จะพิทักษ์ป่าอย่างไร หากขาดแคลนปืน: เสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่ผู้ปกป้องผืนป่าของไทย

เจ้าหน้าที่ถือปืน

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

  • Author, นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

กรณีล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของนักธุรกิจชื่อดัง ทำให้สังคมหันมาสนใจชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่รู้กันโดยทั่วไปก็คือเงินน้อยงานหนัก แต่ยังมีปัญหาใหญ่อีกที่พวกเขาเผชิญก็คือ การขาดแคลนปืน

นโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่เห็นว่าหน้าที่ของพวกเขาไม่ใช่การปราบปรามแบบเข้าปะทะโดยตรงกับพรานหรือผู้ตัดไม้ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีปืนครบมือกันทุกคน เป็นแรงกดดันทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าตั้งคำถามว่าพิทักษ์ตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะพิทักษ์ป่าได้อย่างไร

ผู้ปฏิบัติงานเห็นว่าเขาอยู่ในสภาพเสี่ยงชีวิตเพิ่มขึ้น จากความไม่พอและไม่พร้อมของอุปกรณ์พิทักษ์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนที่เป็น "หัวใจของการปราบปราม" ล้วนเป็นอาวุธเก่าอายุร่วม 30 ปี

ปืนขัดลำกล้องก็ต้องพกพา

นายพรานชาวม้งยกปืนขึ้นมาทันทีที่เห็น หาญชัย วินมา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ทั้งสองยืนห่างกันประมาณ 3 เมตร ต่างคนต่างเล็งปืนเข้าหากัน หาญชัยออกคำสั่งให้นายพรานทิ้งปืน แต่ไม่ได้ผล

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2554 ปีนั้นเสือโคร่ง 3 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์กรยูเนสโก และครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 1.7 ล้านไร่ใน จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ถูกวางยาเบื่อตาย

ชุดลาดตระเวนของหาญชัย ที่มีเจ้าหน้าที่อีก 4 นาย ได้รับมอบหมายให้สำรวจจุดที่พบหลักฐานการก่อเหตุ

หาญชัย วินมา

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เหตุการณ์เสี่ยงตายที่หาญชัย วินมา ประสบเมื่อปี 2554 เป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่าอาวุธปืนที่พร้อมใช้งานคือสิ่งสำคัญยิ่ง

แม้จะรู้ดีว่าปืนลูกซอง 5 นัด ที่ถือไปด้วยในวันนั้น ใช้การไม่ได้ เมื่อกระชากแล้วกระสุนขัดลำกล้อง แต่หัวหน้าของหาญชัย ณ ตอนนั้น แนะนำให้พกติดตัวไปด้วย ด้วยความคิดที่ว่า "เราต้องมีปืนไว้ เขาเห็นเขาก็จะตกใจ"

หาญชัยคิดว่าเหตุผลที่ทำให้เขายังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ ก็เพราะพรานม้งที่เผชิญหน้ากับเขาในวันนั้น ประกาศขอเดิน "ทางใครทางมัน" สื่อสัญญาณว่าทั้งคู่จะจากกันโดยดี

"ถ้าเขายิงเรา เราเสร็จเหมือนกัน...แทนที่จะยิงเขา [นายพราน] ได้ กลายเป็นขัดลำ" หาญชัยกล่าว และบอกด้วยว่านอกจากปืนจะขัดลำกล้องแล้ว บางครั้งเขาต้องกระแทกด้ามปืนกับต้นไม้ถึงจะยิงได้

ทีมลาดตระเวนห้วยขาแข้ง

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ทีมลาดตระเวนที่ หาญชัย วินมา (คนที่ 2 จากซ้าย) เป็นหัวหน้าในปัจจุบัน ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หาญชัยเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหนึ่งในเจ้าหน้าที่ไม่น้อยที่รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่ต้องเสี่ยงถึงขั้นที่อาจต้องเสียชีวิต และแม้ว่าพรานคนดังกล่าวจะถูกชุดลาดตระเวนจับได้ในภายหลัง โดยได้พบซากหมูป่าและไม้กฤษณาติดตัว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่าอาวุธปืนที่พร้อมใช้งานคือสิ่งสำคัญยิ่ง

"เราลาดตระเวน 5 คน มีอาวุธ 2 กระบอก เท่ากับว่าต้องคุ้มครองคนอีก 3 คน แต่ยิงปืนได้นัดหนึ่งก็ขัดแล้ว" หาญชัย กล่าว

หัวใจของการปราบปราม

ปัญหาการขาดแคลนอาวุธปืนเป็นปัญหาที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหลายคนต้องประสบ ตั้งแต่สมัยที่ สืบ นาคะเสถียร เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

"อย่างลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้ว เราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้" คือคำพูดของสืบ ที่ถูกบันทึกเอาไว้ ณ อนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร ที่ห้วยขาแข้ง

การเสียชีวิตของ สืบ จากการยิงตัวตายที่ห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ช่วยปลุกกระแสอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าในไทย จนกระทั่งเกือบ 30 ปีต่อมา เมื่อ วีรยา โอชะกุล ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การให้ส่วนกลางเห็นถึงความสำคัญของอาวุธก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

วีรยา โอชะกุล

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, วีรยา โอชะกุล ตระหนักดีถึงปัญหาการขาดแคลนอาวุธของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

"ปืนก็น้อย คนก็น้อย งบประมาณลดน้อยลงทุกปี สวนทางกับการที่เจ้าหน้าที่บาดเจ็บจากการจับกุมเยอะมาก และเจ้าหน้าที่ไม่มีอาวุธใช้...ปืนนี่เป็นหัวใจเลย" เธอกล่าวกับบีบีซีไทย เพียงไม่กี่วันก่อนที่เธอจะรับตำแหน่งใหม่เป็นผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน 42 ราย บาดเจ็บสาหัส 14 ราย และบาดเจ็บ 39 ราย

สำหรับหาญชัย วัย 44 ปี ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่เขาทำงานในหน่วยพิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาโชคดีที่ไม่เคยได้รับบาดเจ็บสาหัส และการทำงานเป็นระยะเวลานานของเขาทำให้เขาได้เลื่อนระดับเป็น "พนักงานราชการ" ที่มาพร้อมเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ที่รวมเงินค่าครองชีพ เมื่อเทียบกับตำแหน่ง "บุคคลภายนอกช่วยปฏิบัติงาน" ที่ได้เงินเดือนขั้นต่ำเพียง 9,000 บาท

"เจ้าหน้าที่ต้องเสี่ยงตาย ผมมองว่างานของผมถือว่าหนักมาก กลัวพรานบ้าง กลัวสัตว์ป่ามาทำร้ายบ้าง" เขากล่าว

หาญชัยและวีรยา

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, หาญชัย วินมา (ซ้าย) และ วีรยา โอชะกุล

ชุดลาดตระเวนป้องกันการกระทำผิดตามอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ต้องออกเดินลาดตระเวนเดือนละ 15 วัน โดยแต่ละชุดประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ 5 คน ถืออาวุธปืน HK33 ชุดละ 1-2 กระบอก และปืนลูกซอง 5 นัด ขึ้นอยู่กับจำนวนปืนของแต่ละที่ ซึ่งที่ห้วยขาแข้ง หน่วยพิทักษ์ป่าของหาญชัยมีปืนเพียง 2 กระบอก คือ HK33 และปืนลูกซอง

เฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีอาวุธ "ครบมือ" เนื่องจากการลาดตระเวนจะใช้วิธีเดินตามแผนที่ที่วางแผนไว้แล้ว พร้อมกับเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญด้านต่าง ๆ เช่น ร่องรอยสัตว์และพันธุ์พืช

"ถ้าใช้ปืนยาว คุณทั้งแบกเสบียง เก็บข้อมูล มันไม่มีความจำเป็นที่อาวุธครบมือ เพราะเราไม่ต้องสู้กับใคร มีไว้เพื่อป้องกันตัว นอกจากจะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่เหมือนทหารที่ต้องต่อสู้กับผู้ร้าย...ขบวนการกระทำผิดลักลอบมันไม่มีคนที่จะเอาอาวุธร้ายแรงที่จะต้องมาต่อสู้ประหัตประหาร" เขากล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องเพิ่มทักษะและความรู้ในด้านการจับกุม

ขั้นตอนที่ยาวนาน

วีรยาเดินลาดตระเวน

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

กรมอุทยานฯ ได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด พ.ศ. 2556 เพื่อควบคุมอาวุธปืน โดยการซื้ออาวุธ หรือกระสุน จะต้องขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหม หลังจากได้รับอนุมัติและทำการจัดซื้อแล้ว จะต้องมีการขออนุญาตเคลื่อนย้ายอาวุธเพื่อส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมอุทยานฯ ซึ่งปัจจุบันการเคลื่อนย้ายอาวุธต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กรมอุทยานฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยเป็นการแยกตัวออกจากกรมป่าไม้ และได้รับมอบปืนจำนวนกว่า 8,000 กระบอก หลังจากนั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 ถึงปัจจุบัน กรมอุทยานฯ จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้ออาวุธปืนทุกปี ส่วนใหญ่เป็นปืนยาวลูกซอง บรรจุ 8 นัด ซึ่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า การจัดสรรให้เจ้าหน้าที่นั้นขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และปัจจัยคุกคาม

ปัจจุบันกรมอุทยานฯ มีอาวุธปืนจำนวน 12,799 กระบอก เครื่องกระสุนปืน 128,115 นัด โดยอาวุธปืนของกรมส่วนใหญ่ใช้ประจำการอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ปืนแต่ละกระบอกจะจัดสรรพร้อมกระสุน 50 นัด ในการยิงแต่ละครั้งจะต้องบันทึกเหตุผลกำกับ

ด้วยกระบวนการของประมาณอัน "ยุ่งยาก" ทำให้บางครั้งเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการ อย่างวีรยาที่เคยคุมผืนป่าห้วยขาแข้ง ต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อกระสุนปืนลูกซองจากสนามยิงปืนด้วยเงินของเธอเอง ซึ่งบีบีซีไทยได้สอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ก็พบว่าประสบกับปัญหาที่คล้ายกัน จนทำให้หัวหน้าอุทยาน ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยาน หรือแม้กระทั่งตัวเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เป็นผู้ใช้อาวุธ ต้องออกเงินซื้อลูกกระสุนเอง

"บางทีลูกน้องมาบอกว่า 'หัวหน้าขอปืนได้ไหม ไม่รู้จะหาได้ที่ไหน ปืนขาดครับ ของผมมันยิงได้นัดเดียว' ยิงไปแล้ววิ่งอย่างเดียว ถ้าเขายิงกลับมา ขัดลำแล้ว แล้วส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น กระสุนนัดหนึ่งก็ไม่เคยชดเชยชดใช้ให้ เราต้องหาเอง" วีรยา กล่าว

เจ้าหน้าที่ถือปืน

ที่มาของภาพ, PATTARACHAI PREECHAPANICH/BBC THAI

เพิ่มการฝึกฝน

จากการสำรวจขององค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature หรือ WWF) ในปี 2559 พบว่า ร้อยละ 73 ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่สำรวจในทวีปเอเชียและแอฟริกาเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิตในขณะทำงาน โดยร้อยละ 66 บอกว่าไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการรับประกันถึงความปลอดภัย และร้อยละ 45 เชื่อว่าไม่ได้รับการฝึกฝนที่พอเพียง

แม้ว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในไทยมีการฝึกการใช้อาวุธปืนทุกปี ปีละ 7 วัน โดยตำรวจตระเวนชายแดน หรือบางครั้งก็ทหาร แต่คริสเปียน บาร์โลว์ ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่าและอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าของ WWF ซึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ในไทยควรได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธปืนอย่างมืออาชีพมากกว่านี้ ซึ่งหากผู้กระทำผิดรู้ว่าจะต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นมืออาชีพและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี พวกเขาคงจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และหันไปกระทำผิดในสถานที่ ๆ มีการป้องกันน้อยกว่า

บาร์โลว์ ซึ่งเคยออกแบบหลักสูตรฝึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้กับรัฐบาลเวียดนาม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องฝึกฝนในหลายทักษะ ซึ่งประกอบไปด้วยการฝึกลาดตระเวนแบบทหาร รวมไปถึงการใช้อาวุธปืน และทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน หรือที่เรียกว่า "ซอฟท์สกิล" ที่ฝึกกันในหมู่ตำรวจ เช่น การสืบสวนสอบสวน การสื่อสารกับมวลชน เป็นต้น ซึ่งการฝึกฝนที่ดีพอจะนำไปสู่ความมั่นใจในการทำงาน

คริสเปียนกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ที่มาของภาพ, CRISPIAN BARLOW

คำบรรยายภาพ, คริสเปียน บาร์โลว์ กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในประเทศไทย

เขายกตัวอย่างเมื่อครั้งที่เคยเป็นหัวหน้าเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Balule ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ Greater Kruger ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งเคยมีสถิติการล่าสัตว์ป่าราว 100 ครั้งต่อสัปดาห์ในปี 2541 แต่หลังจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง สถิติก็ลดลง โดยหลังการฝึกฝนผ่านไปแล้ว 9 ปี สถิติการล่าสัตว์ป่าลดเหลือเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์

"ผู้บุกรุกรู้ว่าเขาจะต้องถูกจับ จนในที่สุดชาวบ้านบอกกับพวกเขาว่า อย่าเข้าไปในอุทยานนั้น เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับอย่างแน่นอน" บาร์โลว์ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ 40 ปีในการฝึกทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเอเชียและแอฟริกา กล่าว

คดีทุ่งใหญ่ฯ

ในประเทศไทยเอง ข่าวเปรมชัย กรรณสูตร ประธานฯ บมจ. อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ พร้อมพวก ตกเป็นผู้ต้องหาจากกรณีเข้าไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

ในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ นอกจากจะพบซากสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว ยังพบปืนยาวไรเฟิล 2 กระบอก และปืนลูกซองยาวอีก 1 กระบอก ซึ่งเปรมชัยปฏิเสธว่าไม่ใช่ของตน

เพียงไม่กี่วันหลังเหตุเกิด สำนักข่าวพีพีทีวีรายงานว่า วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไปกล่าวในงานเสวนาเรื่อง "การจัดการสัตว์ป่าเมืองไทย กรณี ทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก" โดยยกประเด็นเรื่องความไม่เพียงพอของอาวุธที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่มาพูดถึง

ภาพถ่ายนายเปรมชัย กรรณสูต (นั่งตรงกลาง) ขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจับกุมตัว

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายนายเปรมชัย กรรณสูต (นั่งตรงกลาง) ขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจับกุมตัว

เขายกตัวอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก แบ่งการทำงานเป็น 25 หน่วย แต่กลับมีอาวุธเพียงหน่วยละประมาณ 2-3 กระบอกเท่านั้น และหลายกระบอกก็ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขาดความมั่นใจในการปฏิบัติงานอยู่บ่อยครั้ง บีบีซีไทยได้สอบถามวิเชียรเพิ่มเติมถึงปัญหาดังกล่าว แต่เขาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

ในมุมของวีรยา เหตุการณ์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรสะท้อนให้เห็นว่าลดการใช้อาวุธนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากจะทำได้ก็ต่อเมื่อคนมีความเข้าใจเรื่องประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรอย่างแท้จริง

"อย่างคดีทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ใช่คนมีตังค์แล้วจะเข้าใจ ถ้าจะบอกว่านี่คุณอย่าล่าสัตว์นะ เขาไม่เชื่อหรอก" เธอกล่าว