หลายชาติในเอเชียลอกแบบจีนคุมสื่อ ไทยอันดับเสรีภาพสื่อดีขึ้นมาอยู่ที่ 140

ไมโครโฟนของสื่อ

ที่มาของภาพ, Getty Images

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเผย รัฐบาลหลายชาติในเอเชียควบคุมข่าวและข้อมูลตามแบบจีน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา หลายชาติในอาเซียนมีดัชนีเสรีภาพสื่อลดต่ำลงในปีนี้ แต่ไทยปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่ 140

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงรั้งอันดับแทรกแซงสื่อเลวร้ายที่สุดในโลก โดยเกาหลีเหนือยังรั้งอันดับ 180 ท้ายสุดเช่นเดิม แม้ว่าจะมีการยอมให้ผู้คนในประเทศใช้สมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ยังมีการควบคุมการสื่อสารและอินทราเน็ตในประเทศอย่างเข้มงวด สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการยังคงเป็นแหล่งรับข้อมูลข่าวสารเพียงแห่งเดียวของชาวเกาหลีเหนือ การอ่าน ชม หรือ ฟัง ข่าวสารจากสื่อต่างชาติอาจนำไปสู่การถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันได้

จีนตรวจสอบและควบคุมสื่อมากขึ้น

ดัชนีเสรีภาพสื่อของจีนยังคงอยู่อันดับที่ 176 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเข้าใกล้ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้นทุกที โดยในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของนายสี ทางการจีนมีการตรวจสอบและควบคุมสื่ออย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้ามาช่วย นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศยังทำงานได้ยากลำบากขึ้น และพลเมืองในประเทศก็อาจถูกจำคุกได้เพียงเพราะส่งต่อเนื้อหาทางเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ หรือในการคุยกันส่วนตัวผ่านแอปพลิเคชัน ปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวถูกควบคุมตัวในจีนมากกว่า 50 คน

รัฐบาลจีนกำลังพยายามจัด "ระเบียบสื่อโลกใหม่" ด้วยการเผยแพร่วิธีการกดขี่ ระบบการตรวจสอบข้อมูล และเครื่องมือการควบคุมอินเทอร์เน็ต และหลายประเทศในเอเชียก็เดินตามรอยจีน ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่ลดละในการกำจัดการแข็งข้อจากประชาชนทุกหมู่เหล่า

เวียดนามและกัมพูชาปราบปรามสื่ออย่างหนัก

สองชาติที่ลอกเลียนแบบการควบคุมสื่อของจีนอย่างมากก็คือ เวียดนามและกัมพูชา โดยเวียดนามมีอันดับเสรีภาพสื่ออยู่ที่ 175 ดีกว่าจีนเพียงแค่อันดับเดียว สื่อดั้งเดิมในประเทศถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่ผู้สื่อข่าวพลเมืองพยายามปกป้องเสรีภาพในการรายงานข่าวอย่างกล้าหาญ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตอบโต้อย่างไร้ความปราณี มีการเพิ่มโทษจำคุกบล็อกเกอร์ หากเขียนเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามอย่างการทุจริตและหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อม จาก 2 ปี เป็น 15 ปี

คนชูป้าย

ที่มาของภาพ, SIV CHANNA

คำบรรยายภาพ, มีการรณรงค์ให้ช่วยเหลือหนังสือพิมพ์ "เดอะ แคมโบเดีย เดลี" ในกัมพูชา ในช่วงก่อนที่จะถูกกดดันให้ปิดตัว

ส่วนกัมพูชา ดัชนีเสรีภาพสื่อปีล่าสุดร่วงลงจากปีก่อนหน้า 10 อันดับลงมาอยู่ที่ 142 หลังจากที่รัฐบาลของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ปราบปรามสื่ออย่างหนัก ด้วยการปิดสำนักข่าวอิสระกว่า 30 แห่งและจำคุกนักข่าวหลายคนตามอำเภอใจ โดยการกดขี่สื่อเสรี การเข้ามาครอบงำสื่อมวลชน และการควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ ต่างเป็นวิธีการเดียวกับที่จีนใช้

ไทยอันดับเสรีภาพสื่อดีขึ้นมาอยู่ที่ 140

ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคที่ได้รับอิทธิพลจากวิธีการควบคุมสื่อของจีนด้วยได้แก่ ประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีอันดับเสรีภาพสื่อดีขึ้นสองอันดับมาอยู่ที่ 140 มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 145 ลดลงหนึ่งอันดับ และสิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 151 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แม้อันดับเสรีภาพสื่อจะขยับขึ้นสองอันดับ แต่การผ่อนคลายก็ยังเกิดขึ้นไม่มาก เพราะยังมีประกาศ และคำสั่ง คสช. อีก 2-3 ฉบับ ที่ยังควบคุมการทำงานของสื่ออยู่

ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกของไทย

ประกาศ คสช.ที่ 97/2557 ว่าด้วยการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงาน คสช. และเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ ระบุถึง การห้ามสื่อมวลชนเชิญบุคคลสัมภาษณ์ แสดงความเห็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง งดเว้นการนำเสนอข่าวที่วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากสื่อละเมิดคำสั่งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย

ต่อมาประเด็นการห้ามวิจารณ์ คสช.ถูกแก้ไขใหม่ในประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ห้ามเฉพาะการวิจารณ์ที่บิดเบือน เป็นข้อมูลเท็จ และหากฝ่าฝืนก็ให้ดำเนินการสอบสวนตามจริยธรรมวิชาชีพแทน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานห้ามการนำเสนอข่าว

สมาคมนักข่าวฯ เตรียมเรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ควบคุมสื่อ

นายปรัชญาชัย กล่าวว่า ในวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ทางสมาคมจะรณรงค์ให้ยกเลิกคำสั่งที่ควบคุมสื่อทั้งหมด เพราะประเทศเริ่มเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ควรเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนเสนอข้อมูลข่าวสาร และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี

กลุ่มคนทำหน้าแขนไขว้

ที่มาของภาพ, THAI JOURNALIST ASSOCIATION

คำบรรยายภาพ, 30 องค์กรวิชาชีพสื่อเคยออกมาแสดงพลังคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อ

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า รัฐอาจจะใช้คำสั่งเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของเอง และตีขลุมให้เรื่องเหล่านี้เป็นเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสข่าว คสช.จะตั้งพรรคการเมือง หัวหน้า คสช.อาจใช้อำนาจ ม. 44 ให้เจ้าพนักงานห้ามเสนอข่าว อาจเกิดการใช้อำนาจในการกลั่นแกล้งสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ได้

"คำสั่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หากยกเลิก ดัชนีเสรีภาพสื่อก็จะเป็นบวกมากกว่านี้"

เมียนมากับฟิลิปปินส์ร่วง 6 อันดับ

เมียนมาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อันดับเสรีภาพสื่อลดต่ำลงอย่างมากในการจัดอันดับล่าสุด โดยลดลง 6 อันดับลงมาอยู่ที่ 137 ในปีที่ผ่านมารัฐบาลที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี สูญเสียความน่าเชื่อถือลงอย่างมาก จากที่เคยให้คำมั่นว่าจะปกป้องบทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตย

สถานการณ์เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตโรฮิงญาในเดือนสิงหาคม 2017 กองทัพห้ามไม่ให้สื่อเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานข่าวที่ประชาคมโลกเห็นว่าเป็นการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในเมียนมา โดยขณะนี้ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ที่พยายามทำข่าวสืบสวนสอบสวนยังคงอยู่ในเรือนจำ

จอ โซ อู

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, จอ โซ อู ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์
วา โล

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, วา โล ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์

ส่วนฟิลิปปินส์ อันดับเสรีภาพสื่อโลกร่วงลง 6 อันดับเช่นกัน อยู่ที่ 133 จากการที่สื่อถูกควบคุมจากผู้นำที่ต้องการแสดงอำนาจของตัวเอง โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ได้คุกคามสื่อที่วิจารณ์สงครามยาเสพติดนับครั้งไม่ถ้วน และในปี 2017 มีผู้สื่อข่าว 4 คนถูกสังหาร ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ และฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตมากที่สุดในภูมิภาค