4 ปีรัฐประหาร

มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของใคร ?

แผ่นดินนี้เรียกร้องผม แผ่นดินที่เหยียบทุกวันนี้ เรียกร้องให้ผมทำให้เขา"

คำปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวต่อชาวบุรีรัมย์เมื่อต้น พ.ค. ตอกย้ำความคิดของห้วหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่าทำไมเขาจึงต้องเข้ายึดอำนาจ แม้ห้วงเวลาจะล่วงเลยมาอย่างยาวนาน เทียบเท่าการครบเทอม ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ย้อนไปเมื่อสี่ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ระบุไว้ในแถลงการณ์ถึงเหตุผลการเข้ายึดอำนาจว่า มาจากสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ จึงต้องการนำประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ และเพื่อให้ประชาชนกลับมารักและสามัคคีกัน รวมทั้งเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจสังคม เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย

แต่สิ่งที่ปรากฏคือ คสช. มักอาศัยอำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ควบคุมสั่งการ แก้ไข “อุปสรรค” ในการบริหารประเทศ ผ่านการออกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กรุยทางการปฏิรูปตามแบบที่ คสช. วาดฝันไว้ตามคติพจน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทว่า ราคาที่ต้องเสียไปคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่หายไปพร้อม ๆ กับงบประมาณมหาศาล

หลังผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในปี 2560 สิ่งที่หัวหน้า คสช.พยายามชูเด่น คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฎิรูปประเทศ และไม่ลืมสรรหาถ้อยคำมาเป็นจุดขาย ไม่ว่าจะเป็น “ประเทศไทย 4.0” “ประชารัฐ”และ “ไทยนิยมยั่งยืน”

หลังบริหารประเทศมาแล้ว 4 ปีและเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง หัวหน้าคสช. ก็ประกาศเปิดตัวเป็น “นักการเมือง”หลังจากที่เคยปฏิเสธไปแล้ว 9 ครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเดินสายพบนักการเมืองเจ้าของพื้นที่เดิม ตั้งแต่กลางปี 2560 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองและนักวิชาการว่าเป็นการสร้างฐานเสียงปูทางสู่การเลือกตั้ง แต่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธหลายครั้ง

อะไร... คือสิ่งที่ประชาชนต้องยอมแลกกับพัฒนาการทางการเมืองของ คสช. ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา บีบีซีไทยรวบรวมนำมาเสนอ ผ่านวิสัยทัศน์ คสช. “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

มั่นคง

“รัฐบาลนี้ไม่ได้ปิดกั้นใคร ยังใช้กฎหมายปกติในการดูแลและมีคำสั่ง คสช. บ้านเมืองจึงสงบเรียบร้อย ถ้าไม่มีคำสั่งเหล่านี้จะทำอย่างไร หากประชาชนปฎิบัติตัวและทำให้ผมวางใจให้ได้ว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยได้ จึงจะยกเลิกคำสั่งเหล่านี้ไป”

พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช., ประกาศ คสช. อย่างน้อย 35 ฉบับที่ออกมา

ในห้วงสี่ปีที่ผ่านมามีคำสั่งและประกาศ คสช. กว่า 500 ฉบับ ที่ออกมาด้วยเหตุผล “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย” ในสังคม แก้ปัญหาที่เป็นข้อติดขัดทั้งเรื่องกฎระเบียบรวมถึงระงับขั้นตอนทางราชการบางอย่าง เช่น การต่ออายุสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม หลัง คสช. สั่งระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น, สั่งปลดผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม., ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ถอดยศ “พ.ต.ท.” ของทักษิณ ชินวัตร, เปิดทางกรมบังคับคดีเรียกค่าสินไหม-ยึดทรัพย์คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, ติดดาบเพิ่มอำนาจ กสทช. ให้ควบคุม-ปิดสื่อ, แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นต้น

คำสั่งจำนวนมากที่ออกมา ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของคนหลายกลุ่มอย่างมิต้องสงสัย ทำให้จำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงเพราะไม่เห็นด้วย ไม่ปฏิบัติตามประกาศและคำสั่ง คสช. มีมากเป็นเงาตามตัว

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์หรือ "จ่านิว" นักกิจกรรมการเมือง คือหนึ่งในจำนวนนั้น เขาถูกตั้งข้อหารวม 9 คดีนับจากออกมาจัดกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารโดย คสช. สำหรับข้อหาที่รุนแรงที่สุดสำหรับเขาคือยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่กองทัพไทยตอบโต้นักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และฟ้องดำเนินคดีกับผู้ที่ร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งสถิติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 ปีของ คสช. ยังไม่รวมกรณีที่คนในเครื่องแบบที่ถูกกล่าวหาว่าลุแก่อำนาจหรือใช้อำนาจมากแต่ยากแก่การตรวจสอบ

ในแง่ของการ “เสริมเขี้ยวเล็บ” ให้กองทัพ คสช. จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้สามเหล่าทัพราว 7 หมื่นล้านบาทตลอดสี่ปีที่ผ่านมา นอกจากฝ่ายความมั่นคงยังให้ให้ความสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วยการสร้าง “นักรบไซเบอร์” เพื่อรองรับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงภัยการเมืองที่ย้ายไปต่อสู้กันในโลกออนไลน์นอกเหนือจากการชุมนุมบนท้องถนนที่ คสช. เผชิญอยู่เป็นระยะ ๆ

มั่งคั่ง

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อกว่าทศวรรษ ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศให้ชะลอตัวลง โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2557 อยู่ที่เพียง 1% แต่การเข้ามาของ คสช.ทำให้การเมืองนิ่ง จีดีพีก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 3-4% ต่อปี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์เติมที่ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยถึงกว่า 35 ล้านคน เป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่

ล่าสุดเมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงว่าจีดีพีในไตรมาส 1 ของปีนี้ เติบโตถึง 4.8% ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะในด้านการลงทุนที่มีสัญญาณการฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินศูนย์วิจัยอีไอซีของ ธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากกำลังซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้ว
ทว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ตกถึงคนฐานรากที่เผชิญหนี้สินครัวเรือนล้นพ้นตัว กำลังซื้อลด แม้ว่าระยะหลังกำลังซื้อมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น
ภาวะสูญญากาศทางการเมืองอันยาวนานก่อนการรัฐประหารก็นำมาซึ่งปัญหาทางโครงสร้างที่หมักหมมจนปะทุขึ้นเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ที่ คสช. พยายามเข้ามาแก้ไข เช่น

- การปลดไทยพ้นบัญชีค้างาช้างผิดกฏหมาย
- การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ จนลดระดับความรุนแรงลงจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 เฝ้าระวังของรายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ
- การแก้ปัญหาในธุรกิจการบินพลเรือนจนองค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงออกจากไทย
- แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ก็ทำให้ไทยรอดพ้นจากใบแดงได้
- การปรับสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยดีขึ้นในรอบ 10 ปีจากบัญชีที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

ทว่า ปัญหาใหญ่ที่ คสช. ยังแก้ไม่ได้ และตกเป็นเป้าวิจารณ์จากสังคมคือ การแก้ไขปัญหาทุจริต หากพิจารณาดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลกปรากฏว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน กรณี “แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งถือเป็น “พี่ที่เคารพ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เพียงเรื่องจะจบแบบ “คาใจ” หลายคนแต่ยังทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระ

ภาพที่ทำให้เกิดประเด็นคำถามถึงที่มาของนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ภาพที่ทำให้เกิดประเด็นคำถามถึงที่มาของนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

"กรณีของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ของกลไกคุณธรรมจริยธรรมของไทย ซึ่งถ้าเรามีกลไกการแสดงบัญชีทรัพย์สินที่เข้มแข็งแล้วเราจะสามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเห็นผล" อิลฮาม โมฮัมเหม็ด ที่ปรึกษาประจำแผนกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Transparency International กล่าวกับบีบีซีไทยภายหลังการเปิดเผยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันปี 2560 ที่ถูกประกาศในปี 2561
ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงประสิทธิภาพการรับมือและจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น "ยิ่งคะแนนสูง ยิ่งดี"

ประเทศไทย 4.0

“มือเศรษฐกิจ” ของคสช. ที่มาจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ร่วมกันกำหนดทิศทางประเทศเพื่อให้หลุดพ้นกับดับรายได้ปานกลางซึ่งไทยกำลังเผชิญอยู่

โครงการใหม่ ๆ ภายใต้ชื่อ “ประเทศไทย 4.0” ประกอบด้วย “กลไกการขับเคลื่อนชุดใหม่” (New Growth Engine) กลไก “ประชารัฐ” และ “ไทยนิยม” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนำไปสู่การอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การพัฒนาสนามบินนานาชาติ การสร้างมอเตอร์เวย์ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นายสุวิทย์ในฐานะ รมช.พาณิชย์ กล่าวกับ ไทยรัฐ เมื่อ 2 พ.ค. ปีที่แล้วอธิบายถึงพลังประชารัฐว่า คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย โดยมีผู้มีส่วนร่วมหลักประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคการศึกษาและสถาบันวิจัยโดยเน้นตามความถนัดของแต่ละองค์กร โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน

บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการล้วนแต่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มมิตรผล และ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัดที่รัฐบาล คสช. ตั้งขึ้นเพื่อผสานความร่วมมือกับกลุ่มทุนใหญ่ในการทำกิจการเพื่อสังคม

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 มองความร่วมมือระหว่างรัฐทหารกับเอกชนขนาดใหญ่ภายใต้ "ไทยแลนด์ 4.0" และ "ประชารัฐ" ไว้น่าสนใจยิ่ง

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 

“มันเป็น มาสเตอร์แพลน ในการช่วงชิงมวลชน และสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมากมันเป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบ และบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน” ดร.เสกสรรค์กล่าวในปาฐกถาพิเศษ เมื่อเดือน มิ.ย. 2560

ยั่งยืน

ภายใต้ “ยุทธศาสตร์” สร้างความยั่งยืน สิ่งที่ปรากฏชัดเจนและไม่อาจเปลี่ยนแปลงแม้ในวันที่ คสช. พ้นจากอำนาจไปแล้ว คือ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”เพราะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 65 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ

สิ่งที่ตามมา คือ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ใช้เป็นกรอบการดำเนินการจัดทำตัวยุทธศาสตร์ชาติ ระหว่างปี 2560 - 2579 ซึ่งในเวลาต่อมา มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตามแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง แต่ในความจริงใช่เป็นเช่นนั้น

ใครคือกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแบ่งเป็นสองส่วนคือ

กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย
1) นายกรัฐมนตรี
2) ประธานสภาผู้แทนราษฏร
3) ประธานวุฒิสภา
4) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย
5) ปลัดกระทรวงกลาโหม
6) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
7) ผู้บัญชาการทหารบก
8) ผู้บัญชาการทหารเรือ
9) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
10) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
11) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
12) ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
13) ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ
14) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
15) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
16) ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
17) ประธานสมาคมธนาคารไทย
18) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กรรมการโดยการแต่งตั้งของ ครม.
กรรมการชุดนี้มีวาระคนละห้าปี มีจำนวนทั้งหมด 17 คน ซึ่งมีการแต่งตั้งไปแล้วบางส่วน และเคยมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (ป.ย.ป.) กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินรวมทั้งคณะทำงานประชารัฐ อาทิ นายกานต์ ตระกูลฮุน นายชาติศิริ โสภณพนิช นายเทียนฉาย กีระนันทน์ นายบัณฑูร ล่ำซำ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นายพลเดช ปิ่นประทีป นายวิษณุ เครืองาม นายศุภชัย พานิชภักดิ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายอุตตม สาวนายน

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องแถลงนโยบายและเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ​ซึ่งจะทำให้ “มรดกความคิดของ คสช.” ยั่งยืนคู่สังคมไทยไปอย่างน้อยสองทศวรรษ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ​ปี 2560 ทีผ่านการลงประชามติ ก็เป็น “มรดก” อีกชิ้นที่ไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย เนื่องจากต้องอาศัย“เสียงเกินกึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ทั้งหมด 750 คน ในจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เห็นชอบในการแก้ไขจำเป็นต้องประกอบด้วย ส.ว. ที่เห็นชอบไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของ ส.ว. ทั้งหมด 250 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปกติ”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากภาควิชาการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไว้