10 ปี วิกฤตการเงินโลก : ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ 4 ประเทศ และ 1 ภูมิภาค

คำบรรยายวิดีโอ, ถอดบทเรียน 10 ปี วิกฤตการเงินโลก
  • Author, โดยพาโบล อูเชา
  • Role, บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส

การล่มสลายของสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อสิบปีก่อน เป็นความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติการเงินที่เรียก ความสนใจที่สุดกรณีหนึ่ง และเป็นคลื่นกระแทกที่ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

การล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วานิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วานิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

กรณีการล้มละลายครั้งใหญ่ของภาคการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐฯ นี้ เปิดโปงให้เห็นความจริงที่ว่าความเฟื่องฟูของตลาดการเงินสหรัฐฯ ในยุคนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพิงสินเชื่อเคหะด้อยคุณภาพ หรือที่รู้จักกันในนามซับไพร์ม มอร์เกจ และตราสารอนุพันธ์ มากน้อยเพียงใด

สำหรับโลกแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นมนต์คาถาที่ร่ายออกมาเพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ องค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ระบุว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ประสบภาวะชะลอตัวในปี 2009 โดยเติบโตราว 2.8% ต่อปี หลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมานานถึง 6 ปี ส่วนบรรดา ชาติอุตสาหกรรมต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอัตราสูงถึง -3.4%

รัฐบาลในยุโรปและสหรัฐฯ ต่างเร่งหาวิธีช่วยดึงสถาบันการเงินให้พ้นจากสภาพร่อแร่ แน่นอนว่าผู้ได้รับผลสะเทือนคือประชาชนผู้เสียภาษี ขณะที่ที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ประเทศ หรือจี 20 ในขณะนั้น กำหนดนโยบายร่วมกัน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง

นับจากนั้นจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว ผลที่ได้เป็นอย่างไร ? บีบีซีพาไปดูกรณีศึกษาของ 5 ประเทศ และภูมิภาคสำคัญ

สหรัฐอเมริกา

หลายปีหลังจากวิกฤตครั้งนั้น ชาวอเมริกันหลายล้านคนต้องยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ยึดบ้านของพวกเขา

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, หลายปีหลังจากวิกฤตครั้งนั้น ชาวอเมริกันหลายล้านคนต้องยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ยึดบ้านของพวกเขา

"สภาพเศรษฐกิจของเราขณะนี้ต้องการการแก้ไขอย่างกล้าหาญและฉับไว" นายบารัค โอบามา กล่าวในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009

เลห์แมน บราเธอร์ส ไม่ใช่สถาบันการเงินแห่งเดียวที่ประสบภาวะยากลำบากในขณะนั้น เพราะ ความกังวลเรื่องหนี้เสียของสถาบันการเงินหลายแห่ง ในสหรัฐฯทำให้มูลค่าของบริษัทลดลงไปอย่างมาก

รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าครอบครองกิจการของแฟนนี เม และเฟรดดี แมก สองสถาบันแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์ กับเข้าอุ้มกิจการ เอไอจี (AIG) บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้เงินสูงถึง 1.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยธนาคารที่ประสบปัญหา นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังในขณะนั้น ถึงขั้นมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า 'Mr Bailout' หรือ 'คุณอุ้ม'

ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดก็เริ่มเข้าซื้อตราสารเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมเป็นเงินถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเวลาหกปี

วิกฤตเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ที่มาของภาพ, PA

คำบรรยายภาพ, วิกฤตเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ภายในเวลาไม่กี่วันหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีโอบามา ลงนามบังคับใช้กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดวงเงินกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการลงทุนในภาคสาธารณูปโภค การศึกษา สุขภาพ และพลังงานหมุนเวียน มูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เขายอมรับว่าการเข้าอุ้มบรรดาธนาคารทั้งหลายอาจทำให้คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ แต่นายโอบามาบอกในขณะนั้นว่า "เขาตั้งใจจะให้ธนาคารต้องรับผิดชอบ กับเงินช่วยเหลือที่ได้รับ และคราวนี้บรรดาซีอีโอทั้งหลายจะไม่สามารถเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายเงินเดือนตัวเอง ซื้อม่านประดับสวยหรู หรือล่องหนไปกับเครื่องบินเจ็ตได้อีกต่อไป เพราะคืนวันเหล่านั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว"

ข้อมูลที่บริษัท Corelogic บริษัทติดตามข้อมูลรวบรวมไว้ พบว่าในช่วงเวลาสิบปี นับจนถึงปี 2017 บ้านพักอาศัยเกือบ 7.8 ล้านหลังถูกยึด ตำแหน่งงานหายไปกว่า 7.3 ล้านตำแหน่งในช่วงเดือนมกราคม 2008-กุมภาพันธ์ 2010 ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 10%

ประชาชนนับล้านต้องสูญเสียงานของพวกเขา และนั่นทำให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำแย่ลงไปด้วย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนนับล้านต้องตกงาน และนั่นทำให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก

ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟชี้ว่า นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้การจัดทำงบประมาณในปี 2009 เป็นงบประมาณขาดดุลที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ปรับลดลงเหลือ 2.5% ในปี 2015 ขณะที่อัตราว่างงานลดไปอยู่ในระดับเดียวกับ ช่วงก่อนเกิดวิกฤต

ในปี 2012 นายโอบามา กล่าวว่ารัฐบาลสามารถเรียก "ทุกบาททุกสตางค์" ที่นำไปใช้ช่วยเหลือธนาคารต่าง ๆ คืนมาได้ทั้งหมด

ด้านสำนักงานบังคับใช้กฎหมายพิเศษซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการกับบรรดาสถาบันการเงินทั้งหลาย เปิดเผยว่า มีผู้ถูกลงโทษจำคุก 251 คน จนถึงวันนี้ รวมถึงนายธนาคาร 59 คนด้วย แต่ไม่มีซีอีโอคนใดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกลงโทษเลย

สหภาพยุโรป

ไม่ต่างจากสหรัฐฯ ทางการของหลายประเทศในยุโรปพากันประกาศมาตรการฟื้นฟูในเดือนตุลาคม 2008 เฉพาะอังกฤษคิดเป็นมูลค่าเกือบ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร เป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วงปลายปีนั้น สหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศแผนฟื้นฟูพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.5% ของจีดีพีของทั้งอียู

หลายประเทศในยุโรปดำเนินโยบายตามสหรัฐฯ ในการให้เงินช่วยเหลือภาคการธนาคารเพื่อสร้างเสถียรภาพ

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, หลายประเทศในยุโรปดำเนินโยบายตามสหรัฐฯ ในการให้เงินช่วยเหลือภาคการธนาคารเพื่อสร้างเสถียรภาพ

ด้วยภาวะเศรษฐกิจขาลง ประกอบกับมาตรการกู้ชีพที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทำให้สถานภาพเศรษฐกิจของชาติที่ใช้เงินสกุลยูโรหลายประเทศ อาทิ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี สเปน และไซปรัส ซึ่งง่อนแง่นจากสภาพหนี้ที่มีอยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่หนักขึ้น

และเพื่อแลกกับวงเงินช่วยเหลือ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้น (ยกเว้นอิตาลี) จำเป็นต้องยอมรับดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดกันอย่างถ้วนทั่ว ซึ่งก่อให้เกิด ความตึงเครียดภายในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรีซ ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงจากการประท้วง ท่ามกลางตัวเลขคนว่างงานในวัยหนุ่มสาวที่สูงถึง 60%

ประชาชนในกรีซแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายเข้มงวดทางการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเงื่อนไขการช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟ

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ประชาชนในกรีซแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายเข้มงวดทางการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ

แม้จะเกือบหลุดพ้นจากสมาชิกภาพของอียู แต่กรีซก็ยังรักษาสภาพความมั่นคงทางการเมืองไว้ได้ และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรีซเป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรที่ยุติโครงการเงินกู้ช่วยเหลือฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟเตือนว่าภาคการธนาคารของยูโรโซนยังคงอ่อนแอ และคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อย ๆ โตอย่างเชื่องช้าในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า

จีน

สำหรับเศรษฐกิจของจีนซึ่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก อุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลกหมายถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจเกิดการชะลอตัว

ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 12% ของจีดีพีในปี 2008 เพื่อช่วยเหลือโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการบริโภคในภาคเอกชน

สินค้าส่งออกของจีนมีมูลค่าราว 2% ของจีดีพี ลดลงจาก 9% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, สินค้าส่งออกของจีนมีมูลค่าราว 2% ของจีดีพี ลดลงจาก 9% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ระหว่างปี 2007 ถึง 2014 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีของจีนลดลงจาก 14% เหลือเพียงราว 7% แต่จีนก็สามารถผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ยากลำบากมาได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณหนี้สินที่พุ่งสูงถึง 250% ของจีดีพี นักวิเคราะห์หลายคนและองค์การทางเศรษฐกิจหลายแห่งเตือนว่า สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก

ตามฐานข้อมูลของนิตยสารเดอะแบงก์เกอร์ ชี้ว่าปัจจุบันธนาคารจีนหลายแห่งมีขนาดใหญ่และมีกำไรมากกว่าคู่แข่งในชาติตะวันตก โดยเมื่อปี 2008 มีธนาคารจากจีนเพียงสองแห่งเท่านั้น ที่ติด 10 อันดับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ในปี 2018 ธนาคารจีนครองอันดับ 1-4 ไว้ได้ทั้งหมด

ไบรอัน แคปเลน บรรณาธิการของเดอะแบงก์เกอร์ กล่าวว่า ธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป มีบทบาทลดลงในโลกการเงิน หลังจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ธนาคารที่รอดพ้นจากวิกฤตด้วยเงินอุดหนุนจากภาษีของประชาชนได้ถูกร้องขอให้ขายกิจการ ในต่างประเทศเพื่อชำระคืนหนี้สิน

บราซิล

ลูอิส อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลในขณะนั้น ให้คำมั่นกับประชาชนของเขาเมื่อเดือน ต.ค. 2008 ว่าบราซิลจะไม่ได้รับผลกระทบ จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้น เขาเชื่อว่า 'คลื่นสึนามิ' ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ จะส่งผลต่อบราซิลเพียงเล็กน้อย ไม่มากไปกว่าแค่ 'คลื่นลูกเล็ก ๆ'

ด้วยวัฒนธรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสถาบันการเงินในบราซิล ทำให้สามารถหลบเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตเคหะสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ ได้ เมื่อผนวกกับมาตรการลดหย่อนภาษีและนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ทำให้ในปี 2010 เศรษฐกิจบราซิลเติบโตสูงถึง 7.5% ซึ่งถือว่าโตอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 24 ปี

นายดา ซิลวา ยังแสดงโวหารสะท้อนความคิดของเขาในเวทีประชุม จี 20 ที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือน มี.ค. 2009 โดยกล่าวโทษบรรดา "นายธนาคารผิวขาวตาสีฟ้า" ว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตครั้งนั้น

Dilma Rousseff and Lula da Silva in 2016

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, อดีตประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ (ซ้าย) และลูอิส อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล

แต่ในเวลาต่อมา ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนั้นส่งผลต่อบราซิลมากกว่าแค่ "คลื่นลูกเล็ก ๆ" เมื่ออุตสาหกรรมในประเทศเผชิญความยากลำบากในการ แข่งขัน อันเป็นผลมาจากระบบภาษีที่ซับซ้อน ปัญหาทางโครงสร้างพื้นฐาน และค่าเงินที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง

ในปี 2015 เศรษฐกิจบราซิลตกต่ำแตะระดับ -3.5% และรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเป็นสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพี

ขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากไปกับการจัดมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2014 และโอลิมปิก 2016

สถานการณ์ย่ำแย่ถึงขีดสุดในช่วงต้นปี 2016 เมื่อประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ถูกถอดถอนจากตำแหน่งฐานกระทำการละเมิดกฎหมายงบประมาณท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ในบราซิล

รัสเซีย

ประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างรัสเซีย ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อ ราคาน้ำมันลดฮวบจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เหลือเพียง 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2008 จากความกังวลในเรื่องความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงทั่วโลก

เศรษฐกิจของรัสเซียหดตัวลง ติดลบ 7.9% ในปี 2009 แต่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อราคาน้ำมันกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

รัฐบาลรัสเซียกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในภาคเอกชน หลังจากอุปสงค์ที่ลดลงในปี 2008 ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างมาก

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, รัฐบาลรัสเซียกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในภาคเอกชน หลังจากอุปสงค์ที่ลดลงในปี 2008 ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างมาก

น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ เป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซีย ซึ่งทำรายได้สูงถึงราว 40% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลกลาง ในช่วงปี 2011-2012 รัฐบาลรัสเซียใช้เงินเหล่านั้นไปเพื่อแก้ไขงบประมาณที่ขาดดุล รวมทั้งจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเงินบำนาญ

ต่อมาในปี 2015 เศรษฐกิจของรัสเซียหดตัวลง 2.5% จากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ หลังรัสเซียผนวกดินแดนไครเมียมาเป็นของตนในปี 2014 ทำให้รายได้สุทธิของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีให้หลัง

ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงและมาตรการลงโทษจากนานาชาติ เศรษฐกิจของรัสเซียกลับมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2016 จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของไอเอ็มเอฟระบุว่า "รัสเซียสามารถฟื้นคืนสภาพได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้"

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัสเซีย ได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง เนื่องจากรัสเซียมีแผนที่จะเพิ่มอัตราจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลาง นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอายุเฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้น และความยั่งยืนของระบบกองทุนเลี้ยงชีพ

ตามแนวโน้มในปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรกว่า 20% ของรัสเซีย จะมีอายุเกิน 65 ปี