เปิดคำถามจาก “พรรคเก่า” ที่ กกต. ยังไร้คำตอบ

กกต.เรียกประชุมพรรคการเมือง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีผู้แทนจากพรรคการเมือง 55 พรรค รวม 308 คน เข้าร่วมการประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินกิจการพรรคการเมืองจาก กกต.

แกนนำพรรคการเมืองเก่าประสานเสียงเรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกการเมือง เพื่อให้พรรคจัดประชุมและทำกิจกรรมได้ ขณะที่ กกต. ไร้คำตอบได้หย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อไร ชี้ "ทุกคนรู้เท่า ๆ กัน"

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 โดยมีผู้แทนจาก 55 พรรค รวม 308 คน เข้าร่วม

การจัดเวทีครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเปิดทางให้กลุ่มบุคคลยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา และจะผ่อนคลายให้พรรคการเมืองเก่าดำเนินการทางธุรการได้ใน 1 เม.ย. เป็นต้นไป โดยเฉพาะการยืนยันสถานะการเป็นสมาชิกพรรคใหม่ หรือ "รีเซ็ต" พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้งซึ่งรัฐบาล คสช. เคยระบุว่าจะเกิดขึ้นภายใน ก.พ. 2562

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ภายใน 1 ปี พรรคต้องหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คนขึ้นไป และภายใน 4 ปี ต้องหาสมาชิกให้ได 10,000 คนขึ้นไป

แต่ถึงอย่างนั้น มี "ปัจจัยแทรกซ้อน" ที่อาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีก ทั้งกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และกรณีรัฐบาลอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าอาจยื่นตีความร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่ามีความไม่ชอบมาพากล โดยผู้เขียนกฎหมายเขียนกฎหมายให้คลุมเครือและมีตำหนิ ส่อเจตนาให้เกิดปัญหาไม่ราบรื่นและกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมกรรมการบริหารพรรครวม 7 คน ร่วมประชุมกับ กกต.

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมกรรมการบริหารพรรครวม 7 คน ร่วมประชุมกับ กกต.

ทำให้แกนนำพรรคการเมืองขนาดเล็ก 2 พรรคตั้งคำถามขึ้นมากลางวงประชุมว่า "จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร" และ "เดือน ก.พ. นี้ได้เลือกตั้งแน่นอนหรือไม่" ทว่าทีมงาน กกต. นำโดยนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ปฏิเสธจะตอบคำถามนี้ โดยบอกเพียงว่า "ไม่อาจตอบได้ เพราะทุกคนก็รู้เท่า ๆ กัน" และ "ขึ้นอยู่กับข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2556 (พรรคการเมืองประชุมร่วมกับ คสช. กกต. ประธาน กรธ. และประธาน สนช. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง)"

ขณะที่ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเห็นว่า ที่ทุกพรรคต้องมานั่งประชุมกันวุ่นวาย เพราะ คสช. ไม่ยอมยกเลิกประกาศหัวหน้า คสช. ที่ 57/2557 ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้การทำกิจกรรมของพรรคการเมืองสับสนและซับซ้อน ต้องมาแก้ไขปัญหาแบบ "งูกินหาง" ไปเรื่อย ๆ จึงเรียกร้องให้ กกต. ไม่เป็นเพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่เป็น "คณะกรรมการกล้าตาย" เสนอเรื่องปลดล็อกการเมืองไปยัง คสช. ด้วย อย่างไรก็ตามผู้แทน กกต. กล่าวตอบว่า "ขอบคุณในคำแนะนำ แต่คงปฏิบัติไม่ได้ เพราะคนที่พยายามจะทำก็ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วครับ" เรียกเสียงฮือฮาในผู้ร่วมประชุม

พรรคเพื่อไทยนำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ขวาสุด)

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พรรคเพื่อไทยนำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ขวาสุด) ตั้งเป้าหาสมาชิกพรรคให้ได้เขตเลือกตั้งละ 100 คน หรือคิดเป็น 35,000 คน

ส่วนคำถามอื่น ๆ ของพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นการแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนของสมาชิกพรรคภายในเวลา 30 วัน เพราะถ้าดำเนินการไม่ทัน ฐานสมาชิกจะถูกตัดเท่าที่แต่ละพรรคสามารถยืนยันตัวตนได้เท่านั้น ซึ่งรองเลขาธิการ กกต. ได้ยอมรับด้วยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ที่ออกมาเพื่อให้ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่ามีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเท่ากัน แท้จริงแล้วเป็นการทำให้พรรคเก่าเสียเปรียบมากกว่า

บีบีซีไทยรวบรวมบางคำถามจากพรรคการเมืองเก่าที่ไร้คำตอบจากผู้แทน กกต. ไว้ ดังนี้

คำถามจาก "พรรคเก่า" ที่ไร้คำตอบจาก กกต.

  • ประชาธิปัตย์ : สามารถให้สมาชิกพรรคยืนยันการเป็นสมาชิก โดยชำระค่าบำรุงภายใน 4 ปีตามที่ พ.ร.ป. พรรคการเมือง กำหนดไว้ได้หรือไม่ ไม่ใช่ชำระภายใน 30 วันตามมติ กกต.
  • ประชาธิปปัตย์ : ให้หัวหน้าพรรครับรองว่าสมาชิกพรรคได้รับรองคุณสมบัติตัวเอง แทนการให้หัวหน้าพรรครับรองคุณสมบัติของสมาชิกพรรคได้หรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่หัวหน้าจะรู้คุณสมบัติสมาชิกทุกคน
  • เพื่อไทย : คำสั่ง คสช. ให้ยุบสาขาพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง กำหนดให้มีการประชุมเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค แต่พรรคประชุมกันไม่ได้ จะให้ทำอย่างไร
  • ประชาธิปไตยใหม่ : เป็นไปได้หรือไม่ในการงดใช้ระบบไพรมารีในการเลือกตั้งครั้งแรก
แกนนำพรรคภูมิใจไทย

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, แกนนำพรรคภูมิใจไทย

สำหรับพรรคที่มีฐานสมาชิกพรรคมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ จำนวนกว่า 2.89 ล้านคนทั่วประเทศ จะเปิดให้สมาชิกพรรคยืนยันการเป็นสมาชิกผ่านแอปพลิเคชัน D-Connect ที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. นี้

ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งมีสมาชิกพรรค 1.34 แสนคน นัดหมายให้อดีต ส.ส. ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคก่อนเป็นกลุ่มแรก ในวันที่ 4 เม.ย. ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ก่อนให้อดีต ส.ส. ไปรวมรวมรายชื่อสมาชิกพรรคในพื้นที่มาส่งที่พรรค โดยในวันดังกล่าวพรรคจะเปิดโอกาสให้อดีต ส.ส. เข้ารดน้ำดำหัวขอพรแกนนำพรรค ท่ามกลางข่าวลือเรื่องอดีต ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มวาดะห์" อาจแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ จึงถือเป็นการ "เช็คเสียง" ส.ส. ไปในตัว

ในระหว่างการประชุม มี "ชายหัวเกรียน" และทหารในเครื่องแบบหลายนายร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ในระหว่างการประชุม มี "ชายหัวเกรียน" และทหารในเครื่องแบบหลายนายร่วมสังเกตการณ์ด้วย