รัฐบาลใหม่ : วอชิงตันโพสต์ ระบุประชาธิปไตยจอมปลอมของไทย ยังไม่คู่ควรกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หย่อนบัตรเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เผยแพร่เมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา แนะนำรัฐบาลสหรัฐฯว่า ยังไม่ควรฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยอย่างเต็มรูปแบบ

สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐฯแห่งนี้ชี้ว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยจอมปลอมของไทยไม่คู่ควรกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ขณะที่รัฐมนตรีการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุล่าสุดในวันนี้ (11 มิ.ย.) ว่า ไม่ต้องชี้แจง เพราะเป็นเพียงความเห็น

บทบรรณาธิการเริ่มต้นด้วยการให้ภาพว่าไทยเป็นชาติพันธมิตรนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2013 และการวางแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ในเอเชียของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างมากจากไทย แต่เป็นเวลา 5 ปีมาแล้วที่สหรัฐฯ ระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพไทย เพราะการก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าขณะนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหาร สามารถจัดการให้ตัวเองได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้งได้แล้ว และรัฐบาลของเขากับบุคคลในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บางส่วน กำลังหวังว่า จะมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอย่างเต็มรูปแบบ แต่ไทยไม่ควรได้รับสิ่งนี้

ที่ประชุมรัฐสภา 5 มิ.ย.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เสียงข้างมากของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

การตัดความช่วยเหลือเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐบัญญัติการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ (Foreign Assistance Act) ของสหรัฐฯ ที่ห้ามไม่ให้มีความร่วมมือทางการทหารกับประเทศที่ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยการใช้กำลัง การห้ามนี้อาจถูกยกเลิกได้ หากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ให้การรับรองว่า ประเทศนั้นได้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่การรับรองให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 มิ.ย.) ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าประชาธิปไตยของปลอม หลังจากจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมอย่างน่ารังเกียจ โดยฝ่ายที่เห็นตรงข้ามรัฐบาลทหารบางส่วนถูกห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้ง และมีอีกหลายคนที่ถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหา

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

วอชิงตันโพสต์ยังชี้ด้วยว่ารัฐธรรมนูญใหม่สร้างความได้เปรียบอย่างใหญ่หลวงให้กองทัพ วุฒิสภาซึ่งมีสมาชิก 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง แต่กลับมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิก 500 คน แม้ว่าประชาชนไม่ชื่นชอบ พล.อ. ประยุทธ์ แต่เขาก็เอาชนะมาได้ แม้การเลือกตั้งในเดือน มี.ค. แนวร่วมฝ่ายค้านจะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคที่สนับสนุนกองทัพได้ที่นั่งไม่ถึง 126 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนเสียงที่ต้องมีในการสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

และนั่นได้นำไปสู่การร่วมกันหาทางจัดการเพื่อสร้างความได้เปรียบอีกครั้งหนึ่ง เริ่มจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แก้ไขกฎในการจัดสรรปันส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้ง ส่งผลให้แนวร่วมฝ่ายค้านสูญเสียเสียงข้างมาก และพรรคขนาดเล็ก 11 พรรค ได้ที่นั่งพรรคละ 1 ที่นั่ง ทุกพรรคสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ทำให้เขาได้คะแนนเสียงตามที่ต้องการ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

รัฐบาลสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองด้วยการให้ศาลตัดสิทธิสมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางคน รวมถึงแกนนำแนวร่วมฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมสูงสุดด้วย มีรายงานว่า ได้มีการเสนอสินบนมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ย้ายข้างด้วย

ผลที่ได้ก็คือ แนวร่วม 19 พรรคที่อ่อนแอ ร่วมกันสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงข้างมากเกินมา 5 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ความอ่อนแอของรัฐบาลนี้ จะทำให้กองทัพไทย...มีอำนาจมากขึ้นต่อไป

บทบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์สรุปด้วยว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไม่ลังเลที่จะร่วมมือทางการทหารกับรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย การรับรองของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลของไทยเป็นรัฐบาลพลเรือนและเป็นประชาธิปไตยแล้ว ถือเป็นการเหยียบย่ำกฎหมายที่รัฐสภาสหรัฐฯ บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่กองทัพไทยได้กระทำลงไป ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการฟื้นฟูความร่วมมือบางส่วน สามารถทำได้ด้วยการยกเว้นให้ตามที่กฎหมายอนุญาตให้กระทำได้ แต่ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่จับต้องได้ และรัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะยอมรับว่าไทยยังไม่ได้กลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ปฏิกิริยาทางการไทยเป็นอย่างไร

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อเช้าวันนี้ ( 11 มิ.ย.) ว่า เรื่องนี้ไม่ต้องชี้แจง เพราะเป็นเพียงความเห็น ซึ่งความเห็นในลักษณะนี้ในเมืองไทยก็มีเยอะ เวลาคนต่างประเทศมาเขียน ส่วนใหญ่ก็เอามาจากคนในบ้านเรา แล้วจึงนำไปถ่ายทอด เรื่องความเห็นมีหลากหลาย แต่หากเป็นความเห็นทางการสหรัฐฯ ไม่ได้สะท้อนความเห็นเหล่านี้มา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย

ที่มาของภาพ, Getty Images

"หลายประเทศมีแต่คนแสดงความยินดี ไม่มีเสียงสะท้อนในแง่ลบ ตอนนี้ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็อยากจะโทรมา วอชิงตันโพสต์ เป็นสื่อดัง แต่จะเรียกว่าเป็นผู้มีอิทธิพลก็คงไม่ใช่ เพราะสิ่งที่มีอิทธิพลมากขณะนี้คือโซเชียลมีเดีย หลายครั้งบทบรรณาธิการก็ออกมาคลาดเคลื่อน" นายดอน กล่าว

เมื่อถามว่า มีความกังวลต่อผลกระทบต่อการรับรู้ของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่าสื่อในโลกนี้มีเยอะแยะ อย่าไปคิดว่าสื่อเดียวแล้วจะตัดสินทุกอย่าง หรือมีอิทธิพลเหนือความคิดความอ่านของคนทั้งหลาย ที่ผ่านมาบางครั้งเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับบางเสียงที่ไม่สร้างสรรค์ไม่เป็นประโยชน์