อียู ยืนยันไม่ได้ปรับท่าทีอ่อนลงต่อไทย กรณีประยุทธ์ "เยือนสหภาพยุโรป"

ธงอียู

ที่มาของภาพ, Getty Images

สหภาพยุโรป (อียู) ยืนยันไม่ได้ปรับ "ท่าทีอ่อนลง" ต่อรัฐบาลทหารของไทย ยังคงเรียกร้องให้ไทยจัดการเลือกตั้ง และปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะเปิดการเจรจาด้านต่าง ๆ กับไทยอย่างเป็นทางการ และจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ตกลงวันที่แน่นอนสำหรับการเยือนสหภาพยุโรปของนายกรัฐมนตรีไทย

นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตและหัวหน้าสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวในระหว่างการพูดคุยที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยค่ำวันนี้ (30 พ.ค.) ว่า ไม่อยากให้ใช้คำว่าอียู 'เปลี่ยนท่าทีให้อ่อนลง' ต่อปัญหาประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรณีที่หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ว่า การเยือนสหภาพยุโรปเดือนหน้าของพล.อ. ประยุทธ์ อาจสะท้อนถึงการที่อียูสนใจประเด็นสำคัญดังกล่าวน้อยลง และหันไปให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจแทน

เขากล่าวว่า เพราะอียูจะยังไม่เจรจาเรื่องใด ๆ เช่น สนธิสัญญาการค้าเสรี ฯ อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทย "เราจะเจรจาเรื่องต่าง ๆ เมื่อไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น" นอกจากนี้ นายตาปิโอลายังระบุด้วยว่า การเยือนอียูครั้งใหม่ของผู้นำไทย ซึ่งทางไทยเป็นฝ่ายขอเลื่อนไปเป็นเดือนมิถุนายน ก็ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้าน นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เองก็กล่าวกับบีบีซีไทยเช่นกันว่า คณะทำงานของพล.อ. ประยุทธ์ "อยู่ระหว่างการหารือ" ว่า การเยือนจะเป็นช่วงใดในเดือนมิถุนายน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เดิม พล.อ. ประยุทธ์ มีกำหนดการเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ 22-25 พฤษภาคม โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าพบนายฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป และ นายชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีของเบลเยียม แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีของเบลเยียมไม่อยู่ในประเทศ และอยู่ในช่วงใกล้กับวาระครบรอบ 4 ปีของการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

"การเยือนของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการเยือนครั้งแรกของผู้นำไทย หลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์เมื่อ 11 ธันวาคม ปีที่แล้ว เหตุที่เลื่อนเนื่องจากตารางงานที่แน่นของท่านนายกฯ ในช่วงนี้ และใกล้กับวาระครบรอบ 4 ปีของ คสช. ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

ฌอง-โคลด ยุงเกอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ มีกำหนดหารือกับ นายฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย พบหารือกับ นางเฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้าด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของอียู และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ภายหลังการออกข้อมติฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย รวมทั้ง ติดตามประเด็นความร่วมมือในด้านการพัฒนาและด้านการประมง รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคร่วมกัน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศได้พบกับนางเฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนมีนาคม

ที่มาของภาพ, VIRGINIA MAYO/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศได้พบกับนางเฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนมีนาคม

รื้อฟื้นความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีต่างประเทศ อียู มีมติร่วมกันให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลทหารของไทย หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

แถลงการณ์ของอียู กล่าวว่า ไทยมีความคืบหน้าทางด้านการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คำมั่นเมื่อ 10 ตุลาคม 2560 ว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่อียูจะกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองในทุกระดับกับรัฐบาลไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยปูทางไปสู่การเจรจาที่สำคัญเรื่องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตลอดจนหนทางสู่ความเป็นประชาธิปไตย

โดนัลด์ ทัสค์

ที่มาของภาพ, Inpho

คำบรรยายภาพ,

โดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป ถือจดหมายขอออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ดี อียู ยังคงมีเงื่อนไขว่า ไทยต้องจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวกัน เพราะนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 สิทธิเหล่านี้ก็ถูกจำกัด และมีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ละเมิด

นักสิทธิมนุษยชนนานาชาติ: "สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น"

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลกประจำปี 2560/2561 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า รัฐบาลไทย และกัมพูชาต่างปราบปราม ผู้เห็นต่าง และเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.-เปิดทางชุมนุมอย่างสงบ-แก้ ม. 112

รายงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี พ.ศ. 2560 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาเดือนเมษายนชี้ว่า ประชาชนไทยยังถูกละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวาง ในยุครัฐบาลทหาร ตั้งแต่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงการคุกคามผู้ต้องหาคดีอาญา และการจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยปราศจากข้อหา รวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ถูกจำกัด ด้านโฆษกรัฐบาลไทยยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิ เพียงปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายสุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งคำถามถึงเจตนาของอียูในการต้อนรับพล.อ. ประยุทธ์ไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ ทั้งที่เคยประกาศหลายครั้งว่า เงื่อนไขในการฟื้นความสัมพันธ์กับไทยคือ การกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

"อียูควรต้องยืนยันว่า ประยุทธ์จะไม่ได้ 'เช็คเปล่า' ในการเยือนบรัสเซลส์ นี่เป็นบทพิสูจน์สำคัญต่อความจริงใจของอียูที่เคยประกาศว่า การฟื้นความสัมพันธ์กับไทยสู่ภาวะปกตินั้นจะขึ้นอยู่กับการที่ไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม" นายสุณัย กล่าวกับบีบีซีไทย

"อียูควรต้องพูดกับประยุทธ์อย่างชัดเจนตรงไปตรงมาให้ยกเลิกมาตรการที่ลิดรอนปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในทันที รวมถึงยุติการดำเนินคดีกับคนที่เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. รวมทั้งยังควรจะต้องแสดงท่าทีเหล่านี้ในแถลงการณ์ต่อสาธารณะด้วย"

ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ปีก่อน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์ให้ประชาชน "โหวตโน" เพื่อปฏิเสธนักการเมือง แต่ภายใต้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับใหม่ การรณรงค์เช่นนี้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ปีก่อน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์ให้ประชาชน "โหวตโน" เพื่อปฏิเสธนักการเมือง แต่ภายใต้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับใหม่ การรณรงค์เช่นนี้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม

เตรียมการเอฟทีเอ ไทย-อียู

กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อเดือนมีนาคม โดยอ้างคำแถลงของนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมความพร้อมรับมือรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป หรือเอฟทีเอ ไทย-อียู โดยจะเริ่มจากการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-อียู ช่วงกลางปี 2561 ในไทย

นางอรมน กล่าวเสริมว่า หลังการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หยุดชะงักลงในปี 2557 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและอียูลดลง แต่ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายกลับมาเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 มูลค่าการค้าไทย-อียู อยู่ที่ 44,302.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.42 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 0.4% โดยไทยส่งออกไปอียู คิดเป็นมูลค่า 23,700.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7.6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7.5% และนำเข้าจากอียู 20,602 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3.9% โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, แผงวงจรไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ไก่แปรรูป และมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องบิน, เครื่องร่อน, อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ จึงคาดว่า การเจรจาเอฟทีเอน่าจะช่วยส่งผลทำให้การค้ารวม และการส่งออกของไทยไปอียูเติบโตเพิ่มขึ้น

เครื่องคอมพิวเตอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญจากไทย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไปอียูน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2561 ซึ่งในการประเมินดังกล่าว ได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญ เช่น การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-อียู และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอียูและการออกจากอียูของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิท เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอียูที่มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และอิตาลี ในส่วนการลงทุน ในปี 2559 อียูมีการลงทุนในไทย 6,731 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.16 แสนล้านบาท) และในปี 2560 ณ เดือนกันยายน ประเทศสมาชิกอียูที่ขอยื่นโครงการเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ, ออสเตรีย และสวีเดน