นักเตะบาห์เรน : สมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลก กดดันไทยให้ปล่อย "ฮาคีม" กลับออสเตรเลีย หลังถูกควบคุมตัวเกือบ 2 เดือนแล้ว

ฮาคีม ถูกควบคุมตัว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, "ถึง จานนี อินฟานติโน คุณอยู่ไหน ฟีฟ่าอยู่ไหน สิทธิมนุษยชนของผมอยู่ไหน"

สมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลก (World Players Association) ร่วมกดดันทางการไทยให้ปล่อยตัว ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ที่กำลังลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลีย หลังถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้นานเกือบ 2 เดือน และอาจถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน

ด้าน ฮาคีม ได้ฝากข้อความถามหา ประธานฟีฟ่า และสิทธิมนุษยชนของเขา

นายเบรนดัน ชวาบ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลก ซึ่งกำลังรณรงค์ช่วยเหลือ ฮาคีม ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในกรุงลอนดอนของอังกฤษ กล่าวกับ บีบีซีไทยว่า อยากเห็นสมาคมฟุตบอลไทยเป็นแบบอย่างที่ดี ในการดำเนินการเพื่อช่วยให้มีการปล่อยตัวฮาคีม

ปัจจุบันนี้ นายฮาคีม ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย และกำลังทำงานเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่นั่น แต่เขาถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ 27 พ.ย. 2561 หลังจากเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อมาท่องเที่ยวกับภรรยาเพื่อฉลองการแต่งงาน

นายชวาบ กล่าวว่า การควบคุมตัวนายฮาคีมของทางการไทยเป็นการทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นจากปัญหาเกี่ยวกับการออกหมายแดงขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับผู้ลี้ภัย เพราะเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลียแล้ว และเมื่ออินเตอร์โพลได้ถอนหมายนั้นแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมในการควบคุมตัวฮาคีมไว้

จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ระบุว่า หลังเกิดเหตุ อินเตอร์โพล ได้ถอนหมายจับนายอัล อาไรบี แล้ว แต่เขาถูกทางการไทยปฏิเสธไม่ยอมให้เขาเดินทางกลับออสเตรเลีย

นายอัล อาไรบี ขณะถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ที่มาของภาพ, BAHRAIN INSTITUTE FOR RIGHTS AND DEMOCRACY

คำบรรยายภาพ, นายอัล อาไรบี ขณะถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ "หมายแดง" เป็นคำร้องเฉพาะกาลเพื่อขอให้จับบุคคลที่อยู่ระหว่างการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งจะได้รับการประกาศโดยเลขาธิการองค์การตำรวจสากล ตามคำร้องของประเทศสมาชิก ซึ่งคำร้องดังกล่าวจะต้องอยู่บนฐานของการออกหมายจับระดับประเทศที่ถูกต้อง

นายชวาบ ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ว่า ทุกวันที่ฮาคีมถูกควบคุมตัวอยู่ เป็นวันที่วงการฟุตบอลล้มเหลวต่อคำมั่นสัญญาเรื่องสิทธิมนุษยชน และติดแฮชแท็ก #SaveHakeem

ข้าม Twitter โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

นายชวาบ กล่าวว่า "เราอยากเห็นทางการไทย แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติที่รักสันติ และสมาคมฟุตบอลไทยเป็นแบบอย่างที่ดีของโลก และแสดงความเป็นผู้นำในการช่วยให้มีการปล่อยตัวฮาคีม เพื่อที่เขาจะได้กลับไปยังออสเตรเลีย"

ต้องกดดันอย่างหนัก

แม้ว่า มารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ได้เดินทางมาไทยเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อเจรจาเกี่ยวกับกรณีของฮาคีมแล้ว แต่นายชวาบเห็นว่า ยังไม่เพียงพอ

"บาห์เรนแสดงความมุ่งมั่นในการนำตัวฮาคีมกลับไปอย่างชัดเจน แต่เขาดูเหมือนจะตกเป็นเหยื่อของตำรวจ และการควบคุมตัวที่ไม่ยุติธรรม และอาจจะมีการทรมานด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกดดัน และการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราอยากเห็นฟีฟ่า และสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย โดยเฉพาะชีค ซัลมาน บิล อัล คาลิฟา ประธานสมาพันธ์ฯ ใช้อำนาจที่มีในการทำให้สมาคมฟุตบอลบาห์เรน และสมาคมฟุตบอลไทยรู้ว่า ถ้าต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวฟุตบอล ก็จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีข้อแม้"

ปัจจุบัน นายอัล อาไรบี เป็นนักฟุตบอลในทีม Pascoe Vale FC ในเมืองเมลเบิร์น

ที่มาของภาพ, BAHRAIN INSTITUTE FOR RIGHTS AND DEMOCRACY

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบัน นายอัล อาไรบี เป็นนักฟุตบอลในทีม Pascoe Vale FC ในเมืองเมลเบิร์น

ฮาคีม ถามหา ประธานฟีฟ่า

ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลก กล่าวว่า นายเครก ฟอสเตอร์ ซึ่งเป็นอดีตนักฟุตบอลชั้นนำ และเป็นอดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลีย เพิ่งได้พบกับฮาคีมเมื่อวันที่ 22 ม.ค. และยังอยู่กับนายฮาคีมที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการทำหน้าที่แทนผู้เล่นกีฬาอาชีพทั่วโลกได้อย่างยอดเยี่ยม

โดยนายเครก ได้ทวีตข้อความพร้อมกับคลิปวิดีโอสั้น ๆ หลังพบกับนายฮาคีม เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ว่า "ข้อความจากฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลและผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายออสเตรเลีย ซึ่งกำลังถูกควบคุมตัวอย่างไม่ถูกต้อง ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สิทธิมนุษยชนของเขาในฐานะของผู้ลี้ภัย ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้รอดชีวิตจากการถูกทรมาน กำลังถูกละเมิดอย่างร้ายแรง นี่คือข้อความที่เขาส่งถึง ประธานฟีฟ่า จานนี อินฟานติโน"

ข้าม Twitter โพสต์ , 2
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 2

ในคลิปวิดีโอนายฟอสเตอร์ได้อ่านข้อความของนายฮาคีมซึ่งมีใจความว่า "ถึง จานนี อินฟานติโน คุณอยู่ไหน ฟีฟ่าอยู่ไหน สิทธิมนุษยชนของผมอยู่ไหน"

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมาฟีฟ่า ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ทางการที่เกี่ยวข้อง (ทั้งบาห์เรน, ไทย และออสเตรเลีย) ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจว่า นายฮาคีม อัล อาไรบี ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับออสเตรเลีย อย่างปลอดภัย ซึ่งเขาจะได้ทำงานในฐานะนักฟุตบอลอาชีพต่อไปได้

นายชวาบ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า "เขา (ฟอสเตอร์) บอกว่า ฮาคีม มีกำลังใจดี และนั่นทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น และฮาคีมจำเป็นต้องรู้ว่า เขามีผู้เล่นอาชีพ 85,000 ของสมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลกสนับสนุนเขาอยู่ เขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เราต้องทำในสิ่งที่จะทำให้เขามั่นใจได้ว่าเขาจะปลอดภัย"

นายชวาบ เห็นว่าการที่หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่ามาจากบาห์เรน จะเป็นการดีต่อการช่วยเหลือฮาคีม แม้ว่าชีค ซัลมาน บิน อัล คาลิฟา ซึ่งเป็นรองประธานอาวุโสฟีฟ่า และประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ยังไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชนที่แสดงให้เห็นว่า ฮาคีม ควรได้เดินทางกลับออสเตรเลีย

"เพราะฟีฟ่า มีพันธะสัญญาทางยุทธศาสตร์ต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ฟีฟ่า ได้ประกาศแล้วว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ฮาคีมต้องกลับไปยังออสเตรเลีย และชีค ซัลมาน ต้องทำหน้าที่ของเขา และนั่นหมายถึง การล็อบบี้อย่างหนัก และใช้อำนาจที่มีสูงสุดเพื่อช่วยฮาคีมกลับออสเตรเลีย" นายชวาบ กล่าวกับ บีบีซีไทย

ฮาคีม คือใคร?

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลว่า ฮาคีมได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี จากการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมในบาห์เรนเมื่อปี 2014 ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถูกคุกคามหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะในฐานะที่เคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ เขาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบาห์เรน ที่ซ้อมทรมานนักฟุตบอลซึ่งเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วง โดยตัวเขาเองถูกจับกุมในเดือนพ.ย. 2012 และถูกซ้อมทรมานเช่นกัน

ข้าม Twitter โพสต์ , 3
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 3

นับจากนั้นมา เขาได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลว่ามีการทรมานตัวเขา โดยระบุว่า "พวกเขาปิดตาผม (...และ) ตีที่ขาของผมอย่างแรง และบอกว่า 'คุณจะไม่มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลอีก เราจะทำลายอนาคตของคุณ'" อันเป็นเหตุให้ฮาคีมหลบหนีไปออสเตรเลีย และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในปี 2017

เขาได้รับแจ้งเมื่อเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ว่า จะถูกส่งตัวกลับไปบาห์เรน ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะทำให้เขาถูกคุมขังและทรมาน

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในการส่งตัวบุคคลกลับไปยังดินแดนใด ๆ ที่มีแนวโน้มว่าบุคคลผู้นั้นมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะถูกทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

คำบรรยายวิดีโอ, ฮาคีม อัล อาไรบี นักเตะเชื้อสายบาห์เรนที่ถูกไทยควบคุมตัวคือใคร?

ฮาคีม เป็นนักฟุตบอลอาชีพที่เมืองเมลเบิร์น ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ในช่วงระหว่างรอการไต่สวนเพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังบาห์เรน หลังถูกจับกุม ฮาคีมและภรรยาได้ถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูในวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค. และในวันที่ 3 ธ.ค. ปีที่แล้ว เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลและศาลสั่งให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างถูกนำตัวกลับไปศูนย์กักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู เจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้