มาลาลา ยูซาฟไซ กลับปากีสถานครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกยิง

นางสาวมาลาลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิการเรียนของเด็กผู้หญิง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, น.ส. มาลาลา ยูซาฟไซ นักต่อสู้เพื่อสิทธิการเรียนของเด็กผู้หญิง ถูกลอบทำร้ายขณะเดินทางไปโรงเรียนตอนอายุ 15 ปี ตอนนี้เธอกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

นางสาวมาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน อายุ 20 ปี เดินทางกลับปากีสถานเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกมือปืนของกลุ่มตาลีบันยิงที่ศีรษะเมื่อปี 2012 เนื่องจากเธอรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กหญิง

คาดว่านางสาวยูซาฟไซ จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีชาฮิด คาห์กัน อับบาซี แต่ทางการปากีสถานระบุกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า รายละเอียดในการเดินทางของเธอจะถูกเก็บเป็นความลับเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว

โทรทัศน์ท้องถิ่นของปากีสถานเผยแพร่ภาพวิดีโอ ในขณะที่พ่อและแม่ของนางสาวยูซาฟไซ อยู่ที่สนามบินนานาชาติเบนาซีร์ บุตโต ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา โดยรายงานระบุว่าเธอเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนมาลาลา และคาดว่าจะอยู่ที่ปากีสถานสี่วัน

รถยนต์ที่เชื่อว่านางสาวมาลาลา

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, รถยนต์ที่เชื่อว่านางสาวมาลาลา ใช้ในการเดินทาง ถูกถ่ายภาพได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงอิสลามาบัดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (คันซ้ายของภาพ)

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเธอจะเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดของครอบครัวที่หุบเขาสวัต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานหรือไม่

สาเหตุที่นางสาวยูซาฟไซ ถูกทำร้าย

มาลาลา ยูซาฟไซ เริ่มเขียนบันทึกโดยไม่ระบุชื่อ เล่าเรื่องราวชีวิตภายใต้การปกครองของตาลีบันให้กับบีบีซีภาคภาษาอูดูร์ ในขณะที่อายุเพียง 11 ปี เธอกลายเป็นผู้ที่รณรงค์อย่างเปิดเผยเพื่อให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาท่ามกลางการข่มขู่จากกลุ่มกบฏในปากีสถาน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เธอถูกทำร้ายบนรถโรงเรียนในขณะที่อายุ 15 ปี

เรื่องราวของนางสาวยูซาฟไซ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งทางกลุ่มตาลีบันอ้างว่า ยิงเธอเพราะ "ค่านิยมตะวันตก" และ "การส่งเสริมวัฒนธรรมตะวันตกในเขตของชนเผ่าปัชตุน"

เธอถูกส่งตัวไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อพักฟื้น หลังจากผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บครั้งแรกเมื่อปี 2012

ที่มาของภาพ, UNIVERSITY HOSPITALS BIRMINGHAM

คำบรรยายภาพ, เธอถูกส่งตัวไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อพักฟื้น หลังจากผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บครั้งแรกเมื่อปี 2012

นางสาวยูซาฟไซ ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และแพทย์ต้องผ่าตัดกระโหลกศีรษะบางส่วนออกเพื่อลดอาการบวมที่สมอง โดยหลังจากที่ได้รับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลทหารที่ปากีสถาน เธอถูกส่งตัวไปพักฟื้นต่อที่เมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งต่อมาเธอได้อาศัยอยู่ที่นั่นพร้อมกับครอบครัว

ชีวิตหลังถูกปองร้าย

นับตั้งแต่ได้รับการรักษาจนหายดี นางสาวยูซาฟไซ ยังคงรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กและสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ เธอก่อตั้งกองทุนมาลาลา กับนายซีอุดดิน ผู้เป็นพ่อ โดยมีเป้าหมาย "เพื่อให้เด็กหญิงทุกคนในโลกได้รับการศึกษาและเป็นผู้นำโดยปราศจากความหวาดกลัว"

ในปี 2014 เธอกลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุด และชาวปากีสถานคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับนายไกลาศ สัตยาธี ในฐานะนักรณรงค์เพื่อสิทธิเด็ก

นางสาวยูซาฟไซ ยังคงรณรงค์เรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับเรียนหนังสือ และเมื่อปีที่ผ่านมาเธอได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

ปากีสถานยังเป็นพื้นที่อันตรายหรือไม่

แม้จะมีความพยายามรักษาความมั่นคงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มตาลีบันในปากีสถานก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ โดยถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีสถานศึกษาหลายแห่ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

นางสาวยูซาฟไซ เคยกล่าวหลายครั้งว่าอยากเดินทางกลับปากีสถาน และเคยให้สัมภาษณ์ในเดือนนี้ว่า หุบเขาสวัตซึ่งเป็นบ้านเกิดคือ "สวรรค์บนดิน"

"ฉันได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประเทศของฉัน" เธอกล่าวกับเดวิด เลทเทอร์แมน ในรายการพิเศษทางช่องเน็ตฟลิกซ์ "มีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง ประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ฉันกำลังทำงานที่นั่นอยู่แล้ว แต่อยากให้เท้าได้สัมผัสแผ่นดินนั้นด้วย"

อย่างไรก็ตาม ปากีสถานยังคงยึดถือแนวทางอนุรักษ์นิยมตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด และเมื่อปลายปีที่ผ่านมานางสาวยูซาฟไซ ถูกวิจารณ์จนเป็นกระแสในอินเทอร์เน็ต จากรูปที่เธอสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตกเป็นกางเกงยีนส์และรองเท้าบู๊ทส้นสูงขณะเดินอยู่ที่เมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด