บันทึกงานรับปริญญา ม.ธรรมศาสตร์ ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุม

บัณฑิตถ่ายรูปข้างหอประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนรักษาความปลอดภัย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, บัณฑิตถ่ายรูปข้างหอประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนรักษาความปลอดภัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ ถูกจับตามากกว่าปีอื่น ๆ เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการระบาดของโรคโควิด-19

ตามหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2561 ที่หอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 30 ต.ค. และ 31 ต.ค. โดยในแต่ละวันแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกเวลา 16.00 น. และภาคหลังเวลา 19.00 น.

ข้อมูลของ มธ.ระบุว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2561 ในทุกระดับการศึกษาจำนวน 9,625 คน โดยวันที่ 30 ต.ค. พระราชทานปริญญาบัตรเป็นวันแรกให้กับบัณฑิต 2 รอบ รอบแรกจำนวน 1,932 คน รอบที่สอง 1,934 คน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแน่ชัดว่าบัณฑิตที่เข้าร่วมพิธีมีจำนวนเท่าไรกันแน่

การชุมนุมประท้วงที่นำโดยเยาวชน นิสิตนักศึกษาและการระบาดของโควิด-19 ทำให้งานรับปริญญาในปี 2563 เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า "ไม่ปกติ" นัก ทั้งด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรการควบคุมโรค

ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าของบัณฑิต มธ. ที่มีส่วนร่วมในงานรับปริญญาในสถานการณ์พิเศษปีนี้

บัณฑิตถือบัตรประชาชน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, มีจุดตรวจบัตรประชาชนหลายจุดในงานรับปริญญาที่ มธ. ปีนี้

ซ้อมรับปริญญา

พิธีพระราชทานปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2561 มีขึ้นเกือบ 2 ปีหลังจบการศึกษา วันซ้อมรับปริญญาจึงเป็นวันที่นักศึกษาจะได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง แต่กลับพบว่าหลายคนหายหน้าไป บางคณะที่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นหลักร้อย พบว่ามีผู้มาซ้อมเพียงหลักสิบเท่านั้น บรรยากาศวันซ้อมในหอประชุมจึงเรียกได้ว่า "เหงาหงอย"

เมื่อมีคนมาซ้อมรับปริญญาน้อย จึงมีระยะเวลาการซ้อมมากเกินพอ และแต่ละคนจึงได้ฝึกซ้อม ทั้งการทำความเคารพ การลุกจากเก้าอี้ ลำดับการเดิน วิธีการเอางาน จำนวนหลายรอบมากกว่าทุกปี ขนาดซ้อมคนละหลายรอบแล้ว การซ้อมวันแรกยังเสร็จสิ้นก่อนกำหนดการนับชั่วโมง

บทสนทนาของบัณฑิต

การซ้อมในวันที่สองเป็นการ "ซ้อมรวม" กล่าวคือบัณฑิตแต่ละคณะที่เข้ารับในภาคเดียวกันจะได้พบกันในหอประชุมใหญ่ เมื่อบัณฑิตจากทุกคณะเข้านั่งประจำ ก็เห็นได้ชัดว่ามีผู้เข้าร่วมพิธีจำนวนไม่มากนัก บางแถวที่นั่งมีบัณฑิตนั่งอยู่เพียงคนเดียวก็มี

ช่วงเวลากว่า 2 ชั่วโมงในหอประชุม บัณฑิตหลายคนมีโอกาสพูดคุยกัน หัวข้อสนทนาหลักในวันนั้นคือเรื่องการเข้ารับหรือไม่รับปริญญาในปีนี้ และผ่านการพูดคุยกับครอบครัวมาอย่างไร

"ฉันไม่ได้ถามเลย (ว่าจะไม่เข้าพิธีรับปริญญาได้มั้ย) รู้อยู่แล้ว เขาเว้นที่ว่างบนผนังไว้รอแขวนรูป (รับปริญญา) เราเลย"

"คนที่อยากให้เข้ารับคือย่า พอดีย่าป่วยมางานไม่ได้ พ่อกับแม่ก็เลยเฉย ๆ"

"เรามาซ้อม แต่วันรับจริงเราไม่มานะ อยากมาทำให้พ่อได้รู้ว่าเราได้เข้ามาแล้วนะ เขาเรียกชื่อเราแล้วนะ"

"คนอื่นเขาไม่เข้าใจหรอกว่าเงื่อนไขของแต่ละครอบครัวเป็นยังไง"

บัณฑิตเข้ารับการคัดกรองโควิด-19

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, บัณฑิตเข้ารับการคัดกรองโควิด-19

แม้จะมีหลายคนที่เลือกจะ "มาซ้อม แต่ไม่มารับ" หรือต้องผ่านการถกเถียงกับครอบครัวมาอย่างหนักเพราะคิดไม่ตรงกันเรื่องการเข้าพิธีรับปริญญา แต่บัณฑิตอีกกลุ่มหนึ่ง งานรับปริญญายังเป็นวันแห่งความสุขและความภาคภูมิในของเขาและเธอ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

"แม่เราบอกให้แต่งหน้ากับช่างด้วย จัดเต็มมั้ยล่ะ"

"บ้านเราน่าจะมาแต่เช้า จะได้ถ่ายรูปเยอะ ๆ"

จำลองพิธีรับปริญญา

สำหรับวันซ้อม 2 วันแรกนั้นบัณฑิตที่เข้าซ้อมอาจจะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ แต่สำหรับวันจำลองพิธีรับปริญญา เป็นวันที่บัณฑิตที่จะเข้าพิธีจำเป็นต้องเข้าร่วม ซึ่งจะมีการซักซ้อมขั้นตอนพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ แม้ผู้เข้าร่วมในหอประชุมนุมจะเบาบาง แต่บรรยากาศภายนอกคึกคักไม่ต่างกับปีอื่น ๆ และดูจะคึกคักมากกว่าปีก่อน ๆ ด้วยซ้ำ เพราะหลายคนเลือกที่จะไม่เข้าพิธีรับปริญญาจึงไม่ต้องรีบเข้าหอประชุม และมีเวลาพบปะสังสรรค์กับเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องจนถึงเย็นย่ำ

ก่อนเข้าหอประชุมในวันจำลองพิธีฯ เจ้าหน้าที่เริ่มตรวจความเรียบร้อยของเสื้อผ้า-หน้า-ผม เข้มงวดขึ้น ตรวจแม้กระทั่งสีผม การตัดแต่งเล็บ ข้อห้ามบางอย่างเกี่ยวกับการแต่งหน้า และอุปกรณ์ที่ห้ามนำเข้าหอประชุม

ขั้นตอนพิธีการในวันนี้เรียกว่าเสมือนจริงก็ ว่าได้ มีการดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบทั้งการยืนรับเสด็จ การรับปริญญา การกล่าวปฏิญานตน ตลอดจนการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทั้งหมดก็ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบอย่างเรียบร้อย

เนื่องจากในวันนี้ จะมีเฉพาะบัณฑิตที่ยืนยันจะเข้ารับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเท่านั้นที่มาร่วม เจ้าหน้าที่จึงมีการไล่เรียงลำดับการนั่งใหม่ โดยให้นั่งที่เว้นที่ตามมาตรการควบคุมโรค ซึ่งเมื่อตัดบัณฑิตที่ไม่เข้าพิธีในวันจริงออกไป ก็พบว่าเพียงชั้นแรกของหอประชุมก็เพียงพอที่จะรองรับบัณฑิตที่เข้าร่วมพิธีแล้ว ชั้นสองของหอประชุมจึงปิดไปโดยปริยาย

ผู้ที่มาร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตต่อคิวรอผ่านจุดตรวจบัตรประชาชน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้ที่มาร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตต่อคิวรอผ่านจุดตรวจก่อนเข้าไปในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัย

มาตรการป้องกันโควิด-19

ข้อปฏิบัติสำหรับบัณฑิตที่เพิ่มเข้ามาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ คือ บัณฑิตที่เข้าร่วมพิธีทุกคนต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อตรวจภูมคุ้มกัน ซึ่งหากใครไม่มาตรวจหรือผลออกมาว่ามีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคโควิด-19 ก็จะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมพิธีทันที

มาตรการคัดกรองและควบคุมโรค ทำให้บัณฑิตต้องมาถึงมหาวิทยาลัยเร็วกว่าเดิม กลุ่มที่มีกำหนดเข้าตรวจกลุ่มแรกเวลา 6.15 น. คือคณะนิติศาสตร์ เหล่าบัณฑิตจึงต้องมาถึงตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง รุดไปเต็นท์กลางสนามฟุตบอลเพื่อกรอกข้อมูล ประวัติ เข้ารับการประเมินความเสี่ยง และบันทึกการสังเกตอาการประจำวันผ่านแอปพลิเคชันอีกด้วย

ขั้นตอนตรงนี้ใช้เวลารอฟังผลราว 2 ชม. ก่อนที่บัณฑิตจะได้ออกมาพบปะกับครอบครัวอีกครั้ง หากผลเป็นบวกก็จะเข้าตรวจซ้ำอีกครั้ง ด้วยวิธีการ RT-PCR ซึ่งในส่วนของคณะนิติศาสตร์ มีผู้ที่ไม่ผ่านรอบแรก แต่ไม่มีข้อมูลว่าการตรวจซ้ำเป็นอย่างไร

หน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์ที่ต้องสวมใส่ตลอดเวลา ได้รับอนุญาตให้ถอดเฉพาะก่อนขึ้นเวทีเพื่อรับพระราชทานใบปริญญาบัตร เมื่อลงจากเวทีแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจกหน้ากากอันใหม่ให้สวมใส่

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ในวันแรกของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรคือวันที่ 30 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาถึง มธ. เวลา 16.23 น.

กว่าจะถึงเวลานั้น มหาวิทยาลัยได้คัดกรองบุคคลผ่านเข้าออกอย่างเข้มข้น โดยเปิดประตูเพียง 2 ฝั่งคือ ประตูฝั่งท่าพระจันทร์ และท่าพระอาทิตย์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการอยู่จุดคัดกรองซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจหญิง คอยตรวจบัตรประชาชนก่อนจะนำไปสแกนด้วยเครื่อง ซึ่งหน้าจอจะแสดงข้อมูลส่วนตัว และไม่มีการแยกบัณฑิตออกจากประชาชนทั่วไป ทำให้แถวฝั่งประตูท่าพระจันทร์ หางแถวยาวไปบริเวณสนามหลวงเลยทีเดียว

  • หากจอแสดงผลเป็นแถบสีเขียว เจ้าหน้าที่ก็จะกรอกหมายเลขตามสติกเกอร์ซึ่งจะแจกมาให้
  • หากจอผลเป็นแถบสีแดง เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าข้อมูลมีปัญหา ต้องติดต่ออีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน หากไม่มีปัญหาก็กดยืนยันให้ผ่านได้ตามปกติ
  • หากแสดงผลเป็นแถบเป็นสีม่วง เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่า "รอแป๊บ" ก่อนก้มดูข้อมูลอีกครั้ง ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปใบหน้าของบุคคลนั้นไว้ โดยไม่มีการแจ้งขออนุญาต หรือชี้แจงเหตุผล ซึ่งบุคคลนั้นก็ยังคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกันดี เพราะไม่รู้ขั้นตอนและเหตุผลของการเก็บข้อมูล และบางคนเมื่อเห็นคนก่อนหน้าโดนถ่ายรูปไปแล้ว ก็คิดว่าเป็นขั้นตอนปกติ
บัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 30 ต.ค.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, บัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 30 ต.ค.

สิ่งที่เกิดขึ้นในหอประชุมใหญ่วันแรก

บัณฑิตสาวรายหนึ่งยอมรับว่า เมื่อเดินเข้าหาประชุมใหญ่แล้ว "ไม่รู้วันเวลาเลย" เพราะไม่มีการบอกเวลาอย่างใด โดยมีราชองครักษ์มาซักซ้อมพิธีตั้งแต่ต้นจนจบอีกครั้ง

บัณฑิตได้กล่าวคำปฏิญาณว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ชอบ และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อเกียรติคุณ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพระพุทธเจ้าจะดำรงตนและประกอบสัมมาอาชีพ ในทางที่ซื่อสัตย์สุจริต อยู่ในกรอบนิติธรรมและศีลธรรม ข้าพระพุทธเจ้าจะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ"

ในการกล่าวคำปฏิญานก็มีการกล่าวไปตามปกติ ไม่ได้มีการละ "บางคำ" อย่างที่มีความกังวล

ส่วนการร้องเพลงสรรเสริญการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ปรากฏว่าแทบจะไม่มีเสียงร้องดังจากบัณฑิตเลย

"เราร้องในช่วงที่ในหลวง และสมเด็จพระราชินี เสด็จลงจากเวทีพอดี บรรยากาศจึงไม่รู้สึกแปลก เพราะพระองค์ท่านไม่อยู่ตรงจุดนั้นแล้ว"

ต่างจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยอย่างเพลงยูงทอง ที่บัณฑิตต่างเปล่งเสียงร้องดัง แต่บทเพลงนี้ก็ถูกขับขานในช่วงเวลาที่หอประชุมเหลือแต่บัณฑิต อาจารย์ และเจ้าหน้าที่เท่านั้น

บรรยากาศภาพรวมภายในหอประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น