เอนก เหล่าธรรมทัศน์: จาก “มหาชนโมเดล” สู่ “มหามิตรประยุทธ์” ?

เอนก กับสุเทพ

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นักวิชาการแนวร่วม กปปส. ชี้ "พรรคทางเลือกที่ 3" จะแจ้งเกิดได้ต้องอาศัยโมเดลพรรคมหาชน
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

นี่เป็นอีกครั้งที่เจ้าของทฤษฎี "สองนคราประชาธิปไตย" จะหวนคืนสู่เวทีการเมืองในฐานะหัวหน้า "พรรคทางเลือกที่ 3" ซึ่งนักวิชาการหน้าเวที กปปส. ระบุหากจะให้พรรคแจ้งเกิดได้ "กำนันสุเทพ" ต้องออกหน้า และใช้ "มหาชนโมเดล"

กระแสการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อมี "ข่าว(ไม่)ลับ" หลุดออกมาว่านายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความของนายสุเทพ จะเป็นตัวแทนเข้ายื่นขอจดจัดตั้งพรรคที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 25 พ.ค. โดยใช้ชื่อว่า "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" (รปช.)

เมื่อถึงวัน-เวลาตามนัดหมาย ทนายความของนายสุเทพก็นำรายชื่อคณะผู้ก่อตั้งพรรครวม 32 คนยื่นต่อ กกต. ในจำนวนนี้มีนายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพรวมอยู่ด้วย และเตรียมขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดประชุมพรรคครั้งแรก-พ่วงแถลงเปิดตัวพรรค ที่สวนลุมพีนี ในวันที่ 3 มิ.ย. (ต่อมา คสช. ไม่อนุญาตให้จัดประชุมในสถานที่สาธารณะ จึงเปลี่ยนไปเปิดตัวพรรคที่ ม.รังสิต)

แม้เป็นทนายความ แต่นายทวีศักดิ์ปฏิเสธว่าตัวเขาไม่ใช่ "นอมินี" ของ "ลุงกำนันแห่ง กปปส." เพราะสูงวัยถึง 75 ปีแล้ว จึงไม่รับคำสั่งใครให้มาจดจัดตั้งพรรค แต่ยอมรับว่าได้ปรึกษานายสุเทพ และในอนาคตอาจเชิญนายสุเทพมาร่วมเป็นสมาชิกพรรค-ให้คำปรึกษา

ทนายความสุเทพ
คำบรรยายภาพ, ตราสัญลักษณ์ของพรรคใช้สีธงไตรรงค์ เป็นรูปวงกลมคล้ายตราธรรมจักร ซึ่งผู้ก่อตั้งพรรคอธิบายว่าพรรคจะเชิดชูคุณธรรมจริยธรรม ส่วนภาพมือโอบอุ้มรอบ ๆ วงกลม เพื่อสื่อว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

ในรายชื่อผู้ก่อตั้งพรรค ยังไม่ปรากฏชื่อตัวเก็ง-เต็งจ๋าอย่าง ศ.พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์เจ้าของทฤษฎี "สองนคราประชาธิปไตย" ที่สรุปว่า คนชนบทเลือกรัฐบาล ชนชั้นกลางในเมืองไล่รัฐบาล หลังจาก "มือที่มองไม่" จงใจปล่อยข่าวหยั่งกระแส-ปล่อยชื่อของเขามาในฐานะหัวหน้าพรรค ส่วนเลขาธิการพรรคคือ นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งหันไปเอาดีทางวิชาการ มีตำแหน่งเป็นรองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต สถาบันอุดมศึกษาเดียวกับที่ ดร. เอนก ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์

"ใครทุ่มปฏิรูป คนนั้นพวกเรา"

แม้ ดร. เอนก ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กวานนี้ (23 พ.ค.) ว่าไม่เคยถูกนายสุเทพทาบทาม หรือถ้ามาทาบทามก็ไม่ขอรับเพราะเบื่อหน่าย "การเมืองแบบเก่า ๆ ออกกลิ่นน้ำเน่า" แต่เขายอมรับว่าได้ตั้งวงพูดคุยกับคณะผู้ก่อตั้งพรรคหลายร้อยคน เพื่อสร้างพรรคการเมืองใหม่ที่ก้าวข้ามความขัดแย้งเรื่องมวลชนเหลือง-แดง พวกเป่านกหวีด-ต่อต้านนกหวีด แต่ถ้า "ใครทุ่มเทกับการปฏิรูป คนนั้นย่อมเป็นพวกเรา"

"การสร้างความปรองดองให้สำเร็จ ถือเป็นโปรเจคต์ (โครงการ) สุดท้ายของชีวิต" ดร. เอนก ให้สัมภาษณ์สื่อผ่านโทรศัพท์ข้ามประเทศจากเมืองจีน

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

จากการตรวจสอบของบีบีซีไทยพบว่า นอกจากชื่อ 2 นักวิชาการจาก ม. รังสิต ยังปรากฏชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรครายอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาในแวดวงการเมือง อาทิ นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว. นายธานี เทือกสุบรรณ นายเชน เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ ซึ่งไม่ได้ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้

นายประสารกล่าวกับบีบีซีไทยเพียงว่า "ข่าวลือ" ย่อมมีทั้งที่เป็นจริงและเท็จ ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ หากถึงเวลาจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ แต่ยอมรับจะมีการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคภายในเดือนนี้ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงต้นเดือน มิ.ย.

อดีต ส.ว. รายนี้ยังย้ำหลักการ 5 ข้อในการเกิดขึ้นของ "พรรคทางเลือกที่ 3" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่ ดร. เอนก ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ก่อนสรุปในช่วงท้ายว่า "ถ้ามีพรรคการเมืองที่ทำให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปได้ ก็ถือเป็นบุญของบ้านเมือง เพราะจะทำให้สังคมมีความหวัง"

ขณะที่นายธานี น้องชายของนายสุเทพ กล่าวกับมติชนว่า นายสุเทพไม่เคยบอกจะไม่ตั้งพรรค นายสุเทพบอกจะไม่เล่นการเมืองแค่นั้น ซึ่งการตั้งพรรคก็จะมาช่วยเฉย ๆ ไม่ได้มีอะไร

ถอดบทเรียน "พรรคมหาชน" พรรคทางเลือกที่ 3 ที่ไม่ถูกเลือก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ดร. เอนก พยายามปลุกปั้น "พรรคทางเลือกที่ 3" ย้อนกลับไป 9 ปีก่อน เขาทิ้งเก้าอี้รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 5 ก.ค. 2547 เพื่อไปบุกเบิกทำ "พรรคมหาชน" ด้วยเจตนารมณ์หวังเป็น "พันธมิตรกับฝ่ายค้าน" หลังพบว่าการเมืองไทยมีแนวโน้มแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ฝ่ายค้านมีแนวโน้ม "ฝ่อลง" เรื่อย ๆ

ทักษิณ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายทักษิณ ชินวัตร ช่วยลูกพรรคหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2548 ก่อนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียงได้สำเร็จ

ข้อวิเคราะห์ของ ดร. เอนก ในเวลานั้นคือ "ประชาธิปัตย์ยากจะชนะเลือกตั้ง" เขาจึงขายแนวคิดตั้ง "พรรคขั้วที่ 3" เพื่อ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี" ให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายชวน หลีกภัย, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทว่าไร้เสียงตอบรับจากบรรดา "ผู้ฟังกิตติมศักดิ์"

ดร. เอนก จึงนำแนวคิดนี้ไปเดินสาย-ขยายความต่อนอกพรรคผ่านวงวิชาการและภาคประชาสังคม ที่สุดแล้วบุคคลที่มีส่วนผลักดันให้แนวคิดของเขาเป็นรูปเป็นร่างคือ รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ ซึ่งประสานให้เกิดการผนึกกำลังระหว่าง "ฝ่ายวิชาการ" กับ "ฝ่ายการเมืองเก่า" ภายใต้การนำของ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเปิดตัวพรรคมหาชน เมื่อ 19 ก.ค. 2547 ตั้งเป้ากวาด ส.ส. เข้าสภาฯ 70-80 ที่นั่ง

ทว่าตัวเลข ส.ส. ที่ได้มาในศึกเลือกตั้ง 6 ก.พ. 2548 มีเพียง 2 เสียง ซึ่งผิดไปจากความ "คิด-ฝัน" อย่างมากจากปัญหา "ท่อน้ำเลี้ยงสะดุด" และนักการเมืองเกรดดี ๆ ถูก "พลังดูด" ให้ไปอยู่พรรคใหญ่ เป็นผลให้ ดร. เอนก ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่ 4 มี.ค. 2548 ปิดฉากการทำงานการเมืองในระบบลงชั่วคราว

"ถ้าย้อนเวลาได้จะไม่ร่วมทีมทำการเมืองกับ เสธ. (พล.ต. สนั่น) ผมกับ เสธ. คบหาเป็นมิตรที่ดีกันได้ แต่เมื่อทำงานการเมืองร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถรักษามิตรภาพเอาได้" ดร. เอนก เคยสรุปบทเรียนหลังถอดหัวโขนหัวหน้าพรรค (หนังสือฉะแฉฉาว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549)

พรรคทางเลือกที่ 3 จะเกิด "สุเทพ" ต้องออกหน้า

แม้ออกตัวว่าไม่เคยหารือกับ ดร. เอนก เรื่องการตั้ง "พรรคทางเลือกที่ 3" รอบใหม่ แต่ รศ.ดร. สังศิต ซึ่งปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม. รังสิต กล่าวกับบีบีซีไทยว่าการหวนคืนการเมืองของ ดร. เอนก ครั้งนี้จะเป็น "เอนกใหม่" ที่ทำงานด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เตรียมใจยอมรับไม่ว่าชนะหรือแพ้

รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คำบรรยายภาพ, รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คือผู้ต่อสายโทรศัพท์ถึง ดร. เอนกชวนให้มาทำพรรคมหาชนเมื่อปี 2547

ในทัศนะของ รศ.ดร. สังศิต โจทย์การเมืองไทย ณ เวลานี้ต่างจากช่วงทำพรรคมหาชน เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย กับพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งถ้ามีการเลือกตั้งในเร็ววัน จะเป็นการช่วงชิงกันระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์หลาย ๆ พรรครวมกัน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคอันดับ 3 ดังนั้นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะตกที่นั่งฝ่ายค้านจึงเป็นไปได้สูง นี่เป็นเหตุผลที่ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องการผลักดันให้เกิดพรรคการเมืองใหม่เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เพราะคิดว่ารัฐบาล คสช. ยังทำเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย

"ภาพของอาจารย์เอนกคือผู้นำการปฏิรูปการเมือง เพราะเคยเป็นประธานคณะทำงานเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ ของ สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.) หากอาจารย์เอนกมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะทำให้สังคมเห็นภาพการปฏิรูปการเมืองที่ชัดเจน ขณะเดียวกันกำนันสุเทพก็ต้องการปฏิรูปตำรวจ ดังนั้นจุดขายของพรรคนี้คือการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปตำรวจ และการกระจายอำนาจ" รศ.ดร. สังศิต ซึ่งเคยร่วมเสนอความเห็นในเวทีปฏิรูปประเทศของ กปปส. ที่สวนลุมพินี ในช่วง "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อต้นปี 2557 กล่าว

กปปส. นับล้านคือฐานเสียง

กปปส. ชัตดาวน์กทม.

ที่มาของภาพ, Getty Images

รศ.ดร. สังศิตระบุด้วยว่า "พรรคทางเลือกที่ 3" ของ ดร. เอนก จะไม่ใช้ "พลังดูด ส.ส." แต่อาศัยฐานเสียงผู้สนับสนุน กปปส. นับล้านคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องชนะการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต แต่คาดว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครบทั้ง 350 เขต เพื่อนำคะแนนมารวมให้ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เพราะระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะไปลดจำนวน ส.ส. ของพรรคใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

"หากพรรคทางเลือกที่ 3 จะเกิดขึ้นได้ กำนันสุเทพต้องออกหน้าสนับสนุน โดยรูปแบบอาจให้อาจารย์เอนกเป็นหัวหน้าพรรค ทำงานเชิงนโยบายและวิชาการ ส่วนกำนันสุเทพก็จะมีสถานะคล้ายกับ เสธ.หนั่น ในช่วงทำพรรคมหาชน เพราะมีฐานเสียงที่แน่ชัดแม้เป็นพลังจากนอกสภาก็ตาม นอกจากนี้จะมีคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปีที่มาร่วมด้วยเพื่อให้เกิดภาพกระฉับกระเฉง ไม่ใช่พรรคการเมืองแบบเก่า ๆ ดังนั้นหากใครต้องการให้ประเทศชาติเดินหน้าปฏิรูป พรรคนี้ก็จะเป็นตัวเลือกของพวกเขา" รศ.ดร. สังศิตกล่าว

การต่อสู้ระหว่างปัญญาชนฝ่าย "ปฏิรูป" กับ "ปฏิวัติ"

อนาคต "พรรคทางเลือกที่ 3" ที่ถูกฉายภาพโดยนักวิชาการผู้เป็นแนวร่วม กปสส. คล้ายเป็น "คู่ตรงข้าม" กับบางพรรคการเมืองที่ประกาศเป็นพรรคคนรุ่นใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับนายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ประกาศไม่รับทุกส่วนประกอบของ "อประชาธิปไตย"

สนามเลือกตั้งในครั้งนี้จึงคล้ายเป็นเวทีต่อสู้ระหว่างปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้ากับปัญญาชนสายอนุรักษ์นิยม?

ธนาธร ปิยบุตร

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายธนาธร (ซ้าย) ประกาศว่าภารกิจของพรรคอนาคตใหม่คือการยกเลิก "รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย"

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. สังศิต อธิบายว่า ปัญญาชนที่ต้องการประชาธิปไตยแบบตะวันตกแท้ ๆ คือมีเลือกตั้งแล้วปล่อยให้การเมืองเสรี ก็จะตัดสินใจเลือกพรรคแบบหนึ่ง โดยอาจไม่สนใจสถาบันดั้งเดิมของประเทศไทย ส่วนพรรคคนรุ่นใหม่ที่ ดร. เอนก อาจเป็นหัวหน้า เขาจะมีกรอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นแบบตะวันตกเสียทีเดียว

"แน่นอนว่าเราต้องการให้มีการเลือกตั้ง แต่ยังรักษาสถาบันดั้งเดิมของไทยไว้ เราต้องการ 'ปฏิรูป' คือไม่แตกหักกับสถาบันดั้งเดิมของไทย หรือแตกหักกับโครงสร้างสังคมของไทย เราเน้นปฏิรูป แต่อีกฝ่ายเขาต้องการรื้อถอนเลย ซึ่งเป็นการ 'ปฏิวัติ' สังคม" รศ.ดร. สังศิตกล่าว

ก่อนการเลือกตั้งปี 2548 โจทย์ในการตั้ง "พรรคทางเลือกที่ 3" คือเพื่อเป็น "พันธมิตรกับฝ่ายค้าน" แต่สำหรับโจทย์ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 รศ.ดร. สังศิตชี้ว่าคือการเป็น "พันธมิตรกับพรรคที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์" ด้วยเพราะวันนี้ทหารเปิดตัวลงมาเล่นในสนามการเมือง และมีนโยบายและผลงานที่ชัดเจนคือการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

พล.อ.ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปราศรัยต่อหน้าประชาชน 3 หมื่นคนที่สนามช้าง อารีนา ระหว่างลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจรบุรีรัมย์ ต้นเดือน พ.ค.

"แต้มต่อของหัวหน้า คสช. ที่ทำให้ได้ใจประชาชนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ส่วนภาพลักษณ์ของอาจารย์เอนกและกำนันสุเทพคือผู้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป นี่คือสองส่วนที่จะมาบรรจบกันได้" เขากล่าวทิ้งท้าย