ฟื้นฟูอ่าวมาหยา: อดีตที่อาจไม่หวนคืน

คำบรรยายวิดีโอ, อ่าวมาหยา ความงามที่หายไปกับการท่องเที่ยว
  • Author, นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ & วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ชาวเกาะพีพีโหยหา "อ่าวมาหยา" ในอดีต ก่อนที่ชื่อเสียงอันโด่งดังจะกลายเป็นเครื่องมือนำความสูญเสียและทำลายธรรมชาติอันงดงามจนแทบจะกู้คืนไม่ได้

เรือหางยาวหลายสิบลำจอดเรียงรายบนผืนน้ำทะเลสีครามรอบอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี ที่ซึ่งชายหาดสีขาวดูเป็นประกายระยิบระยับเมื่อสะท้อนแสงแดด เปรียบเหมือน "สวรรค์" สำหรับเกษม งานแข็ง คนขับเรือวัย 52 ปี เมื่อเขาเล่าย้อนถึงอดีตอันงดงามของอ่าวมาหยา

"แต่ตอนนี้หมดทุกอย่างแล้ว ไอ้ที่ว่าน้ำเป็นสีครามก็ไม่มีแล้ว หาดที่ว่าเป็นสีขาวสะท้อนแสงตอนแสงแดดมันส่อง ไม่มีแล้ว หมดแล้ว น่าเสียดายที่ธรรมชาติที่เขาสร้างมาให้พวกเราได้ชม ได้เห็นมันถูกทำลายไปด้วยพวกเราเอง" เกษม กล่าว "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากให้มาหยากลับไปเป็นเหมือนเดิม"

ซากปะการังที่แตกหักมีให้เห็นตามพื้นทะเล และแนวปะการังบริเวณใกล้ชายหาด ซึ่งมีเรือเร็วเข้าออกตลอดเวลา ไม่มีปะการังที่มีชีวิตเหลืออยู่อีกแล้ว

ความรู้สึกโหยหาอดีตเป็นสิ่งที่เกิดกับชาวบ้านในอ่าวมาหยามายาวนาน สมชัย นิลสมุทร คนขับเรือหางยาวอีกคน อายุ 48 ปี ที่นั่งอยู่บนเรือที่เทียบหาดเพื่อรอนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เหมาเรือมาเที่ยว เล่า

อ่าวมาหยา ปิด ฟื้นฟู maya bay close ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว tourist

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

"สมัยก่อนมีแต่เรือหางยาว มาหยาสวยมาก ใคร ๆ ก็อยากมาเที่ยว พอธุรกิจเรือเร็วมา ปะการังเสียหายหมด" เขากล่าว "ผมเสียดายปะการัง ไม่อยากให้พังไปหมด อยากให้ลูกหลานทำอาชีพต่อไป... ผมเห็นคนจีนบางทีหักปะการังใส่กระเป๋า"

สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของอ่าวมาหยาคือ ภาพยนตร์ชื่อดังก้องโลกเรื่อง "เดอะบีช" นำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ ซึ่งถ่ายทำที่อ่าวมาหยาเมื่อต้นปี 2542 และออกฉาย 1 ปีหลังจากนั้น ได้สร้างกระแสให้ชาวต่างชาติแห่กันมาเที่ยวอ่าว จนปัจจุบันมีนักท่องเที่ยววันละ 3,000-4,000 คน

เกษม เป็นหนึ่งในชาวบ้านนับร้อยคนบนเกาะพีพีที่สนับสนุนการปิดอ่าวมาหยาชั่วคราว เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ถูกทำลายไปกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะด้วยเรือหรือด้วยนักท่องเที่ยวโดยตรง

การประกาศปิดอ่าวมาหยาชั่วคราวเป็นข่าวดังทั่วโลกเมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งปิดอ่าวมาหยาเป็นเวลา 4 เดือน

ชาวเกาะพีพี รักธรรมชาติ

อ่าวมาหยา ปิด ฟื้นฟู maya bay close ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว tourist

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากให้มาหยากลับไปเป็นเหมือนเดิม" คือคำพูดจากปากของ เกษม คนขับเรือหางยาววัย 52 ปี

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มพิทักษ์พีพี ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านและผู้ประกอบการเกาะพีพีกว่า 100 คน ได้ส่งจดหมายไปยังกรมอุทยานฯ เสนอให้ปิดอ่าวมาหยาตั้งแต่เดือน พ.ค.-ต.ค. ของทุกปี เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กลุ่มฯ ก่อตั้งมาราว 2 ปี รณรงค์เรื่องการจัดขยะ โดยทำความสะอาดเกาะเดือนละ 3 ครั้ง ทั้งการดำน้ำเพื่อเก็บขยะ และทำความสะอาดบนฝั่ง

"เห็นสภาพแล้ว ตามความเป็นจริง ลองคิดดูว่าทุกวันทุกวันไม่มีการได้พักผ่อน ไม่ช้าปะการังก็ตายหมด ต่อไปนักท่องเที่ยวที่มาดูปะการังไม่มีอะไรเป็นจุดขาย คงไม่มา และรุ่นหลัง ๆ ไม่มีงานทำ เพราะพีพีกว่า 90% อาชีพหากินกับการท่องเที่ยว" วุฒิศักดิ์ ทองเกิด ประธานกรรมการกลุ่มพิทักษ์พีพี กล่าวกับบีบีซีไทย ที่อ่าวมาหยา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ประกาศปิดอ่าวมาหยาในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและใต้ทะเลในช่วงฤดูมรสุม เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.

เนื่องจากทรัพยากรแนวปะการังบริเวณอ่าวมาหยาได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ การดำน้ำตื้น การทิ้งสมอเรือ การเข้า-ออกของเรือเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนเฉลี่ย 3,000-4,000 คน

อ่าวมาหยา ปิด ฟื้นฟู maya bay close ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว tourist

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, หลังเสร็จการปิดฟื้นฟู อ่าวมาหยาแห่งนี้จะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามได้ไม่เกินวันละ 2,000 คน

ในช่วงปิดอ่าวมาหยา จะห้ามทำกิจกรรมท่องเที่ยวบริเวณอ่าวมาหยาโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณแนวทุ่นไข่ปลาที่กั้นแนวเขตห้ามเข้าไว้ ซึ่งหลังจากมีการก่อสร้างสะพานเทียบเรือและทางเดินบริเวณอ่าวโละสะมะเรียบร้อยแล้ว จะปิดไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกบริเวณอ่าวมาหยาอย่างถาวร โดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอ่าวมาหยาผ่านทางอ่าวโละสะมะเท่านั้น

ในช่วง 4 เดือนดังกล่าวที่เป็นช่วงมรสุม คนขับเรือหลายคนบอกกับบีบีซีไทยว่า เป็นช่วง "โลว์ซีซั่น" หรือช่วงที่นักท่องเที่ยวมาน้อย และเรือบางเจ้าจะไม่ออกเรือ แต่ถึงอย่างไรก็ยังสามารถเข้าอ่าวมาหยาทางด้านอ่าวโละสะมะ โดยนักท่องเที่ยวจะว่ายน้ำจากเรือเพื่อปีนขึ้นบันไดลิงที่ผูกไว้กับสะพาน

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่บีบีซีไทยได้สัมภาษณ์ ยอมรับว่าแม้รายได้จะลดลงบ้าง เนื่องจากอ่าวมาหยาเป็นจุดขายสำหรับเกาะพีพี แต่ถ้าไม่ปิดอ่าว การท่องเที่ยวจะหยุดชะงักจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไป

"มาหยาปิดก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ให้มาดูเลย ยังให้มาดูหรือถ่ายรูปได้ ถึงอ่าวมาหยาจะปิด แต่ที่อื่นก็ไม่ได้ปิด" เกษม กล่าว

ธุรกิจเรือเร็ว แซงหน้าเรือหางยาว

อ่าวมาหยา ปิด ฟื้นฟู maya bay close ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว tourist

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เรือเร็ว เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวทำลายปะการัง

เกษม พื้นเพเดิมเป็นชาว อ.เกาะยาว จ.พังงา แต่ย้ายมาอยู่ที่เกาะพีพีตั้งแต่ปี 2517 เริ่มทำอาชีพเก็บรังนกตามภูเขาและถ้ำ แต่เนื่องจากงานเสี่ยงและ "ชักหน้าไม่ถึงหลัง" ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพเป็นคนขับเรือหางยาว

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มมหาสมุทรอินเดียและอันดามันเมื่อปี 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่เกาะพีพีกว่า 700 คน เรือหางยาวหลายลำเกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ สภากาชาดไทยก็ได้ช่วยออกเงินซ่อมแซมเรือหลายลำ รวมถึงเรือของเกษม จนกลับมาใช้งานได้ใหม่

ปัจจุบันราคาเรือหางยาวตกลำละประมาณ 200,000 บาท ซึ่งสูงเกินกำลังของคนขับเรือ ทำให้คนขับเรือหลายคนทำได้เพียงรับจ้างขับเรือแทน โดยเจ้าของเรือแบ่งรายได้จากการออกเรือแต่ละครั้งหลังหักค่าน้ำมันแล้ว ให้ครึ่งหนึ่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็น ทริป 3 ชั่วโมง ราคา 1,800 บาท

อำนวย มีบุญมาก ผู้จัดการสหกรณ์เรือหางยาวเกาะพีพี จำกัด กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ มีผู้ประกอบการเรือหางยาวเพียง 50-60 ลำ แต่ปัจจุบันมี 350 ลำ ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์

อ่าวมาหยา ปิด ฟื้นฟู maya bay close ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว tourist

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ทางเข้าด้านอ่าวโละสะมะ ที่เชื่อมต่อไปยังอ่าวมาหยา

ส่วนธุรกิจเรือเร็วเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเรือส่วนใหญ่ที่เข้ามายังอ่าวมาหยาจะเป็นเรือเร็วของบริษัทเอกชนในภูเก็ต ที่บรรทุกโดยสารประมาณ 30-40 คน ให้บริการในลักษณะ "วันเดย์ทริป" นำเที่ยวจากเกาะภูเก็ตถึงเกาะพีพี แล้วกลับภูเก็ตในวันเดียวกัน

นักสมุทรศาสตร์ชื่อดังอย่าง ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยืนยันว่า เรือเร็วเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แนวปะการังเกิดความเสียหาย เนื่องจากมีการทิ้งสมอบนแนวปะการัง และใบพัดเรือที่ปั่นทรายฟุ้งขึ้นมา

"เวลาเจอคนที่ทิ้งสมอบนปะการัง ผมเห็นก็บอกว่าอย่าทิ้งบนปะการัง บอก ๆ พูด ๆ จนไม่อยากจะพูดกับใครแล้ว พูดก็ไม่มีความหมาย" เกษม กล่าว "เขาไม่สนใจหรอก ขยะ เขาทิ้ง สมอเขาทอด... เขาถือว่าเขาไม่ใช่คนที่นี่ เขาไม่ใช่เรือที่นี่ เขาทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีใครมาห้ามมาบอก"

ได้แต่ยืนมอง

นักท่องเที่ยวบนชายหาด

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, การท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป เป็นกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากเอเชียที่มายังอ่าวมายา

แม้ภาพยนตร์เรื่อง "เดอะบีช" ได้ทำให้เกาะพีพีกลายเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 2543 นับตั้งแต่นั้นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างไม่ขาดสาย ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ในปีที่แล้ว มีผู้มาเยือนอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 1.99 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.46 ล้านคนในปีนี้

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เยี่ยมอ่าวมาหยา เสียค่าธรรมเนียมคนละ 400 บาท ทำให้อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ เป็นอุทยานที่ทำรายได้ให้กับกรมอุทยานฯ สูงที่สุด

"บางคนพอเห็นว่าเยอะ จะไม่เข้า แต่ถ้าคนไม่เยอะ 400 [บาท] ก็ยอมจ่าย" เกษม คนขับเรือ กล่าว

คนขับเรือหางยาวหลายคนบอกกับบีบีซีไทยว่า นักท่องเที่ยวชาวยุโรปส่วนใหญ่มีสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติมากกว่าชาวเอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของ วรินธร วรโชติชนาธิป ไกด์นำเที่ยวทางเรือของบริษัทชาวเกาะ จำกัด ที่กล่าวว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเที่ยวอ่าวมาหยา 80% เป็นคนจีน

อ่าวมาหยา ปิด ฟื้นฟู maya bay close ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว tourist

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, มีนักท่องเที่ยวบางราย ที่รู้สึกผิดหวังเมื่อมาถึงยังอ่าวมาหยา เนื่องจากความเนืองแน่นของนักท่องเที่ยวบนชายหาด

"คนเอเชียพอเห็นอะไรสวย ๆ งาม ๆ มักจะจับต้อง อย่างเจอปลาดาว ก็มุงกันถ่ายรูปแล้วก็จะหยิบขึ้นมา... แล้วคนชาติอื่นน้อยคนที่จะทิ้งขยะเรี่ยราดตามท้องทะเล แต่คนจีนคิดจะเขวี้ยงก็เขวี้ยง" เขากล่าว

บีบีซีไทยได้คุยกับชาวต่างชาติ 5 คนที่นั่งเรือเร็วมาจากภูเก็ตเพื่อมาเยี่ยมชมอ่าวมาหยา ทั้งหมดกล่าวตรงกันว่ารู้สึกผิดหวังที่มีนักท่องเที่ยวบนเกาะเป็นจำนวนมาก และเห็นด้วยกับการปิดอ่าวชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

ลิซ่า เทย์เลอร์ วัย 29 ปีจากเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า เธอได้ดูภาพยนตร์เรื่อง "เดอะบีช" เมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากรู้ว่ามีการถ่ายทำที่ประเทศไทย และวางแผนว่าจะมาไทยต่อจากนิวซีแลนด์ ที่เธอได้เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ "เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" ที่เธอชื่นชอบ

แต่เธอก็ต้องผิดหวังเมื่อสิ่งที่เธอสัมผัสไม่เป็นไปตามที่จินตนาการไว้ว่าชายหาดจะกว้างกว่าที่เป็นอยู่ มีคนและมีมลพิษน้อยกว่านี้

"มันวิเศษมากเลย พอดู [เรื่อง "เดอะบีช"] แล้วเราก็คิดว่าจะต้องไปที่นั่น แต่ในหนัง แน่นอนว่าไม่มีคนอยู่บนหาดเยอะแบบนี้" เธอกล่าว "เมื่อกี๊ก็เพิ่งไปว่ายน้ำมาแต่เห็นว่ามีเศษพลาสติกลอยอยู่ในน้ำ ก็เลยออกมาอยู่บนหาด ยืนมองอย่างเดียว แล้วก็ถ่ายรูป"