ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง": ยูเอ็น-ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำทันที

แกนนำผู้ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ภาพสุดท้ายของนายรังสิมันต์ นายสิรวิชญ์ และนายปิยรัฐ ที่ชูสัญลักษณ์ "ต่อต้านเผด็จการ" หลังประกาศยุติการชุมนุมหน้า มธ. ท่าพระจันทร์

การชุมนุมของนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ยุติลงแล้วในเวลา 15.38 น. หลังผ่านมากว่า 6 ชั่วโมง เมื่อแกนนำคนสำคัญประกาศมอบตัวและยุติการจัดกิจกรรม ขณะที่บางส่วนถูกควบคุมตัวระหว่างนำมวลชน "ดาวกระจาย" ไปอ่านแถลงการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถูกประกาศให้เป็น "เขตควบคุมพิเศษ" ห้ามเข้าใกล้ในรัศมี 50 เมตร ในวาระ 4 ปีรัฐประหาร

เวลา 15.38 น. แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ปักหลักอยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้ประกาศมอบตัวทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายปิยรัฐ จงเทพ พร้อมขอให้ประชาชนยุติกิจกรรมและเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้นายรังสิมันต์ให้เหตุผลว่า "เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก"

ก่อนเดินไปขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ทำสัญลักษณ์ "ชูสามนิ้ว" โดยบอกว่า "ขอให้สัญลักษณ์นี้คงอยู่ตลอดไปเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร"

การประกาศมอบตัวของแกนนำชุดนี้เกิดขึ้น หลังพวกเขาแจ้งผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่บริเวณ มธ. ให้ตั้งแถวหน้ากระดานเรียงสาม แล้วช่วยกันผลักดันแนวกั้นรั้วเหล็กของตำรวจตรงด่านสกัดบริเวณถนนหน้าพระธาตุ เพื่อจะได้เคลื่อนไปสมทบกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายอานนท์ นำภา น.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ที่เคลื่อนขบวนแบบ "ดาวกระจาย" ไปถึงบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นเล็กน้อยเมื่อผู้ชุมนุมกับตำรวจปะทะกัน โดยมีผู้ชุมนุม 1-2 คนที่รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากเตนท์ถล่มใส่ ขณะที่ตำรวจประกาศเตือนว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ผิดกฎหมาย ซึ่งได้เก็บหลักฐานไว้หมดแล้วเพื่อดำเนินคดีในภายหลัง

จ่านิว

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ในอีกด้านหนึ่ง เวลา 15.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมแกนนำผู้ชุมนุม 5 คน จากบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ หลังทั้งหมดได้ต่อรองขออ่านแถลงการณ์ถึงความล้มเหลวในการดำเนินงาน 4 ปีของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีเนื้อหา 5 ข้อจนจบ โดยจุดนี้นายตำรวจระดับสูงของบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ชี้ว่าเป็น "จุดแตกหัก" จึงจัดเตรียมกองกำลังตำรวจคอยดูแลพื้นที่ไว้ 3 กองร้อย หรือ 450 นาย

เมื่อแกนนำทั้ง 2 จุดถูกควบคุมตัวไป ทำให้การชุมนุมยุติลงโดยปริยายและไม่สามารถเดินทางไปถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบฯ ได้ตามแผนที่แกนนำประกาศไว้ หลังเคลื่อนขบวนออกจาก มธ. ในเวลา 09.00 น. เนื่องจากติดด่านสกัดกั้นและกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 20 กองร้อย หรือราว 3,000 นาย ซึ่งกระจายกำลังกันดูแลพื้นที่ตลอดระยะทาง 3 กิโลเมตร จาก มธ. ถึงทำเนียบฯ

กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายอานนท์ นำภา (ขวา) น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว (ตรงกลาง) เป็นผู้นำประชาชนเคลื่อนไปชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ บริเวณที่ตำรวจชี้ว่าเป็น "จุดแตกหัก"

ดำเนินคดี 5 ข้อหา 15 คนอยากเลือกตั้ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า แกนนำและแนวร่วมรวม 15 คนถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจนครบาล (สน.) 2 แห่ง โดยผู้ชุมนุมหน้า มธ. ถูกคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม 5 คน ประกอบด้วย 1. นายรังสิมันต์ โรม 2. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3. นายปิยรัฐ จงเทพ และ 4. นายนิกร วิทยาพันธุ์

ส่วนผู้ชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไท รวม 10 คน ในจำนวนนี้เป็นแกนนำ 5 คน ประกอบด้วย 1. นายอานนท์ นำภา 2. น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว 3. น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา 4. นายเอกชัย หงส์กังวาน 5. นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ

เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนตรึงกำลังท่ามกลางสายฝน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนตรึงกำลังท่ามกลางสายฝน

เย็นวันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้เดินทางไปพูดคุยกับพนักงานสอบสวนในทั้ง 2 สน. ก่อนเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปหรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ในส่วนของนายนิกร ซึ่งเป็นผู้ใช้คีมตัดแม่กุญแจ ประตู 3 มธ. ต้องรอให้อธิการบดีม มธ. แจ้งดำเนินคดีก่อน ถึงจะสามารถแจ้งข้อหาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

พล.ต.อ.ศรีวราห์ระบุว่า ภายหลังสอบสวนแกนนำเสร็จ จะคุมตัวไปขออำนาจศาลเพื่อทำการฝากขัง โดยพนักงานสอบสวนจะคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากก่อเหตุลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้ง 15 คนถูกแจ้ง 5 ข้อหา ซึ่งนอกจาก 3 ข้อหาที่รอง ผบ.ตร. ระบุ ยังมีอีก 2 ข้อหาคือ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 และข้อหาผิด พ.ร.บ. จราจรทางบก

ยูเอ็น-ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องปล่อยตัวไร้เงื่อนไข

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้โดยพลัน และระบุด้วยว่า สำนักงานฯ ได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลไทยเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง

เช่นเดียวกับ ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยถอนฟ้องและปล่อยตัวนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย 14 คนทุกคดีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

"การจับกุมนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบ และต้องการให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยไม่มีเจตนาผ่อนคลายมาตรการจำกัดสิทธิต่าง ๆ" นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวและว่า การขัดขวางการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ทำให้เห็นว่าคำสัญญาที่ให้ไว้เองของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในไทยเป็นเรื่องเหลวไหล

นายอดัมส์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกควรกดดันรัฐบาลทหารให้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน และเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถรวมตัวกันและแสดงวิสัยทัศน์ที่มีต่ออนาคตของประเทศตนเองได้

คนอยากเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ 22 พ.ค. 2561

  • 15.38 น. แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ปักหลักชุมนุมหน้า มธ. ประกาศมอบตัว ทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายปิยรัฐ จงเทพ พร้อมขอให้ประชาชนยุติกิจกรรมและเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้นายรังสิมันต์ให้เหตุผลว่า "เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก" ขณะที่นายสิรวิชญ์อ่านข้อสุดท้ายในแถลงการณ์ โดยกล่าวว่าขอให้เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต่อต้านเพื่อโค่นล้ม คสช. ให้ได้ในอนาคต"
  • 15.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุม 5 คนจากบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้แก่ นายอานนท์ นำภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ซึ่งทั้งหมดได้เดินขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหา หลังอ่านแถลงการณ์ 5 ข้อถึงรัฐบาล คสช. โดยยังไม่มีรายงานว่าจะนำตัวไปที่ใด ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะประกาศให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ยุติการชุมนุม และเปิดเส้นทางจราจร
  • 15.05 น. ตำรวจประกาศให้แกนนำการชุมนุมหน้า มธ. ยุติการจัดกิจกรรมทันที เพราะทำผิดกฎหมายด้วยการพยายามทลายแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันตำรวจชุดควบคุมฝูงชนถูกเรียกเข้ามาเสริมในพื้นที่ ทั้งนี้ผลจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้เกิดการเจรจารอบ 3 ระหว่างนายรังสิมันต์ กับผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ใช้เวลาราว 10 นาที โดยนายรังสิมันต์ยื่นเงื่อนไขว่าแกนนำทั้งหมดพร้อมมอบตัว เพื่อแลกกับการที่ตำรวจเปิดทางให้ประชาชนไปรวมกับมวลชนอีกจุด เพื่อร่วมกิจกรรมอ่านแถลงการณ์หน้าทำเนียบฯ
กลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งปะทะกับตำรวจที่ถนนราชดำเนินก่อนเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามเข้าควบคุมตัวแกนนำบริเวณเชิงสะพานมัฆวานฯ

ผู้ร่วมชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

  • 14.41 น. นายรังสิมันต์ โรม แจ้งผู้ชุมนุมหน้า มธ. ว่าตำรวจที่เป็นคู่เจรจาของเขา "ขาดการติดต่อ" ไปแล้ว ขณะที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งบางส่วน นำโดยนายอานนท์ นำภา และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว เดินเท้าใกล้ถึงทำเนียบฯ แล้ว จึงประกาศให้ประชาชนที่เหลือตั้งแถวหน้ากระดานเรียงสาม ก่อนประกาศให้ประชาชนช่วยกันผลักดันแนวกั้นตำรวจ ขณะที่ตำรวจก็ประกาศเตือนว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ผิดกฎหมาย ตำรวจได้เก็บหลักฐานไว้หมดแล้วจะดำเนินคดีในภายหลัง
  • 14:30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุม เจรจาขอทำกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมองว่าไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อว่าเมื่อทำกิจกรรมดังกล่าวเสร็จจะยุติการชุมนุม
  • 13.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงที่ทำเนียบฯ ถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมเรียกร้องให้เลือกตั้งในเดือน พ.ย. นี้ว่า เรียกร้องก็เรียกร้องไป กฎหมายมีอยู่ กฎหมายชุมนุมว่าอย่างไร ส่วนโรดแมปเลือกตั้งเป็นไปตามที่เคยระบุต้นปี 2562 ไม่เร็วกว่านั้น และเหตุที่ช้า 3-4 เดือนนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย
ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนเผชิญหน้ากับตำรวจบริเวณด่านตรวจสกัดถนนหน้าพระธาตุ หน้า มธ.

ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ในระหวางที่ผู้ชุมนุมออกแรงดันแผงเหล็กกั้นของฝ่ายตำรวจ เตนท์ของฝ่ายผู้ชุมนุมที่นำมาติดตั้งในช่วงฝนตกได้พังถล่มลงมา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

  • 13.40 น. นายรังสิมันต์แถลงผลการเจรจากับตำรวจว่าได้เสนอให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกด่านตรวจสกัดบริเวณถนนหน้าพระธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้เคลื่อนไปรวมกับผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากขณะนี้เป็นห่วงเรื่องการไม่สามารถควบคุมมวลชนที่ "ดาวกระจาย" ไปหลายจุด ขณะนี้รอผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม นำผลการหารือรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อตัดสินใจต่อไป อย่างไรก็ตามยืนยันไม่ยุติการชุมนุมอย่างเด็ดขาด เนื่องจากประชาชนหลายคนมาจากต่างจังหวัด หากวันนี้ยังถูกสกัดกั้นไม่ให้เคลื่อนขบวนไปถึงทำเนียบฯ การชุมนุมยืดเยื้อค้างคืนก็เป็นไปได้
  • 13.30 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกลุ่มเล็ก ๆ นำโดยนายอานนท์ นำภา และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้เดินออกจากพื้นที่ชุมนุมหลัก มุ่งหน้าถนนราชดำเนิน
  • 13.30 น. โลกโซเชียลให้ความสนใจการชุมนุมครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดย #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็น แฮชแท็กอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์มาแล้วกว่า 5 ชั่วโมง
  • 13.00 น. นายรังสิมันต์ โรม เปิดเจรจากับตำรวจรอบ 2 พ.ต.อ. จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการ สน. ชนะสงคราม ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ตกลงเรื่องการจัดกิจกรรม ใช้เวลาราว 30 นาที
กลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นด้วยแผงเหล็ก

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นด้วยแผงเหล็ก

  • 11:45 น. สื่อมวลชนรายงานว่า พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษก คสช. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงว่าทีมกฎหมายของ คสช. ได้เข้าแจ้งความเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) ให้พนักงานสอบสวน สน. ชนะสงคราม ดำเนินการกับแกนนำ 5 คน ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ นายสิรวิชญ์ นายปิยรัฐ น.ส.ณัฏฐา และนายเอกชัย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน กรณีจัดกิจกรรมการชุมนุมที่ มธ. เย็นวันที่ 21 พ.ค.
  • 11:00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักบริเวณหน้า มธ. ขณะที่ฝนยังคงตกลงมาอย่างหนัก
  • 10.45 น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว เป็นลมทรุดตัวลงกับพื้น ทำให้แกนนำคนการชุมนุมคนอื่น ๆ ต้องตะโกนขอน้ำ กับยาดม เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งนี้นายสิรวิชญ์บอกกับบีบีซีไทยว่าอากาศร้อน และไม่ได้รับประทานอะไรตั้งแต่เช้า อีกทั้งเมาท่อไอเสียรถเครื่องขยายเสียง แต่หลังจากได้รับการปฐมพยาบาลก็กลับมาปราศรัยได้ตามปกติ
ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

  • 10.40 น. เกิดเหตุชุลมุนขึ้นเล็กน้อยหน้า มธ. เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมล้อมตำรวจอยู่ด้านนอกบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ตลบหลังกลับมา โดยพยายามฝ่าแนวกั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรงด่านสกัดถนนหน้าพระธาตุเพื่อเข้ามาสมทบกับผู้ชุมนุมกลุ่มหลักตามที่แกนนำการชุมนุมประกาศผ่านรถเครื่องขยายเสียง จนเกิดการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง เมื่อตำรวจยอมเปิดทางให้ผู้ชุมนุมจากด้านนอกเข้ามาบริเวณหน้า มธ.
  • 10.13 น. รถกู้ชีพฉุกเฉินมาถึงหน้า มธ. รับผู้ป่วย ขณะที่ตำรวจได้กล่าว "ขออภัยที่ขาดการติดต่อประสานงาน"
  • 10.05 น. นายรังสิมันต์เรียกร้องให้ตำรวจเปิดทาง แล้วส่งรถพยาบาลเข้ามาโดยด่วน พร้อมประกาศเชิญชวนประชาชนกลับมาตั้งแถว เพื่อร่วมกันฝ่าแนวกั้นตำรวจพาคนป่วยไปโรงพยาบาล และรุกไปประชิดติดแนวกั้นตำรวจมากขึ้น ซึ่งแถวหน้าเปลี่ยนจากตำรวจหญิงเป็นตำรวจชาย ขณะที่ตำรวจประกาศเตือนว่าอย่ายั่วยุให้เกิดความรุนแรง และได้บันทึกเสียงไว้หมดแล้ว
  • 09.57 น. แนวร่วมการชุมนุมหญิงวัยประมาณ 40 ปี เป็นลมหมดสติ โดยได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่สติไม่คืนมา
นายรังสิมันต์ โรม แกนนำผู้ชุมนุมโบกธงชาติ ระหว่างการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายรังสิมันต์ โรม แกนนำผู้ชุมนุมโบกธงชาติ ระหว่างการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

  • 09.34 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เดินทางมารับเรื่องราวร้องเรียนแล้ว แต่แกนนำผู้ชุมนุมตอบโต้ผ่านรถขยายเสียงกลับไป พร้อมยืนยันจะไปจัดกิจกรรมที่ทำเนียบฯ เท่านั้น
  • 09.08 น. นายรังสิมันต์ โรม เปิดเจรจากับตำรวจเพื่อขอผ่านด่านสกัดมุ่งสู่ทำเนียบฯ แต่การเจรจาไม่เป็นผลหลังผ่านไปราว 30 นาที การเจรจาจึงยุติลง
  • 08.50 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนขบวนออกจากรั้ว มธ. ซึ่งต้องหยุดจัดรูปขบวนอยู่นาน เพราะห่างไปไม่ถึง 100 เมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวสกัดเป็นแนว "กำแพงมนุษย์" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเป็นแถวหน้า พร้อมเปิดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนกลับบ้าน เพราะกำลังทำผิดกฎหมาย ต่างฝ่ายจึงต่างยันกันอยู่บนรถขยายเสียงของตน
ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

  • 08.15 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ระบุ ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกจาก มธ. "เขาไม่ออกหรอก เขาจับอยู่แล้ว ออกมาไม่ได้"
  • 08.10 น. ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงแจ้งประชาชนภายใน มธ. ว่าการเคลื่อนขบวนผิดกฎหมาย และศาลปกครองได้ "ยกคำร้อง" ขอคุ้มครองชั่วคราวตามที่แกนนำผู้ชุมนุมยื่นคำร้อง จึงขอให้ประชาชนกลับบ้าน
  • 07.30 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เดินทางไปตรวจความเรียบร้อยในมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในทำเนียบรัฐบาล โดยคาดว่าจะมีผู้ชุมนุมไม่เกิน 200 คน ขณะที่ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินขบวน แต่ให้อะลุ่มอล่วยเท่าที่จะทำได้ และสำหรับเจ้าหน้าที่ แม้แต่โล่กับกระบองก็ไม่มี
  • 06.30 น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประกาศต่อผู้ชุมนุม ยืนยันเคลื่อนขบวนจาก มธ. ท่าพระจันทร์ มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ตามนัดหมายเวลา 09.00 น.
  • 05.30 น. พล.ต.ต. ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง ผบช.น. มอบนโยบายการปฏิบัติและปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 8 กองร้อย บริเวณประตู 5 ทำเนียบฯ โดยระบุว่า ผบช.น. ได้ประกาศให้ทำเนียบฯ เป็น "เขตควบคุมพิเศษ" อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ห้ามฝ่าฝืนเข้ามาในรัศมี 50 เมตร พร้อมเผยว่าจะใช้กำลังตำรวจในปฏิบัติการทั้งสิ้น 22 กองร้อย
ตำรวจยืนเรียงแถวประตูมธ.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจยืนเรียงแถวบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

4 ปีรัฐประหาร: กลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" เคลื่อนออกจาก มธ.

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือผู้ชุมนุมหญิงวัยประมาณ 40 ปีที่เป็นลมหมดสติ

ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

ศาลปกครองยกคำร้องขอคุ้มครองการชุมนุม

ก่อนหน้านี้ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายรังสิมันต์ โรม ซึ่งเป็นสองแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เมื่อเวลา 02.00 น. ว่าศาลปกครองมีคำสั่งให้ "ไม่รับคำร้อง" ขอคุ้มครองชั่วคราว หลังแกนนำฯ ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน กรณี พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) สั่งการด่วนถึงผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ในฐานะเจ้าของพื้นที่แจ้ง "ไม่อนุญาต" ให้ชุมนุมตามที่แกนนำการชุมนุมทำหนังสือขอไว้เมื่อ 17 พ.ค. พร้อมขู่ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยนายรังสิมันต์บอกว่า "ระยะเวลาในการดำเนินการมันกระชั้นชิดมาก ก็ถือว่าเราต้องวัดใจกัน"

แต่ผ่านมาจนถึงเวลา 07.45 น. ทางแกนนำยังไม่ได้แจ้งคำสั่งศาลปกครองให้ผู้ชุมนุมรับทราบอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เหตุผลที่ศาลไม่รับคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าผู้แจ้งการชุมนุมไม่ได้ดำเนินการอุทธรณ์ตามขั้นตอนที่กำหนดใน พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ก่อนจะนำคดีมาฟ้องศาล เมื่อไม่รับฟ้องคดี จึงไม่ต้องพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราว ที่แนบมาด้วยแต่อย่างใด

ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง"

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ชิงประกาศให้ทำเนียบฯ เป็น "เขตควบคุมพิเศษ"

ด้าน พล.ต.ต. ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ประเมินกับบีบีซีไทยว่า มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนอนค้างคืนใน มธ. ราว 100 คน แต่คาดว่าจะมีมวลชนมาเติมในช่วงเช้าหลักร้อยคน หรืออาจแยกการเดินทางแบบ "ดาวกระจาย" เพื่อไปให้ถึงทำเนียบฯ จึงได้เตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 22 กองร้อย หรือ 3,300 นาย กระจายกำลังคุมพื้นที่บริเวณรอบ โดยประจำการทำเนียบฯ 8 กองร้อย มธ. 12 กองร้อย และเตรียมพร้อมในที่ตั้งอีก 2 กองร้อย

เวลา 05.30 น. พล.ต.ต. ภาณุรัตน์กล่าวมอบนโยบายการปฏิบัติและปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 8 กองร้อย บริเวณประตู 5 ทำเนียบฯ และระบุว่า ผบช.น. ได้ประกาศให้ทำเนียบฯ เป็น "เขตควบคุมพิเศษ" โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ผู้ใดฝ่าฝืนเข้ามาในรัศมี 50 เมตร ถือเป็น "ความผิดซึ่งหน้า" ตำรวจบังคับใข้กฎหมายได้ทันที โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

สำหรับกองกำลังตำรวจทั้ง 8 กองร้อย จะประจำการ 4 จุดหลัก ได้แก่ สวนมิสกวัน และสะพานมัฆวานรังสรรค์ จุดละ 3 กองร้อย สะพานอรทัย และสะพานชมัยมรุเชฐ จุดละ 1 กองร้อย ซึ่งรอง ผบช.น. ระบุว่า "จุดแตกหักสำคัญจะอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ ที่ต้องยันไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนเข้ามา"

เส้นทางเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม รอง ผบช.น. ย้ำเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติว่าผู้ชุมนุมไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ดังนั้นจะไม่ใช้ความรุนแรง แต่การดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนักตามแผน "แผนกรกฏ 52" โดยเริ่มต้นจากการเจรจา เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาแล้วเห็นว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมการเมือง ต้องขออนุญาต คสช. ก่อน

"เมื่อไม่ได้ขอ คสช. ก็เคลื่อนออกจาก มธ. ไม่ได้อย่างเด็ดขาด ทันทีที่พ้นจากรั้ว มธ. ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ออกสู่ถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะทันที ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมาย" รอง ผบช.น. กล่าว

นอกจากนี้ รอง ผบช.น. ยังโชว์ "กำไล" ที่เตรียมไว้ใช้กับผู้ชุมนุมในกรณีฝ่าฝืนเข้ามาในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบฯ ด้วย โดยบอกว่า "เตรียมไว้เพียงพอสำหรับทุกคนที่ฝ่าฝืนจะเข้าเขตทำเนียบฯ"

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ถือ "กำไล" ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืนเข้ามาในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบ

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ถือ "กำไล" ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืนเข้ามาในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบ

สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางออกจากบ้านพักเมื่อเวลา 08.00 น. มาทำงานโดยใช้เส้นทางปกติที่ใช้ประจำ โดยเลี้ยวเข้าทางสะพานชมัยมรุเชษฐ ผ่านประตู 1 ทำเนียบฯ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในทำเนียบฯ อย่างเข้มข้น โดย พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้เข้ามาสั่งการด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน การประชุม ครม. ก็ดำเนินไปตามปกติ

สำรวจคดี "คนอยากเลือกตั้ง" ในรอบ 115 วัน

ผ่านมา 115 วันนับจากมีการชุมนุมครั้งแรกของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่ลานสกายวอล์กเขตปทุมวัน กทม. เมื่อ 27 ม.ค. จนถึง 22 พ.ค. บีบีซีไทยสำรวจพบว่าทั้งแกนนำและแนวร่วมได้ถูกตั้งข้อหาคนละหลายกระทงในการจัดกิจกรรมตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา โดยทุกคดีที่เคลื่อนไหวในส่วนกลาง แกนนำจะถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย ซึ่งต้องระวางโทษสูงสุดด้วยการจำคุกไม่เกินเจ็ดปี นอกเหนือจากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และผิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ

ที่มา : บีบีซีไทยดัดแปลงจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน