นองเลือดในไนจีเรีย : รัฐบาลส่งทหาร-ตำรวจเข้าปราบประชาชนที่ต้องการการปฏิรูป

End Sars protesters on a car with a Nigerian flag in Lagos, Nigeria 1- October

ที่มาของภาพ, EPA

เกิดการจลาจลในหลายเมืองในไนจีเรียหลังทางการส่งกำลังทหาร-ตำรวจเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในลากอส เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมื่อ 20 ต.ค. ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน

กองทัพไนจีเรียออกมาระบุผ่านทวิตเตอร์ว่ารายงานดังกล่าวเป็น "ข่าวปลอม" ขณะที่ทางการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็มีผู้ประท้วงหลายคนที่ไม่สนคำสั่งนี้

จุดเริ่มต้น

Protesters hold banners as they walk along a road during a protest against the Nigeria rogue police, otherwise know as Special Anti-Robbery Squad (SARS), in Ikeja district of Lagos, Nigeria, 09 October 2020.

ที่มาของภาพ, EPA

การชุมนุมเริ่มต้นจากการประท้วงหน่วยตำรวจพิเศษต่อต้านการโจรกรรม (Special Anti-Robbery Squad) หรือที่มีชื่อย่อว่า Sars โดยเกิดเป็นแฮชแท็ก #EndSars ในทวิตเตอร์เรียกร้องให้ยุบหน่วยดังกล่าว

หลายปีที่ผ่านมา มีข้อกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยตำรวจพิเศษนี้เองที่ลักทรัพย์ ทำร้าย และแม้กระทั่งสังหารประชาชน แต่การประท้วงเพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี สั่งยุบหน่วยตำรวจพิเศษนี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. แต่การประท้วงก็ยังดำเนินต่อไป กลายเป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศในหลายประเด็น ทั้งในแวดวงทหาร ตำรวจ และการบริหารประเทศ

เกิดอะไรขึ้น

A demonstrator stands atop a vehicle and shouts slogans as others carry banners while blocking a road leading to the airport, during a protest over alleged police brutality, in Lagos, Nigeria October 12, 2020.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

Most of the protesters are young

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าชายในเครื่องแบบเริ่มยิงไปยังผู้ชุมนุมราวพันคนในเลกกี ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนร่ำรวยในเมืองลากอส

มาเยนี โจนส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า มีคนเห็นทหารตั้งแนวกั้นล้อมจุดที่ผู้ประท้วงชุมนุมอยู่ไม่นานก่อนจะเกิดการยิงขึ้น วิดีโอรายงานสดบนโซเชียลมีเดียแสดงภาพผู้ประท้วงกำลังช่วยกันปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ

ผู้เห็นเหตุการณ์อีกคนที่ไม่อยากเปิดเผยชื่อบอกกับบีบีซีว่าเมื่อเวลา 19.00 น. "ทหารจอดรถ...และพวกเขาก็เริ่มยิงตรง ๆ" ไปที่ผู้ประท้วงที่มารวมตัวกันอย่างสันติ

"พวกเขายิงมาที่เรา และก็เคลื่อนเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ วุ่นวายมาก คนข้าง ๆ ผมถูกยิงแล้วก็เสียชีวิตตรงนั้นเลย"

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงมาชุมนุมกันที่ด่านเก็บค่าผ่านทางในย่านเลกกี เพื่อกั้นไม่ให้รถสามารถสัญจรไปมาได้

ก่อนที่ประกาศเคอร์ฟิวจะเริ่มมีผลไม่นาน เจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงที่ชุมนุมแล้วก็เริ่มล้อมผู้ประท้วงไว้ ก่อนจะที่จะมีการปิดไฟตามท้องถนนและเริ่มยิง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่ามีคนถูกทหารและตำรวจยิงเสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน

People in hospital

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุยิงผู้ประท้วง

หลักฐานจากโรงพยาบาลและผู้เห็นเหตุการณ์ชี้ว่า "กองทัพไนจีเรียกราดยิงไปยังคนหลายพันคนที่กำลังประท้วงอย่างสันติเพื่อเรียกร้องให้มีการบริหารบ้านเมืองที่ดีขึ้นและให้หยุดการกระทำทารุณของตำรวจ"

โอไซ โอจิโก ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไนจีเรีย กล่าวว่า "ทหารมีเพียงจุดประสงค์เดียวอย่างชัดเจน คือต้องการฆ่าโดยไม่ต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา"

ล่าสุด กลุ่มเฟมินิสต์ โคอะลิชัน (Feminist Coalition) ซึ่งเป็นผู้จัดการประท้วงหลักออกมาแนะนำให้ประชาชนอยู่บ้านตามประกาศเคอร์ฟิวแล้ว โดยบอกว่าขอประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และคนหนุ่มสาวไนจีเรีย "ต้องมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะสานฝันของเราในการสร้างอนาคต"

ประธานาธิบดีว่าอย่างไร

ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี กล่าวในแถลงการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 ต.ค. ว่า ขอให้ผู้ประท้วงหยุดชุมนุม และหัน "มาหาทางออก" ร่วมกันกับรัฐบาล

อย่างไรก็ดี เขากลับไม่ได้พูดถึงเหตุการยิงผู้ชุมนุมซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการประณามไปทั่วโลกเลย

หลายคนมองว่า นี่แสดงให้เห็นว่าผู้นำประเทศไม่เข้าอกเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และก็ไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องสำคัญ ๆ ของผู้ประท้วงเลย

มาเยนี โจนส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า แม้จะมีการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมบางส่วนแล้ว และก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องที่ตำรวจใช้ความรุนแรง แต่ก็ยังไม่ได้พูดถึงการชดใช้ค่าเสียหายและการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

อย่างไรก็ดี โจนส์ บอกว่า ได้มีการตื่นรู้ทางการเมืองเกิดขึ้นแล้วในหมู่คนหนุ่มสาวไนจีเรียทั้งในและต่างประเทศ

ปฏิกริยานานาชาติ

ที่สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และเคนยา มีการประท้วงเรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจไนจีเรีย ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ประณามการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 20 ต.ค.

โจเซพ บอเรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปบอกว่า "น่าตกใจเมื่อได้ทราบว่ามีคนหลายคนถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บระหว่างการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้น" และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมกับผู้อยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างอดทนอดกลั้นที่สุด และก็ขอให้ผู้ประท้วงชุมนุมอย่างสันติและไม่ใช้ความรุนแรง