รัฐธรรมนูญ 2560: ประชาชนปลดแอก นัดชุมนุมอีก ต.ค. หลัง ส.ส.รัฐบาล+ส.ว. มีมติตั้งกมธ. พิจารณาร่างแก้ รธน.

ประท้วง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศการชุมนุมหน้ารัฐสภาช่วงค่ำ

"คณะประชาชนปลดแอก" ประกาศว่าจะไม่หยุดการเคลื่อนไหว ขอให้ประชาชนติดตามข่าวการชุมนุมภายใน ต.ค. ที่ ถนนราชดำเนิน และรัฐสภา หลัง ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไม่ได้ลงมติรับ-ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว

กลุ่มผู้ชุมนุมนับพันคนในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาชนปลดแอก" และ "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" รวมตัวที่บริเวณหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย ในกิจกรรมชื่อว่า "ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา" ตั้งแต่ 14.30 น. ของ วันที่ 24 ก.ย. ปิดท้ายการชุมนุมด้วยกิจกรรม "โยนใบลาออกให้ ส.ว." ภายหลังทราบผลการลงมติ และยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 21.40 น.

การชุมนุมครั้งนี้เป็นการกดดันสมาชิกสองสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ "ปิดสวิตช์" ปรับลดอำนาจ และที่มา ของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง เปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และให้มีการแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทุกหมวด ทุกมาตรา รวมถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้ชุมนุมต้องพบกับความผิดหวังเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)พรรครัฐบาล และ ส.ว.จับมือ มีมติ 432 ต่อ 255 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ

ประท้วง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ขอเปิดสภาสมัยวิสามัญ

หลังทราบผลการลงมติของรัฐสภา นายทัตเทพ เรืองประไพกิตเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก ที่ปราศรัยบนเวทีเป็นคนสุดท้าย กล่าวว่า แม้สภาได้ปิดสมัยประชุมไปแล้ว ก็สามารถเปิดสมัยประชุมวิสามัญได้ ไม่ต้องรอถึงเดือน พ.ย. พร้อมเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เปิดสมัยประชุมวิสามัญทันที

ก่อนหน้านี้ คณะประชาชนปลดแอก ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1. ให้มีการแก้ไขที่มาและปรับลดอำนาจต่างของ ส.ว. 2. รัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด โดย "ปราศจากการแต่งตั้งและจะต้องไม่มีการสอดไส้" และ 3. เปิดทางให้มีการแก้ไขในทุกหมวด รวมทั้งมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

"ถ้ารัฐสภา ได้ล็อกสเป็ก ไม่ให้เราแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง หรือมาตราใดมาตราหนึ่ง ถือว่าเป็นกบฏต่ออำนาจประชาชน" แกนนำวัย 24 ปี กล่าวบนเวทีและประกาศว่า คณะประชาชนปลดแอก มีจุดร่วมเดียวกันกับ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ซึ่งมีข้อเสนอ 10 ข้อเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาชนปลดแอก" ในวันนี้ (24 ก.ย.) ยังนับเป็นครั้งแรกที่แกนนำได้ปราศรัย ในประเด็น 1 ความฝัน ระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยกล่าวถึงรายละเอียดที่มากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ การขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับการทหาร การจัดส่วนราชการในพระองค์ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

ประท้วง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

พระราชอำนาจ

นายทัตเทพ กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐสภา ผ่านกฎหมายโอนอัตรากำลังพลกว่า 1 หมื่นนาย ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ เป็นการ "ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงรับผิดชอบกับการมีพระราชอำนาจมากขึ้น" ซึ่งขัดแย้งอย่างยิ่งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

นายทัตเทพกล่าวอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนจะต้องจำกัดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตรย์ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เพื่อไม่ให้สถาบันฯ ถอยห่างจากระบอบประชาธิปไตยไปมากกว่านี้

"นี่คือการทำให้ สถาบันกษัตริย์ สง่างาม อยู่เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมพระเกียรติ คือการทำให้ประเทศไทยนี้ปกครองด้วย ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เท่ากับคนทุกคนอย่างแท้จริง"

"พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแน่นอน"

นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยในช่วงค่ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการนำสมาชิกวุฒิสภา หรือ "ส.ว.ขี้ข้าเผด็จการ" ออกไปจากรัฐสภา ก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

ประท้วง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อนนท์ นำภา ปราศรัยหน้ารัฐสภา

เขาได้กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องมีการแก้ไขตั้งแต่อารัมภบทให้จารึกชื่อคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปิดให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ตามข้อเสนอที่กลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งอานนท์ระบุว่า "เป็นหลักการประชาธิปไตยทั่วไป ใครทำผิดต้องรับโทษ ไม่ใช่มีผู้ใดผู้หนึ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ"

สำหรับข้อเสนอของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่ถูกประกาศเมื่อวันที่ 10 ส.ค. และถูกตอกย้ำในการชุมนุม "ทวงอำนาจคืนราษฎร" ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. ระบุในข้อที่ 1 ว่าให้ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

ทนายความวัย 34 ปี ยังเสนอการแก้ไขในหมวด 2 ซึ่งมีการบัญญัติให้หน่วยราชการในพระองค์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลทั้งที่ใช้เงินภาษีของประชาชน และการแก้ไขในส่วนของหน่วยทหารให้กลับมาสังกัดกระทรวงกลาโหมดังเดิม

นายอานนท์ได้เน้นย้ำในช่วงท้ายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เขาบอกว่า หากร่างแก้ไขฯ ของฝ่ายค้านไม่เข้าสภาหรือปัดตกออกไป ยังมีอีกร่างหนึ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเข้าชื่อประชาชนกว่า 1 แสนคนที่รวบรวมชื่อโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) หากไม่มีการตอบรับหรือคว่ำร่างนี้ของประชาชนจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่

"ถ้าเสียงของประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนยังคว่ำได้ เจอพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแน่นอน" อานนท์ประกาศ และเชิญชวนให้ประชาชนปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ หากสภาไม่ตอบสนองแก้รัฐธรรมนูญภายในเดือน ต.ค.

Wasawat Lukharang/BBC Thai

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

"ประชามติที่ไม่ใช่ประชามติ"

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวบนเวทีว่า ไอลอว์และประชาชนได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของรัฐสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร

"หากว่ารัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญพิจารณานั่นแปลว่าปฏิเสธการเรียกร้องตามช่องทาง เป็นการบีบให้ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น และลงถนนเพื่อแสดงออก" นายยิ่งชีพกล่าว

เขายังกล่าวถึงการทำประชามติปี 2559 ว่าไม่ใช่ประชามติ เพราะมีการปิดหูปิดตาประชาชน รณรงค์ให้รับเท่านั้น และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างที่รณรงค์ไม่รับร่างประชามติครั้งนั้น นอกจากนี้ เขายังเสนอให้ยกเลิก ส.ว. และแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนองค์กรทางการเมืองและตุลาการ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ตรวจสอบรัฐบาล

Wasawat Lukharang/BBC Thai

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

"หมุด" อยู่ทุกที่

ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาถึงบริเวณด้านหน้ารัฐสภาตั้งแต่เวลาประมาณ 14.30 น.และเริ่มทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น การผูกโบว์ขาวขนาดใหญ่ที่ประตูรัฐสภาและพ่นสีลงบนพื้นถนนเป็นรูป "หมุดคณะราษฎร 2563" กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งจุดปราศรัยด้วยรถบรรทุกบนถนนสามเสนด้านหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา

ส่วนการรักษาความปลอดภัยในด้านรัฐสภา มีการวางกำลังตำรวจปราบจราจลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รวม 5 กองร้อย กระจายกำลังประตูทางเข้าและออกรัฐสภา 2 ด้าน ได้แก่ ประตูด้านหน้าถนนสามเสนทางเข้าอาคารวุฒิสภา และประตูด้านข้างที่ถนนทหาร นอกจากนี้ยังมีการเตรียมเรือเร็ว 3 ลำ จากตำรวจน้ำ และประสานกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมเรือลำเลียงพลหากมีการปิดล้อมประตูทางเข้า-ออกทั้งสองด้านของรัฐสภา

Wasawat Lukharang/BBC Thai

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายกรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

นายนภนพัฒน์ หวังไพสิฐ จากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "นักเรียนเลว" กล่าวปราศรัยในหัวข้อ " รัฐธรรมนูญที่เยาวชนต้องการและสิทธิเยาวชนที่ขาดหายไป" วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีการกำหนดเรื่องสิทธิของเยาวชน และเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐรรมนูญผ่าน ส.ส.ร. ด้วย

thai news pix

ที่มาของภาพ, Thai news pix

นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ นักศึกษาจากกลุ่มประชาลาดกล่าวว่าส.ว. 250 คนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 "มีปัญหา" เพราะ คสช. เป็นผู้คัดเลือกเอง พร้อมกับตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและการทำหน้าที่ของ ส.ว.ที่ผ่านมาว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ ส.ว. ตรวจสอบพฤติกรรมการทุจริตของนักการเมือง การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมือง เป็นต้น

นายสหรัฐ จันทสุวรรณ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ปราศรัยถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ว. กับฝ่ายตุลาการว่าตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา สถาบันตุลาการได้เปลี่ยนบทบาทจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นทางการเมือง หรือเรียกว่า "ระบอบตุลาการภิวัฒน์" ซึ่งได้ทำลายอำนาจความชอบธรรมของประชาชน สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เช่น การยุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการ "ดับความฝันของคนหลายล้านคนที่ต้องการมีอนาคตที่ดี"

กิจกรรมสุดท้ายของผู้ชุมนุม "คณะประชาชนปลดแอก" หน้ารัฐสภา เป็นการโยนใบลาออกของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าไปด้านในรั้วสภา

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/bbc thai

คำบรรยายภาพ, กิจกรรมสุดท้ายของผู้ชุมนุม "คณะประชาชนปลดแอก" หน้ารัฐสภา เป็นการโยนใบลาออกของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าไปด้านในรั้วสภา