โคโรนา : ยอดผู้จิดเชื้อใหม่ในจีนพุ่ง หลังปรับนิยาม ส่วน ก.คมนาคม แจง Seabourn Ovation ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง

กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19

ทางการจีนแถลงวันนี้ (13 ก.พ.) ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายวันในมณฑลหูเป่ย์ของวันที่ 12 ก.พ. อยู่ที่ 242 คน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดของผู้เสียชีวิตในหนึ่งวัน ส่วนรัฐบาลไทยเดินหน้าชี้แจงว่า ได้ "พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด" ก่อนอนุญาตให้ เรือสำราญ Seabourn Ovation เทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต

ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 14,840 คนในหนึ่งวัน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากการที่ทางการหูเป่ย์เปลี่ยนนิยามอาการผู้ติดเชื้อ

หลังจากการประกาศยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเมื่อวานนี้ รัฐบาลจีนได้ปลดเจ้าหน้าที่ชั้นสูงที่หูเป่ย์สองคน

ก่อนหน้านี้ สถานการณ์การติดเชื้อของผู้ป่วยใหม่ในหูเป่ย์ดูเหมือนคงที่ จนถึงเมื่อวันพุธที่ผ่านที่มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งตอนนี้ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตของจีนกลายเป็น 1,350 คน และมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 66,000 คนแล้ว

นิคก์ บีค ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ฮ่องกงบอกว่า จีนถูกนานาชาติกล่าวหาปกปิดความรุนแรงของการระบาดที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์เดวิด เฮแมนน์ แห่งภาคระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่จีนคือ การเปลี่ยนคำจำกัดความของโรค โดยรวมคนไข้ที่มีอาการของโรคน้อยกว่ามาตรฐานเดิมเข้ามานับเป็นผู้ติดเชื้อใหม่

"ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนคนตาย เพราะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนคนตายกับจำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราการตายก็เท่ากับที่เป็นมา แต่ก็ถือว่าสูง สูงพอ ๆ กับอัตราการตายของคนเป็นไข้หวัดใหญ่"

การใช้คำจำกัดความในการวินิจฉัยโรคใหม่ มีขึ้น เฉพาะมณฑลหูเป่ย์เท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาถึง 80 % ของทั้งประเทศจีน

โคโรนา

ที่มาของภาพ, Getty Images

นิยามใหม่คืออะไร

นิยามเดิมว่าผู้ใดป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัสนั้น ต้องมีผลตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากห้องปฏิบัติการ (standard nucleic acid tests) ยืนยันว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อ แต่ในนิยามใหม่ หากผู้ป่วยแสดงอาการ และผลตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเข้าได้กับปอดติดเชื้อ หมอก็จะวินิจฉัย (clinically diagnosed) ว่าป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส

ด้วยนิยามใหม่นี้ ทำให้ดัวเลขผู้เสียชีวิตรายใหม่ในอู่ฮั่นเมื่อวานอยู่ที่ 242 ราย ในจำนวนนี้ 135 ราย มาจากการวินิจฉัยของแพทย์ และในมณฑลหูเป่ย์ สถิติผู้ติดเชื้อรายวันเมื่อวันพุธ อยู่ที่ 14,840 ราย ในจำนวนนี้ 13,332 ราย มาจากการวินิจฉัยของแพทย์

เรือสำราญ Seabourn Ovation เทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต

ที่มาของภาพ, กองทัพเรือ

คำบรรยายภาพ, เรือสำราญ Seabourn Ovation เทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต

เรือสำราญต่างชาติที่ภูเก็ต

โลกโซเชียลต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์หนักที่ทางการไทยอนุญาตให้เรือสำราญ Seabourn Ovation เทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต จนทำให้เกิด #Seabournovation ขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Covid -19 หลังจากเมื่อวานทางการไทยต้องปฏิเสธการเทียบท่าของเรือเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม (Westerdam)

กระแสสังคม ทำให้ทั้งโฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และล่าสุดนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมออกมาโพสต์ชี้ว่า "เรือที่เข้าทุกลำ เราจะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด "

นายอธิรัฐ ได้โพสต์ข้อความอธิบายเรื่องดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า เรื่องนี้ได้รับการรายงานจากกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่า ผู้โดยสารที่เดินทางในเรือดังกล่าว ได้ผ่านพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ภายใน 14 วัน หรือมีไข้เกิน 38.5 องศา จะถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเรือ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ที่มาของภาพ, กองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

กรณีเรือ Seabourn Ovation และ Westerdam ต่างกันอย่างไร

ในการชี้แจงของ รมช. คมนาคมได้ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างเหตุผลความจำเป็นในการอนุญาตให้เรือโดยสาร Seabourn Ovation เทียบท่าน้ำลึกในภูเก็ต เปรียบเทียบกับการปฏิเสธการเทียบท่าของเรือสำราญ Westerdam ดังนี้

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวมจากเอกสารของกระทรวงคมนาคม

บรรยากาศ

ที่มาของภาพ, กองทัพเรือ

สธ. วอนอย่าตื่นตระหนก

สำหรับกรณีเรือท่องเที่ยวที่ SEABOURN OVATION ที่แวะพักที่ จ.ภูเก็ต ในวันนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจากกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้มาตรการคัดกรองเดียวกับทุกครั้งโดยเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปประเมินสุขอนามัยบนเรือ ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของผู้โดยสารและลูกเรือ ร่วมกับแพทย์ประจำเรือ ผลการตรวจไม่มีผู้มีอาการเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค และก่อนลงมาจากเรือแพทย์ประจำเรือจะวัดไข้ซ้ำอีกครั้ง และเมื่อลงจากเรือแล้วจะการวัดไข้ซ้ำอีกครั้ง เป็นไปตามมาตรฐานสากล

"อย่าได้ตื่นตระหนก เพราะว่าผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วย และที่สำคัญก็คือเรือท่องเที่ยวดังกล่าวไม่แวะพักตามเส้นทางการเดินเรือปกติ โดยได้มีการแจ้งการเข้าออกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมคัดกรองนักท่องเที่ยว Seabourn Ovation

ที่มาของภาพ, กองทัพเรือ

คำบรรยายภาพ, ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมคัดกรองนักท่องเที่ยว Seabourn Ovation

อีกกรณีหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเตรียมการรับมือ คือ กรณีเรือเวสเตอร์ดัม ที่จะเข้าเทียบท่ายังประเทศกัมพูชา นพ.สุวรรณชัยให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า ได้มีการเตรียมมาตรการในทุกด่านทุกช่องทางเข้าออก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ พร้อมรับมือการกรณีผู้โดยสารจากเรือดังกล่าวมาแวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย รวมทั้งประสานข้อมูล วางแผนดูแลคนไทยที่อยู่บนเรือทั้ง 21 คน

"เราได้ประสานในเรื่องของข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้อง...เพื่อวางแผนดูแลคนไทยที่อยู่บนเรือดังกล่าว ข้อมูล ณ ปัจจุบันมีผู้โดยสารคนไทยบนเรือนั้น 2 คน ลูกเรือคนไทย 19 คน เป็นธรรมดาที่เราต้องดูแลคนไทย" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

เรือเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, เรือเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ประจำวันที่ 13 ก.พ. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อของไทยสะสมคงที่ 33 ราย ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 21 ราย กลับบ้านแล้ว 12 ราย รวมสะสม 33 ราย จากที่มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 823 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 673 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 150 ราย

ในขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกใน 26 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษนั้น จนถึงวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 60,062 ราย เสียชีวิต 1,360 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 59,539 ราย เสียชีวิต 1,358 ราย

WHO ว่าอย่างไร

องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกยัง "เร็วเกินไป" ที่จะประกาศว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะสิ้นสุดเมื่อไร แม้การติดเชื้อใหม่ในจีนที่ดูชะลอลงเมื่อต้นสัปดาห์ แต่ WHO แถลงว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าการระบาดของ "โควิด-ไนน์ทีน" (Covid-19) นี้จะจบลงอย่างไร

"การระบาดจะเป็นไปในทิศทางไหนก็ได้" นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แถลงที่เจนีวา เมื่อคืนวันที่ 12 ก.พ. หลังจากที่ทางการจีนออกมาแถลงว่าพบผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 2,015 ราย ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการจีนออกมาแถลงว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันถึงเกือบ 4,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา

ไมเคิล เฮย์ หัวหน้าแผนกสาธารณสุขฉุกเฉินของ WHO แถลงในเวทีเดียวกันว่า ขณะนี้ "ยังเร็วเกินไปที่จะคาดคะเนถึงจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดสิ้นสุดของการระบาด"