งบ 2563 : 90 ส.ส. รัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 เป็น “โมฆะ” หรือไม่ จากเหตุ “ฉลองเสียบบัตรค้าง”

ส.ส. ภูมิใจไทย ในระหว่างประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 และ 3 เมื่อ 8-11 ม.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ส.ส. ภูมิใจไทย ในระหว่างประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 และ 3 เมื่อ 8-11 ม.ค.
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดรัฐบาล 90 คน ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็น "โมฆะ" หรือไม่ เนื่องจากมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณาวาระ 2 และ 3

การเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินปีนี้ วงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าช้ามากว่า 4 เดือนแล้ว มีแนวโน้มต้องยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน เพราะล่าสุดวันนี้ (22 ม.ค.) ส.ส.รัฐบาล 90 คน นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เข้าชื่อกันยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

  • กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่
  • หากมีปัญหา จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และกรณีนี้จะถือว่าสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภาพ.ศ. 2562 ข้อ 139 ที่เปิดทางให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสองสภา หรือ 75 จาก 750 คน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 3 วันหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ โชว์เอกสารที่ ส.ส. รัฐบาลร่วมกันลงชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563

ที่มาของภาพ, STR/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายวิรัช รัตนเศรษฐ โชว์เอกสารที่ ส.ส. รัฐบาลร่วมกันลงชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563

วันเดียวกัน ส.ส. ฝ่ายค้าน 84 คนก็ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นต่อประธานสภาให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 เช่นเดียวกัน แต่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148(1) ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ชี้ว่าความแตกต่างคือ คำร้องของรัฐบาลมุ่งขอให้ศาลตีความประเด็น ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน ขณะที่ฝ่ายค้านมุ่งให้ตีความว่าร่างกฎหมายทั้งฉบับตราขึ้นโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ซึ่งมีเนื้อหา 55 มาตรา ได้ผ่านความเห็นชอบของทั้ง 2 สภาแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเมื่อ 11 ม.ค. หลังเปิดอภิปรายในวาระ 2 และ 3 กันยาวนาน 4 วัน 3 คืน และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาและเห็นชอบเมื่อ 21 ม.ค. หลังใช้เวลาอภิปรายพอหอมปากหอมคอ 2 วัน

ในระหว่างยังไม่ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้จะเป็น "โมฆะ" หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะชะลอการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

บีบีซีไทยสรุปสภาพปัญหางบประมาณแผ่นดินเอาไว้ ดังนี้

ใครคือผู้เปิดประเด็นงบ 2563 ส่อ "โมฆะ"

ผู้ขุด-คุ้ย-แคะข้อมูลจนเจอปัญหางบประมาณแผ่นดินส่อ "โมฆะ" มิใช่คนในขั้วตรงข้ามรัฐบาล หากแต่เป็นนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ออกมาเปิดประเด็นเมื่อ 20 ม.ค. ว่า นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้บุคคลอื่นเสียบบัตรแสดงตนและกดลงคะแนนแทน ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 ตั้งแต่มาตรา 31 จนถึงการลงมติวาระ 3 หรือตั้งแต่เวลา 20.55 น. ของวันที่ 10 ม.ค. ถึงเวลา 17.32 น. ของวันที่ 11 ม.ค. เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าว นายฉลองไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภา แต่กลับมีชื่อเป็น "องค์ประชุม" และ "ร่วมลงมติ"

การลงมติระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เนื่องจากมี กมธ. สงวนความเห็น และ ส.ส. สงวนคำแปรญัตติ นับร้อยคน จึงต้องลงมติกันแทบทุกมาตรา

ที่มาของภาพ, Thai news Pix

คำบรรยายภาพ, การลงมติระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เนื่องจากมี กมธ. สงวนความเห็น และ ส.ส. สงวนคำแปรญัตติ นับร้อยคน จึงต้องลงมติกันแทบทุกมาตรา

นายนิพิฏฐ์อ้างว่า เวลา 20.50 น. นายฉลองไปเดินอยู่ที่สนามบินหาดใหญ่ ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะไปปรากฏตัวเป็นประธานงานวันเด็กแห่งชาติที่จัดโดยเทศบาลตำบลอ่างทอง อ.ศรีนครินทร์ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยมีภาพถ่ายในเฟซบุ๊กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันมัดตัว

ในฐานะนักฎหมาย นายนิพิฎฐ์ได้หยิบยกกรณี "ฉลอง ณ ภูมิใจไทย" ไปเทียบเคียงกับ "มือเสียบพรรคเพื่อไทย" อันหมายถึงนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย (พท.) เสียบบัตรและลงคะแนนแทนเพื่อน ส.ส. ในระหว่างการประชุมสภาเมื่อ 20 ก.ย. 2556 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่รู้จักในนาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นี่กลายเป็นเหตุผลที่นายนิพิฏฐ์ตั้งข้อสังเกตว่ากรณี "ฉลองเสียบบัตรค้าง" อาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ต้องเป็น "โมฆะ" หรือไม่

5 กระทรวงเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

คำสารภาพของฉลอง "เสียบบัตรทิ้งไว้" จริง

นายฉลองเป็นอดีตปลัดจังหวัดพัทลุงที่ลาออกจากราชการ ก่อนสวมเสื้อภูมิใจไทยลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรก 24 มี.ค. 2562 ก็สามารถโค่นผู้แทนราษฎรฯ สังกัดพรรคสีฟ้าซึ่งยึดครองพื้นที่มายาวนานอย่างนายนิพิฏฐ์ลงได้

หลังถูกคู่แข่ง-คู่แค้นการเมืองออกมาแฉ นายฉลองรับสารภาพกับสื่อมวลชนว่าได้ออกจากรัฐสภาช่วงค่ำของวันที่ 10 ม.ค. จริง และ "ได้เสียบบัตรทิ้งไว้ แต่ไม่ได้มอบหมายให้ใครกดแทน"

เขาแจกแจงว่า ต้องรีบกลับบ้านเพื่อเตรียมการรับศพญาติภายหลังจากประสบอุบัติเหตุ 5 ศพ ที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

นี่คือคำชี้แจงรายละเอียดเพียงหนเดียวของ "ฉลองเสียบบัตรค้าง" เพราะหลังจากนั้นเมื่อถูกสื่อมวลชนซักถามเพิ่มเติม เขาก็ไม่ประสงค์จะชี้แจงอีกแล้ว

ปฏิกิริยาจากพรรคต้นสังกัด

พฤติกรรมของ ส.ส. 1 คน ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองกลับมายังพรรคต้นสังกัดอย่าง ภท. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ของรัฐบาลผสม 18 พรรค อย่างมิต้องสงสัย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้า ภท. ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการในการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของพรรค จำนวน 3 คน มีนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้อำนวยการพรรค เป็นประธาน เพื่อดำเนินการสอบสวนกรณีนายฉลองให้ผู้อื่นเสียบบัตรแทนจริงหรือไม่ พร้อมกำหนดบทลงโทษตั้งแต่ขั้นตักเตือนไปถึงขั้นให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท. (ซ้าย) นั่งประกบคู่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฎฐ์ หัวหน้า ปชป.

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคภูมิใจไทย

คำบรรยายภาพ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท. (ซ้าย) นั่งประกบคู่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฎฐ์ หัวหน้า ปชป.

"หากเขาทำผิดจริง ผมก็ไม่เลี้ยงไว้แน่นอน" และ "หากเจอตัวต้องตำหนิอย่างรุนแรง ต้องหวดกันบ้าง เพราะการประชุมสภาเป็นสิ่งสำคัญ" หัวหน้า ภท. แสดงท่าทีขึงขัง

แต่ถึงกระนั้น เขาก็เห็นว่าการลืมบัตรไว้ที่สภาถือเป็นเรื่องปกติ เรื่องลืมเป็นเรื่องธรรมดา ขนาดตัวนายอนุทินเองยังลืมปากกา ลืมแว่น ไม่ใช่สาระสำคัญ ที่สำคัญคือต้องไม่ให้ใครกดบัตรแทน เชื่อว่าเจ้าตัวไม่ได้สั่งให้ใครกดแทน เพราะทราบดีถึงโทษและระเบียบอยู่แล้ว

ส่วนการออกมาแฉของนายนิพิฏฐ์ จะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่าง ปชป. กับ ภท. หรือไม่นั้น นายอนุทินตอบว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ความจริงทุกคนควรมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ถ้าชนะต้องไม่ประมาท ถ้าแพ้ต้องปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ไม่ใช่ใช้อารมณ์ส่วนตัวมาหาวิธีแก้มือกัน

กรรมาธิการงบประมาณฝ่ายค้าน ทักทายประธานกรรมาธิการงบประมาณ

ที่มาของภาพ, Thai news Pix

คำบรรยายภาพ, กรรมาธิการงบประมาณฝ่ายค้าน ทักทายประธานกรรมาธิการงบประมาณ นำโดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียน ภท. ได้ออกมาเปิดเผย 7 ข้อเท็จจริง หลังพูดคุยกับนายฉลอง

  • ยอมรับว่าไม่ได้ลงมติ
  • ยอมรับว่าลืมบัตรไว้ในที่ประชุม
  • ไม่ทราบว่ามีการกดบัตรลงคะแนนหรือไม่
  • มีเพื่อน ส.ส. นำบัตรมามอบคืนให้ในอีก 2-3 วันต่อมา
  • ยอมรับผิดที่ลืมบัตร และขอโทษประชาชนชาวพัทลุง ขอโทษพรรค ขอโทษสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเหตุให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และไม่ได้ใช้หรือไหว้วานให้ใครกดบัตรลงคะแนนให้
  • พร้อมชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนของพรรคและสภาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่ส.ส.
  • เป็นบทเรียนของ ส.ส. ใหม่ที่จะจดจำและนำไปเตือนใจทุกครั้งในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวพัทลุง โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภาต่อไป

แนวทางสะสางปัญหาของฝ่ายนิติบัญญัติ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภา มอบให้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

"มีการเสียบบัตรแทนกันจริง และไม่พบว่ามีการเสียบบัตรค้างไว้ข้ามคืน" นายชวนกล่าวหลังได้รับรายงาน

สภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ประธานสภายังออกมาชี้ช่องเรื่องการให้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 เข้าชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน

"ผมคงไปยุให้สมาชิกทำไม่ได้... แต่กฎหมายที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ควรมีปัญหา และต้องไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัย กระบวนการอาจจะเสียเวลาไปบ้างแต่ก็ดีกว่ามาเคลือบแคลงกันทีหลัง" นายชวนระบุ

ประธานสภาสังกัด ปชป. ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาพลักษณ์สภาเสียหายหรือไม่ โดยบอกว่า "อย่าไปห่วงภาพลักษณ์ ให้ห่วงความชอบธรรม ความถูกต้องดีกว่า เมื่อสภาเป็นสถาบันหลักต้องสร้างมาตรฐาน ไม่ใช่ไปปกปิดความจริงกัน ต้องให้โอกาสความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย"

วานนี้ (21 ม.ค.) เลขาธิการสภาได้เรียกประชุมทีมกฎหมาย และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาตรวจสอบและให้ข้อมูล ก่อนพบว่า "ข้อกล่าวหาของนายนิพิฏฐ์เป็นความจริง ทำให้ผลการลงมติตั้งแต่มาตรา 31-55 ตลอดจนข้อสังเกตของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำแถลงข่าวของนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภา เมื่อ 21 ม.ค. 2563

ข้อสังเกตของทีมกฎหมายของสภาเห็นว่า กรณี "ฉลองเสียบบัตรค้าง" จะไม่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ต้องตกไป เพราะเป็นเพียงเสียงเดียว แต่พร้อมเคารพการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ

เรื่องจริงที่ไม่อยากพูดของประยุทธ์ หลังรัฐบาลต้องใช้ พ.ร.บ.งบฯ ช้าไป 6 เดือน

ขณะที่แกนนำรัฐบาลออกอาการ "หนาว ๆ ร้อน ๆ" ไปตาม ๆ กัน ทั้ง "มือกฎหมาย-มือเศรษฐกิจ" เพราะเกรงว่าพิษ ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน จะกระทบต่อกฎหมายงบประมาณแผ่นดินที่ออกล่าช้าอยู่แล้ว ให้ต้องล่าช้ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่องบลงทุนเบิกจ่ายออกไปไม่ได้

ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์หอบหิ้ว ครม. ไปประชุมสัญจรถึง จ.นราธิวาส 20-21 ม.ค. จึงมีการปิดห้องคุยวงเล็ก ระหว่างนายกฯ, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ครม. สัญจรนราธิวาส

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, ครม. สัญจรนราธิวาส

ว่ากันว่า นายวิษณุได้ประเมินให้ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลฟังว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ซึ่งต้องล่าช้าไปอีก 1-2 เดือน โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ราวเดือน เม.ย.-พ.ค. แต่ไม่ถึงขั้นที่กฎหมายจะกลายเป็น "โมฆะ"

นายวิษณุเจ้าของฉายา "ศรีธนญชัยรอดช่อง" บอกใบ้กับสื่อมวลชนต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับงบ 3.2 ล้านล้านบาทเพียงว่า "ไม่เกิดผลกระทบเสียหาย แค่ล่าช้า"

ผลที่จะตามมาจากกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันตามความเห็นของรองนายกฯ คือ 1. ร่างตกทั้งฉบับ 2. เสียไปเฉพาะมตินั้น และ 3. เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่จับได้ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน ตรงนี้ก็สุดแท้แต่ หรืออาจจะมีข้อ 4, 5, 6 ซึ่งไม่ทราบ ไม่ควรพูดชี้นำ

"ผลกระทบที่มีแน่ ๆ คือยืดเยื้อและใช้เวลา ตามที่เคยคาดว่างบประมาณจะออกได้ต้น หรือกลางเดือน ก.พ. ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ความล่าช้านี้ทำให้เสียหายบ้าง แต่ไม่ถึงรุนแรงอะไร" นายวิษณุกล่าว

โดยปกติ การใช้จ่ายงบประมาณแต่ละปีจะเริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ทว่าการจัดงบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำได้ล่าช้า เนื่องจากต้องรอให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งมาดำเนินการ ซึ่งเดิมสำนักงบประมาณคาดการณ์ว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ได้ช่วงต้นเดือน ก.พ. ซึ่งก็ถือว่าล่าช้าไป 4 เดือนแล้ว แต่ปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากปม ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน ทำให้การประกาศใช้งบประมาณต้องล่าช้าไปถึง 6 เดือน

นายกฯ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกอาการ "ไม่สบอารมณ์อย่างหนัก" หลังถูกสื่อตั้งคำถามเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ส่อเค้าเป็น "โมฆะ" จากปม ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน โดยบอกว่า เป็นเรื่องของการเมือง อย่าเอาปัญหานี้มาถามนายกฯ เพราะเป็นรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร เรื่องของสภาเป็นเรื่องของคนอื่น

ผู้สื่อข่าวซักต่อว่า แต่นายกฯ เกี่ยวข้องในฐานะผู้ใช้งบ พล.อ.ประยุทธ์ตอบด้วยน้ำเสียงดุดันว่า "ก็เขาไม่ออกงบฯ มาให้ แล้วเป็นความผิดของใครล่ะ เป็นความผิดที่ผมเหรอ ความผิดของใครไปตรวจสอบมาสิจ๊ะ ขั้นตอนมันติดตรงไหน ไม่ใช่มาถามผม เพราะผมเป็นคนรอรับงบฯ มาใช้"

ถูกฉะ-แฉ "ก๊อก 2" ปม "นาทีทัวร์จีน" และ ส.ส.ภท. และ พปชร. เสียบบัตรเกิน 1 ใบ

นอกจากปม "ฉลองเสียบบัตรค้าง" ยังมีอีก 2 ประเด็นร้อนที่ยังรอการตรวจสอบ

กรณีแรก นายนิพิฏฐ์คนเดิมออกมาแฉเพิ่มเติมว่ามีหลักฐานว่านางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. เดินทางไปทัวร์จีนวันโหวตงบประมาณ โดยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เวลา 15.28 น. ของวันที่ 11 ม.ค. ทว่าในเวลา 15.46 น. กลับมีชื่อของนางนาทีร่วมลงมติในมาตรา 49 และถ้าย้อนเวลาเดินทางอย่างน้อย 1 ชั่วโมง พบว่า มีการลงมติในมาตรา 45-49 จึงเรียกร้องให้ ภท. "เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาร่างกาย" ให้ ส.ส.ภท. ออกมายอมรับว่าไม่ได้ร่วมโหวตมาตราใด เพื่อไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทั้งฉบับต้องตกไป ซึ่งเรื่องนี้หัวหน้า ภท. ยังขอเวลาตรวจสอบ

กรณีที่สอง ช่างภาพสถานีทิวีดิจิทัลช่อง 35 หรือที่รู้จักในนามช่อง 7 HD เผยแพร่คลิปวิดีโอระหว่างการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วันที่ 8 ม.ค. ซึ่งปรากฏภาพ ส.ส.ภท. รายหนึ่งถือบัตรลงคะแนนในมือมากกว่า 1 ใบ ก่อนเสียบบัตรลงคะแนนเข้าไปในเครื่องลงคะแนนมากกว่า 1 ครั้ง อีกภาพเกิดขึ้นวันที่ 10 ม.ค. เห็น ส.ส.หญิงสังกัด พปชร. และ ส.ส.ชายสังกัด ภท. วางบัตรลงคะแนนบนโต๊ะ 2 ใบ ก่อนจะหยิบบัตรลงคะแนนเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนน เกี่ยวกับกรณีนี้ ประธานวิปรัฐบาลบอกว่ายังไม่ทราบว่าเป็นการลงมติเรื่องอะไร