"บ้านศาลในป่าแหว่ง" บทสะท้อนความย้อนแย้งนโยบายทวงคืนผืนป่า คสช.

ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการและอาคารที่พักอาศัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใน จ.เชียงใหม่ ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียง

ที่มาของภาพ, เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

โครงการบ้านพักตุลาการริมดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ จุดประกายคำถามถึงความเท่าเทียมในการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และระดับความกระตือรือร้นของหน่วยงานราชการในการรักษาพื้นที่ป่า ขณะที่ภาคประชาสังคมรุกให้ "รื้อสถานเดียว"

หากพิจารณาจากถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีนี้ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความหวังอันริบหรี่ที่ความต้องการของภาคประชาสังคมจะได้รับการตอบสนอง

แม้จะชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลทหารจะเข้ามารับหน้าที่ แต่หัวหน้า คสช.ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้รื้อโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐบาลก่อสร้างไปจนเกือบจะแล้วเสร็จ เพราะเกรงจะเกิดการฟ้องร้องของผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทำสัญญากับรัฐ และยังเรียกร้องให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่าเดินขบวนประท้วง แต่ได้มอบหมายให้ คสช. แม่ทัพภาคที่ 3 กับกระทรวงมหาดไทยไปหาทางทำความเข้าใจกับผู้ไม่เห็นด้วยแทน

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บอกกับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่า "ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลดูย้อนแย้งกับนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ คสช. ประกาศไว้เมื่อก้าวสู่อำนาจในปี 2557 ซึ่งกำหนดว่าจะคืนผืนป่าให้ได้ 40% ตามแผนแม่บท"

นายธีระศักดิ์ ยืนยันว่า โครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการเป็นการรุกพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นแนวเขตแดนที่ภาคประชาสังคมและกองทัพซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้ทำสัญญาร่วมกันไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

"ขณะนี้กลุ่มเครือข่ายกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลงพื้นที่สำรวจแนวป่าเพื่อชี้ให้เห็นว่า อาคารชุด 9 แห่งและบ้านพักตุลาการ 45 หลังได้ล้ำเข้าไปในแนวเขตป่าดั้งเดิม" นายธีระศักดิ์กล่าวโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 3

ล่าสุดในวันนี้ (20 เม.ย.) ทางเครือข่ายฯ ร่วมกับภาคประชาสังคม ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ส่วนอำนวยการ สำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มีความเห็นร่วมกัน 4 แนวทาง ประกอบด้วย

  • เสนอให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และประกาศให้พื้นที่โครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้ระงับทุกกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้แนวเขตป่าดั้งเดิมเป็นเส้นกำหนดเขต
  • ให้รัฐบาลจัดสรรพื้นที่แห่งใหม่และงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในราชการสำนักงานศาลยุติธรรมทดแทน
  • ในพื้นที่ส่วนที่สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ตามข้อ 1 ให้ส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาอนุญาตให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
  • ให้มีการประกาศเป็นทางการต่อสาธารณะ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อเป็นสัญญาประชาคม ว่า จะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุที่เป็นป่ารอยต่อ ตามแนวป้องกันระหว่างพื้นราบกับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย โดยจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติคลุมลงมาให้เป็นป่าผืนเดียวกันในที่สุด
โครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการซึ่งเชื่อว่ารุกล้ำเข้าแนวเขตป่าดั้งเดิม

ที่มาของภาพ, Google/เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

คำบรรยายภาพ, โครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการซึ่งเชื่อว่ารุกล้ำเข้าแนวเขตป่าดั้งเดิม (เส้นประ)

อย่างไรก็ตาม ในการหารือดังกล่าวไม่มีตัวแทนจากฝ่ายศาลมาร่วมการประชุม นายธีระศักดิ์ระบุว่า จะนำผลการหารือถึงแนวทางดังกล่าวแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่ 29 เม.ย. นี้

ยื่นคำขาด "ต้องรื้อสถานเดียว"

ถ้อยแถลงล่าสุดของเครื่อข่ายและพันธมิตร เป็นการตอกย้ำข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่เป็นคำขาดไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องการให้รื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในเขตแนวป่าดั้งเดิมเพียงสถานเดียว เพื่อปรับพื้นที่และฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม เพราะโครงการที่ก่อสร้างไปแล้วนี้นอกจากจะก่อให้เกิดทัศนอุดจาดแล้ว ยังรบกวนระบบนิเวศ และจะทำให้เกิดความเดือดร้อนจากการไหลบ่าของน้ำป่า กับจะทำให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำดิบจากการที่หน้าดินที่ถูกเปิดไว้จากการก่อสร้าง จะถูกชะล้างลงมาพร้อมน้ำฝนที่จะตกมาในหน้าฝน

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ (ขวา) ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พร้อมประชาชนออกมาเรียกร้องให้รื้อถอนส่วนอาคารที่พักออกไปเพื่อคืนพื้นที่ป่า

ที่มาของภาพ, เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

คำบรรยายภาพ, นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ (ขวา) ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พร้อมประชาชนออกมาเรียกร้องให้รื้อถอนส่วนอาคารที่พักออกไปเพื่อคืนพื้นที่ป่า

ผู้คัดค้านโครงการนี้อ้างว่าในสายตาของชาวเชียงใหม่ถือเป็นโครงการที่ถูกสาปแช่ง และไม่เป็นที่ต้องการ ขณะที่นางวัฒนา วชิโรดม ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ และ เลขาธิการเครือข่ายการจัดการวิกฤติป่าและน้ำประกอบด้วย 13 องค์กรทั่วประเทศ บอกกับกรุงเทพธุรกิจว่าโครงการนี้จะเป็น "ตราบาป" ต่อสถาบันยุติธรรมตลอดไป ทั้งยังตั้งคำถามว่าหากผู้ใช้พื้นที่ไม่ใช่ศาล แล้วกรมธนารักษ์จะอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการนี้หรือไม่

ด้านกลุ่มกรรมาธิการสถาปนิกผังเมือง (ไทย) ล้านนาและกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา ต่างออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยโดยยกเหตุผลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม-วัฒนธรรม การออกแบบผังเมือง วิสัยทัศน์การพัฒนาเมือง รวมไปถึงมิติด้านภัยพิบัติ ขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมล้วนแสดงออกทางโซเชียลมีเดียไปในทำนองเดียวกัน

สนง.ศาลยุติธรรมย้ำรื้อไม่ได้

ในการประชุมของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเปิดเป็นเวทีสาธารณะเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการบ้านพักข้าราชการนี้ แจ้งยกเลิกการเข้าร่วมกะทันหัน ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่อาจยุติและรื้อถอนโครงการได้เพราะจะถูกคู่สัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และจะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมายด้วย

ที่พักอาศัยผู้พิพากษาที่ก่อสร้างกำลังใกล้เสร็จ

ที่มาของภาพ, เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

คำบรรยายภาพ, ที่พักอาศัยผู้พิพากษาที่ก่อสร้างกำลังใกล้เสร็จ

อย่างไรก็ดี นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการ สนง. ศาลยุติธรรมระบุว่า คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีมติให้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังรัฐบาลเพื่อให้เป็นผู้พิจารณาดำเนินการต่อไป

เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจริงหรือ?

ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมของโครงการนี้ที่ได้รับความเห็นชอบมาตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2548 ในขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม และเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 ยกเลิกโครงการ แต่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าโครงการดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติของราชการ โดยที่ดินที่ใช้ก่อสร้างบ้านพักตุลาการดังกล่าวนั้น เดิมเป็นที่ดินของกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากมีสภาพเป็น "ป่าเสื่อมโทรม" กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้สถานที่เพื่อฝึกกำลังพล ต่อมาในปี 2500 กรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. 394/2500 จำนวน 23,787 ไร่ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้ไปขอขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์กับกรมธนารักษ์

ต่อมาในปี 2540 สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน และกองทัพบกได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ 143 ไร่ได้ในปี 2547 โดยกองทัพได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตามแปลงที่ดินนั้นให้กรมธนารักษ์ จากนั้นในปี 2549 กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว และต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ

จากนั้นในปี 2556 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับงบประมาณ จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้

บรรยากาศในเวทีประชุมหารือเจรจาเคลียร์ปมปัญหากรณีโครงการสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ป่าเชิงดอยสุเทพเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 แจ้งยกเลิกการเข้าร่วมงานอย่างกระทันหัน

ที่มาของภาพ, เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ/FACEBOOK

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศในเวทีประชุมหารือเจรจาแก้ไขปัญหากรณีโครงการสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ป่าเชิงดอยสุเทพเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 แจ้งยกเลิกการเข้าร่วมงานอย่างกระทันหัน

แต่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพยืนยันว่า "สิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในเขตป่าดั้งเดิมนั้น แม้จะเป็นที่ราชพัสดุ แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม" ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนั้น คือแนวพื้นที่ราบที่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ของสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ไปแล้ว และรวมถึงพื้นที่บางส่วนของโครงการสร้างอาคารที่ทำการของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในพื้นที่ราบด้านล่าง ไม่ใช่ส่วนบ้านพักตุลาการที่อยู่บนริมดอยสุเทพที่สร้างทัศนอุดจาด

เชียงใหม่ติด 1 ในพื้นที่บุกรุกป่าวิกฤตรุนแรงที่สุด

ตามแผนแม่บท "แก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน" โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2557 ซึ่งได้มีการศึกษาและกำหนดพื้นที่ที่มีระดับความรุนแรงของปัญหาบุกรุกทำลายป่าไม้ ระบุว่า มีพื้นที่ 12 จังหวัดที่อยู่ในระดับวิกฤตรุนแรงจากการบุกรุกทำลายป่าไม้ ในจำนวนดังกล่าว คือ เชียงใหม่ โดยอีก 11 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่าน ลำปาง อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย กระบี่ ตาก และแม่ฮ่องสอน

การแบ่งพื้นที่ตามความรุนแรงของการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

ที่มาของภาพ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คำบรรยายภาพ, การแบ่งพื้นที่ตามความรุนแรงของการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

ในแผนแม่บทยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าที่มีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งทำเป็นขบวนการใหญ่มีชาวต่างชาติ ผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่หากพิจารณาปัญหาการบุกรุกโดยรวมแล้ว ยังมีอีกหลายลักษณะ เช่น การลักลอบตัดไม้และแปรรูปไม้ เพื่อขายหรือส่งออกต่างประเทศ การบุกรุกป่าไม้เพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งการสร้างรีสอร์ทหรือบ้านพักตากอากาศ รวมไปถึงการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า

ทั้งนี้ แผนแม่บทระยะเวลา 10 ปีฉบับนี้กำหนดจะคืนผืนป่าที่สมบูรณ์กลับมาอย่างน้อย 40% นับตั้งแต่ คสช. มีคำสั่งฉบับที่ 64 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก หรือยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าอย่างจริงจังในทุกพื้นที่

ประชาชน คือ เหยื่อของนโยบายทวงคืนผืนป่า?

แม้ว่าภายใต้ยุทธศาสตร์ทวงคืนผืนป่าของ คสช. และแผนแม่บทนี้ ระบุว่า จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าผู้ที่ตกเป็นเป้าและได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวกลับเป็นชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

นายไพโรจน์ วงงาน เกษตรกร จ.ชัยภูมิ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. หยุดทวงคืนผืนป่า

ที่มาของภาพ, CORY WRIGHT

คำบรรยายภาพ, นายไพโรจน์ วงงาน เกษตรกร จ.ชัยภูมิ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. หยุดทวงคืนผืนป่า

และในบางกรณี อาทิ เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ภาคอีสาน ได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการทวงคืนผืนป่า และให้ภาครัฐยุติการดำเนินการที่กระทบสิทธิกับชาวบ้านในทุกพื้นที่ และให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ที่ดินโดยปกติสุข เป็นต้น