อนาคตใหม่ : ธนาธรประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

ธนธ.

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อ ย้ำตัวเขายังมี "ศักดิ์และสิทธิ" ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องคดี "โยกหุ้น" ของเขาไว้พิจารณา และส่งสำเนาให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

คดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 16 พ.ค. ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายธนาธรสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างถึงความเห็น กกต. ในฐานะผู้ร้อง ไว้ดังนี้

  • กรณีให้รับคดีไว้พิจารณา : "ผู้ถูกร้อง (นายธนาธร) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ"
  • กรณีให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง : ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งจะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น พร้อมหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพฯ ในเวลาใกล้ชิดกัน แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้ง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุม ส.ส. ได้"
นางสมพร และนางรวิพรรณ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นางสมพร และนางรวิพรรณ (ด้านซ้ายและขวามือของนายธนาธร) พร้อมสมาชิกในครอบครัว "จึงรุ่งเรืองกิจ" ร่วมให้กำลังใจนายธนาธรในการประชุมใหญ่ อนค. เมื่อ 27 พ.ค. 2561

ก่อนหน้านี้ นายธนาธรได้ชี้แจงต่อสาธารณะว่า เขาได้โอนหุ้นของตัวเอง และนางรวิพรรณ ภรรยา จำนวน 9 แสนหุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เมื่อวันที่ 8 ม.ค. โดยมีหลักฐานเป็น "ตราสารโอนหุ้น" ทว่าการแจ้งโอนหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เกิดขึ้นในวันที่ 21 มี.ค. กกต. จึงเห็นว่านายธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเห็นว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน และยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด แม้นายธนาธรจะออกมาชี้แจงว่าปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2559 แล้วก็ตาม

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ"

ธนาธร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG

ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมก็จะอยู่กับประชาชน

ต่อมาเวลา 19.00 น. วันนี้ (23 พ.ค.) นายธนาธรเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรค โดยระบุว่า เขาและ อนค. ยังยืนยันที่จะรวบรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเพื่อต่อต้าน "ฝ่ายเผด็จการ" ต่อไป

"ธนาธรยังพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ธนาธรยังมีศักดิ์และสิทธิที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี" หัวหน้า อนค. ประกาศต่อหน้าสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนหลายสิบคน

"อยากให้เรายืนเงียบ ๆ แล้วเงี่ยหูฟัง พวกเราได้ยินเสียงของความคลั่งโกรธของผู้คนที่อยู่ข้างนอกไหม... คสช. ในวันนี้อยู่ในขาลง คสช. และระบอบเผด็จการที่มาพร้อมพวกเขา คืออาทิตย์ที่กำลังอัสดง"

นายธนาธรยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานของ กกต. รีบร้อนผิดปกติ และมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่

"คณะกรรมการสืบสวนข้อร้องเรียนกรณีที่ผมถือหุ้นสื่อยังคงดำรงสืบสวนอยู่จนถึงวันนี้ เหตุใด กกต. ชุดใหญ่ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ถึงพิจารณาและส่งข้อร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พ.ค. ทั้งที่ชุดเล็กยังแสวงหาข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสิ้น"

เขาระบุว่า "เวลานี้ไม่ใช่เวลาของความสิ้นหวัง แต่เป็นเวลาที่จะเปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบเผด็จการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความอยุติธรรม"

"ถึงแม้ว่าวันนี้ผมถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ผมยังเป็น ส.ส. ระหว่างรอการวินิจฉัยของศ่าล ผมจะยังคงทำงานกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมก็จะอยู่กับประชาชน ผมจะทำงานในฐานะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน 6 ล้าน 3 แสนเสียงทั่วประเทศ" นายธนาธรกล่าว

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, BBC Thai

นายธนาธร ผันตัวจากการเป็นนักธุรกิจเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อ 434 วันก่อน โดยร่วมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งพรรคการเมืองน้องใหม่เมื่อ 15 มี.ค. 2561 และใช้เวลาเพียง 1 ปี ในการนำนักการเมืองหน้าใหม่ทั้งหมดเข้าสภาได้ 80 คน ทำให้ อนค. กลายเป็น "พรรคอันดับ 3 " ที่ได้รับคะแนนมหาชน (ป๊อปปูลาร์โหวต) ถึง 6.25 ล้านเสียง

ขณะเดียวกัน นายธนาธรยังตกเป็นผู้ถูกต้องหาและผู้ถูกกล่าวหา 7 คดี แบ่งเป็นคดีอาญา 3 คดี และคดี/ข้อหาการเมืองอีก 5 คดี แต่ กกต. ยกคำร้องไป 1 คดี

ธนาธร

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

434 วันบนเส้นทางการเมืองของ ธนาธร

  • 15 มี.ค. 2561 ยื่นจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งในระหว่างแถลงเปิดตัวพรรค ธนาธร ประกาศว่าจะไม่ใช้เงินในกระเป๋า "จึงรุ่งเรืองกิจ" ทำการเมือง และจะเป็น "พรรคทางหลัก" พร้อมต่อสู้ในทุกสนามเลือกตั้ง
  • 27 พ.ค. 2561 ประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1 ที่ มธ. รังสิต ที่ประชุมมีมติเลือก ธนาธร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการพรรค พวกเขาประกาศว่า "ถ้าเรามีโอกาสเข้าสภา วันแรกเราจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทันที"
  • 24 ส.ค. 2561 พนักงานสอบสวนกอง บก.ปอท. ออกหมายเรียก ธนาธรกับพวกรวม 3 คน ให้ไปรับทราบข้อหากระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม. 14 (2), ป. อาญา ม. 83 จากกรณีจัดเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อ 29 มิ.ย. 2561 วิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ "ดูด ส.ส."
  • 28 ก.ย. 2561 กกต. รับรองการจดจัดตั้งพรรค อนค.
  • 1 ต.ค. 2561 อนค. แถลงเปิดพรรคและนโยบายภายใต้หลักการ "ไทย 2 เท่า"ที่อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ และยังเป็นครั้งแรกที่ ธนาธร ประกาศผ่านสื่อ "พร้อมเป็นนายกฯ"
  • 24 มี.ค. 2562 อนค. เข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรก ก่อนที่ กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหลังจากนั้น โดย อนค. ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 50 คน และ ส.ส. แบบแบ่งเขต 30 คน
  • 27 มี.ค. 2562 ธนาธร ประกาศสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ จาก พท. เป็นนายกฯ คนที่ 30 ในระหว่างร่วมแถลงตั้งรัฐบาลผสม 7 พรรค โดยอ้างว่ารวบรวมเสียงได้อย่างน้อย 255 เสียง (ต่อมาลดเหลือ 245 เสียง)
  • 6 เม.ย. 2562 พนักงานสอบสวน สน. ปทุมวัน ออกหมายเรียก ธนาธร ให้ไปรับทราบข้อหาคดียุงยงปลุกปั่นตาม ป. อาญา ม. 116 (2) (3), ให้ที่พักพิงผู้ต้องหาตาม ป. อาญา ม. 189, มั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป ป. อาญา ม. 215 กรณีการชุมนุมของนักศึกษา หน้าหอศิลป์ปี 2558
  • 23 เม.ย. 2562 กกต. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ธนาธร คดี "โยกหุ้น"
  • 30 เม.ย. 2562 ธนาธร เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดี "โยกหุ้น" ที่สำนักงาน กกต. โดยขู่ฟ้องกลับ ม. 157 "คนตัดสินคดีโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ" แต่จะรอให้ คสช. หมดอำนาจก่อน
  • 16 พ.ค. 2562 กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดี "โยกหุ้น" ของ ธนาธร ในเวลาไล่เลี่ยกัน หัวหน้า อนค. ได้แถลงว่าจะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลและเสนอตัวเป็นนายกฯ
  • 23 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดี "โยกหุ้น" ไว้พิจารณา และสั่ง ธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

รู้จักที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ระบุถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันว่า สนช. แต่งตั้ง 2 คน ในขณะที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต่ออายุให้อีก 5 คน จากทั้งหมด 9 คน

เรื่องดังกล่าวเป็นผลมาจาก คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24 /2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560