นักศึกษาประท้วง : รวมคำและวลีจากแฟลชม็อบของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจ

ชูป้ายประท้วง

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น "จะจุดติดไหม" หรือ "ใครอยู่เบื้องหลัง" แต่ยังมีอีกคำถามหนึ่งที่หลายคนที่ติดตามการชุมนุมของคนรุ่นใหม่แอบถามตัวเองเบา ๆ -- "คำนี้แปลว่าอะไร"

การชุมนุมของคนแต่ละรุ่นในแต่ละยุคสมัย ย่อมมีภาษาและวิถีทางเฉพาะของตัวเอง บางอย่างเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต บางอย่างเป็นของใหม่-คำใหม่ที่คนรุ่นอื่นอาจไม่เข้าใจ

บีบีซีไทยหยิบยกบางถ้อยคำและกิจกรรมที่พบในแฟลชม็อบของนักเรียนนักศึกษามาบันทึกไว้ พร้อมคำอธิบาย

ชั่ย/ชั่ยส์

คือคำว่า "ใช่" นั่นเอง แต่สะกดแบบที่เด็กรุ่นใหม่ใช้กันในแชทแอปหรือโซเชียลมีเดีย ผู้ร่วมชุมนุมมักชูกระดาษ A4 หรือไอแพดที่เขียนคำว่า "ชั่ย" หรือ "ชั่ยส์" เมื่อเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ปราศรัยพูดหรือบางครั้งก็ชูขึ้นมาเฉย ๆ เพื่อส่งสัญญาณว่าเห็นด้วยกับอะไรก็ตามที่ไม่มีใครพูดแต่เป็นที่รู้กัน

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 25 ก.พ.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"No privacy. No security. No democracy."

มาจากคำตอบของ ปวีณสุดา ดรูอิ้น หรือ "ฟ้าใส" นางงามไทยในเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2019 ต่อคำถามของพิธีกรที่ถามนางงามซึ่งเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายว่า "รัฐบาลในหลายประเทศต่างก็มีนโยบายในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน แต่บางคนเห็นว่านโยบายเหล่านั้นเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับคุณสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากันระหว่าง 'ความเป็นส่วนตัว' กับ 'ความมั่นคง' " ซึ่งฟ้าใสตอบแบบกลาง ๆ ว่ารัฐบาลไม่ควรจะก้าวล่วงสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงต้องหาจุดสมดุล

นิสิตนักศึกษาจัดการชุมนุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "จะแล้วมั้ย..." และ พล.อ.ประยุทธ์ ติดดาว Jox Jox

นิสิตนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมได้นำคำตอบดังกล่าวมาขยายความเพื่อย้ำว่า ถ้าไม่มีความเป็นส่วนตัว ก็ย่อมไม่มีความมั่นคง และจะไม่มีประชาธิปไตยด้วย

"จะแล้วมั้ย"

"จะแล้วมั้ย" กลายเป็นวลีฮิตในโลกโซเชียลตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากมีผู้เผยแพร่คลิปคนทะเลาะกันใน จ.ขอนแก่น ฝ่ายหนึ่งถามว่า "จะแล้วมั้ย" หมายถึง "จะจบหรือไม่จบ" วลี "จะแล้วมั้ย" จึงถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในความหมายว่าจะจบเรื่องหรือไม่ หรือจะทำงานเสร็จหรือไม่

การรวมตัวของนิสิตจุฬาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นิสิตคนหนึ่งชูป้ายกระดาษที่เขียนว่า "จะแล้วมั้ย ประชาธิปตาย"

"...จะบ้าตายรายวัน"

หมายถึงเรื่องเยอะ เรื่องมาก มีเรื่องให้ต้องคิดต้องปวดหัวทุกวัน ไม่จบไม่สิ้น

"...จะบ้าตายรายวัน" เป็นคำบ่นที่ชาวเน็ตนิยมใช้หลังจากคลิปของบุคคลข้ามเพศคนหนึ่งพร่ำบ่นถูกแชร์อย่างกว้างขวาง

นักศึกษานำวลีนี้มาใช้ในความหมายที่ว่ารัฐบาลนี้มีเรื่องให้พวกเขาต้องปวดหัวไม่จบสิ้น

ขอบคุณนะคะที่กล้าที่จะสอนหนู

ประโยคนี้มาจากรายการ The Face Thailand ซีซัน 1ที่อดีตนางแบบ เมทินี กิ่งโพยม เมนเทอร์ประจำรายการวิจารณ์ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งว่าเป็นเด็กไม่มีมารยาท จะอยู่ในวงการบันเทิงลำบาก หญิงสาวคนดังกล่าวจึงตอบเมทินีว่า "ขอบคุณนะคะที่กล้าที่จะสอนหนู"

การตอบโต้นี้ถูกใจชาวเน็ต ที่นำประโยคนี้มาใช้สื่อสารกับผู้ที่มีอายุมากกว่าและมักอ้างว่ามีประสบการณ์มากกว่า ที่มักจะพร่ำสอนคนรุ่นหลัง แต่ทำตามที่ตัวเองพูดไม่ได้

นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า "ขอบคุณนะคะที่กล้าที่จะสอนหนู" หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาเตือนนักเรียนนักศึกษาว่าอาจหมดอนาคตเพราะถูกดำเนินคดีอาญาจากการทำผิดกฎหมายระหว่างการชุมนุม

นักศึกษาชุมนุม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นักศึกษามหิดล "ขอบคุณ" นายกฯ

ผนงรจตกม และตัวย่ออื่น ๆ

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 วนิษา เรซ "หนูดี" นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ทวีตวิจารณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการรับมือกับอุทกภัยว่า "ชีวิตนี้ขอพูดอะไรแรง ๆ สักครั้งนะคะ น้ำท่วมไม่กลัว แต่กลัวผู้นำโง่ เราจะตายกันหมด" ซึ่งกลายเป็นมีมมาตลอดจนถึงปัจจุบันและกลับมาฮิตในรูปแบบอักษรย่อเมื่อขบวนพาเหรดล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ประจำปีนี้มีนักศึกษาถือป้ายผ้าผืนยาวที่่มีตัวอักษรเรียงกันเป็นพรืดว่า "ผนงรจตกม"

นิสิตนักศึกษาจัดการชุมนุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากอักษรย่อ "ผนงรจตกม" แล้ว บรรดานักเรียนนักศึกษายังใช้อักษรย่ออีกหลายชุดในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

ภาพนายกฯ พร้อมด้วยรูปดาวและคำว่า Jox Jox

Jox Jox เป็นชื่อของเพจเฟซบุ๊กที่มักหยิบยกบุคคลมาวิจารณ์หรือเปิดโปงการกระทำบางอย่าง บุคคลที่ได้ติด "ดาว Jox Jox" เป็น "ดาวเพจ" ที่มีเรื่องหรือประเด็นให้ชาวเน็ตแฉ/เปิดโปงมากที่สุด

ฟางเส้นสุดท้าย

สำนวนนี้ไม่ได้เป็นสำนวนที่คนรุ่นใหม่คิดขึ้น แต่อาจเป็นวลีที่พวกเขาและเธอถูกถามมากที่สุดว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่

"ฟางเส้นสุดท้าย" เป็นสำนวนที่มีการใช้กันบ่อยในภาษาไทย จนหลายคนคิดว่าเป็นสำนวนไทย แต่แท้จริงแล้วมาจากสำนวนอังกฤษว่า "the straw that broke the camel's back" หมายถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดแตกหักที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง เปรียบเหมือนอูฐที่บรรทุกสิ่งของบนหลังมาหนักมากแล้ว แต่เมื่อวางฟางเส้นสุดท้ายลงอีกเพียงเส้นเดียวก็ทำให้อูฐหลังหักได้