม่รู้จักถนนหนทางหรือสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพราะเขาไม่ได้มากรุงเทพฯ บ่อยนัก

"ตอนอยู่ที่บ้านเขาก็ไม่ค่อยได้ออกไปไหน" อาซีเยาะกล่าว เธอบอกว่าครอบครัวของเธอไม่รู้จักครอบครัวของลูไอมาก่อน บ้านก็อยู่คนละตำบล เพิ่งจะมารู้จักกันหลังจากที่รู้ว่าทั้ง 2 คนถูกจับ

วิลดันเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ จ.ยะลา ขณะนี้เขาช่วยกิจการหล่อเสาปูนของพี่ชายและพี่สะใภ้อยู่ที่บ้านใน ต.สาวอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

พ่อของวิลดันเสียนานแล้วส่วนแม่ อายุ 53 ปี มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง

"ตอนนี้หนูกับแม่อยากพบพี่ชาย อยากรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน" เธอบอกกับบีบีซีไทยด้วยเสียงสั่นเครือ

ตร.ระบุ "ไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว"

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า เขาไม่ทราบเรื่องสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คน

"ผมทราบเพียงทั้ง 2 คน ถูกควบคุมตัวไว้ แต่ไม่ทราบเรื่องสถานที่ควบคุมตัว ตอนนี้อยู่ในระหว่างการซักถามและสอบสวนเพิ่ม และยังไม่ได้ให้การอะไรที่สามารถเปิดเผยได้" พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวกับบีบีซีไทย

รองโฆษก ตร.ย้ำด้วยว่า ข้อมูลที่สื่อบางสำนักรายงานว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คน รับสารภาพแล้วโดยบอกว่าก่อเหตุเพราะไม่พอใจกรณีที่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาพใต้นั้น ไม่เป็นความจริง

องค์กรสิทธิฯ เตือนนานาชาติจับตา

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า คดีนี้กำลังเป็นที่จับตาจากนานาชาติ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากหลายประเทศมาประชุมที่กรุงเทพฯ ดังนั้นการสอบสวนจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด และเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นให้โปร่งใสที่สุด และสิ่งที่ทำได้เลยก็คือการอนุญาตให้พ่อแม่ของผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวซึ่งเดินทางมาจาก จ.นราธิวาส ได้พบกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว เปิดเผยขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนที่ตรงตามหลักสากล เช่น ถูกตั้งข้อหาหรือยัง มีทนายหรือยัง"

กระจกอาคารคิง เพาเวอร์ ร้าวจากแรงระเบิด

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

คำบรรยายภาพ, เหตุระเบิดป่วนกรุงเกิดขึ้นขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 1-3 ส.ค.

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีความพยายามในการจับกุมบุคคลเพิ่มขึ้นอีก ทำให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งคนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาเรียนหรือทำงานในกรุงเทพฯ มีความกังวลและหวาดกลัวอย่างมากว่าจะมีการใช้อำนาจพิเศษเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยและควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับญาติเหมือนในหลายกรณีที่ผ่านมา

"การตัดสินใจตรวจค้นมัสยิด ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือย่านชุมชนในกรุงเทพฯ ที่คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอยู่รวมกัน ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและรอบคอบ ต้องมีหมายค้น หมายจับ ออกมาจากหน่วยงานที่เป็นกลาง ไม่ใช่ใช้อำนาจพิเศษที่ทำให้เกิดการเหมารวมและเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่ม" น.ส.พรเพ็ญกล่าว