มาตรา 112 : นายกฯ เตือนเยาวชนให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ

รัชกาลที่ 10

ที่มาของภาพ, JEWEL SAMAD/AFP via Getty Images

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเรียกร้องให้คนไทยสำนึกในพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบัน

นายกฯ ยังกล่าวเตือนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการอุ้มหายผู้ลี้ภัยไทยว่าอาจจะ "เสียอนาคต-หางานทำไม่ได้"

ขณะที่ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชา ยืนยันว่าเธอไม่กลัวว่าการเคลื่อนไหวของเธอจะทำให้มีปัญหาในอนาคต

"ไม่กลัวว่าจะมีปัญหา เชื่อว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถที่จะหางานทำได้ และเชื่อว่าต่อไปสังคมจะเปิดกว้างกับคนที่เห็นต่าง" น.ส.จุฑาทิพย์ นศ.ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บอกกับบีบีซีไทย หลังจากได้ฟัง "คำเตือน" ของ พล.อ.ประยุทธ์

นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันนี้ (15 มิ.ย.) เกี่ยวกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่เขาพูดถึงกรณีนี้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักนายวันเฉลิม

นายวันเฉลิม อายุ 37 ปี เดินทางออกนอกประเทศหลังจากถูกออกหมายจับเพราะไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลังรัฐประหารปี 2557 เขาลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา โดยมีรายงานว่าพักอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ นายวันเฉลิมหายตัวไปตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. โดยครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าเขาถูกลักพาตัวไป

วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทางการเมือง

นายกฯ บอกว่ากัมพูชาพร้อมจะสอบสวนการหายตัวไปของนายวันเฉลิมหากมีคนไปแจ้งความหรือร้องทุกข์ และขณะนี้ทางการกัมพูชาได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว

เขากล่าวถึงผู้ลี้ภัยในต่างประเทศว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่ทำความผิดในประเทศ เมื่อหนีออกไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็มักพูดกล่าวหาผู้อื่นอย่างเสียหาย

"คนที่ไปอยู่ต่างประเทศเขาไปอยู่เพราะอะไร เขาทำความผิดในประเทศไทยใช่ไหม บางคนทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็หนีไป ก็ไม่รู้จะหนีไปทำไม คดีมันนิดหน่อยเท่านั้นเอง อย่างเช่นเรียกตัวแล้วไม่มา แล้วบางคนไปทำธุรกิจอะไรก็ไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และบอกว่ารัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากทุกประเทศที่มีคนเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในยุโรป ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ประเทศต้นทางว่าจะส่งตัวกลับมาหรือไม่ ทางการไทยต้องยอมรับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถส่งคนไปติดตามตัวกลับมาได้

ชุมนุมเรียกร้องเรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นับตั้งแต่หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นักกิจกรรมในไทยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง

"ทำได้ที่ไหนในต่างประเทศ กฎหมายเขามี ใครจะกล้าเข้าไปทำ" นายกฯ กล่าว

"เวลาที่เป็นผู้ลี้ภัย คนเหล่านี้น่าจะสำนึกว่า เออ...เขาให้อยู่ประเทศเขาแล้ว ก็ไม่ควรจะทำอะไร เดี๋ยววันหน้าจะมีปัญหาอีก ถ้าเกิดเขาไม่ให้อยู่แล้วจะไปอยู่ในประเทศไหน ผมก็สงสารเขานะ ผมไม่ใช่คนใจร้ายนี่ จะไปฆ่าไปแกงกันได้ยังไง" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

มาตรา 112

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่ามีความกังวลเรื่องการละเมิดและการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงการเชื่อมโยงสถาบันเข้ากับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม

"สิ่งที่กลัวที่สุดคือการละเมิด การก้าวล่วงสถาบัน ขอร้องทุกคนด้วย ในฐานะที่เราเป็นคนไทย อย่าไปเชื่อกลุ่มที่บิดเบือน ที่สร้างความเกลียดชัง ยึดโยงโน่นนี่กันมา มันไม่มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว"

นายกฯ ขอให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่คนกลุ่มนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงใกล้วันสำคัญนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด และขอให้ประชาชนอย่าตกเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน

นายกฯ กล่าวว่าอยากให้สังคมไทยตระหนักว่าในรอบ 2-3 ปีมานี้ ไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย

"สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดกันไปเรื่อยเปื่อยแบบนี้ หมายความว่ายังไง ต้องการอะไรกัน วันนี้ผมจำเป็นต้องพูด เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ ยังได้พูดถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้ลี้ภัย ซึ่งบางคนถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย โดยเตือนนักศึกษาว่าอาจ "เสียอนาคต"

"ก็ไม่อยากให้เขาเสียอนาคต ไม่ได้ไปขู่เขาเลยนะ แต่กฎหมายมีทุกตัวอยู่แล้ว...ฝากถึงนักศึกษานะ ทุกคน ถ้าหากว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้ วันข้างหน้าจะหางานทำยาก เพราะบริษัทห้างร้านไม่อยากได้คนที่มีทัศนะคติแบบนี้ไปทำงาน แล้วอนาคตจะทำมาได้กินอย่างไร โดยเฉพาะผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกชักนำ"

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC THai

คำบรรยายภาพ, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวกรณี "วันเฉลิม" บอกว่าเธอไม่กลัวว่าสิ่งที่ทำในวันนี้จะทำให้มีปัญหาในอนาคต

นายกรัฐมนตรี ยังขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันรักษาชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่น การเปลี่ยนแปลงประเทศที่ผ่านมาไม่ได้เกิดความรุนแรง หลายประเทศที่เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง มีคนล้มตายไม่รู้เท่าไหร่ ประเทศไทยไม่ควรดำเนินรอยตามประเทศเหล่านี้

จาก "ดอน" ถึง "ประยุทธ์"

การออกมาพูดเรื่องมาตรา 112 ของนายกฯ วันนี้เกิดขึ้นไม่ถึงสัปดาห์หลังจากที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงประเด็นนี้ในที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. โดยบอกว่าเขาเคยอธิบายเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้คณะทูตานุทูต 22 ประเทศ ฟังว่า มาตรา 112 เป็นเหมือนกฎหมายที่มีอยู่ในทุกประเทศ ในความหมายของการมีกฎหมายเฉพาะถิ่น เฉพาะที่ เฉพาะตามความจำเป็นของประเทศนั้น ๆ เชื่อว่าทุกประเทศก็ต้องมีกฎหมายอาญา ซึ่งคณะทูตก็เห็นด้วยว่าเป็นเช่นนั้น

นายดอนอธิบายกับทูตต่อว่า คนที่ห่วงใยและกังวลเกี่ยวกับมาตรานี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือคนไทย 67 ล้านคนซึ่งไม่เห็นว่ามีปัญหา อีกกลุ่มอาจจะมีไม่ถึง 100 คนที่บอกว่าเป็นปัญหา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านในสภา

ที่มาของภาพ, STR/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศบอกว่าคนไทยที่มีปัญหากับมาตรา 112 มีจำนวนเพียงเล็กน้อย

"เพราะ 67 ล้านคนเขาเห็นว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสถาบันหรือตามที่รับรู้มาล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติแก่ตัวเขา ส่วนน้อยอีกฟากหนึ่งถือว่ามีปัญหาในมุมมองของเขา ถ้าเช่นนี้ในความรับรู้ของ 22 ประเทศ ท่านจะถือว่าเป็นปัญหาแค่ไหน" รมว.ต่างประเทศกล่าวในที่ประชุมสภา

"ไอลอว์" เผยยุติการใช้จริงในรอบ 3 ปี แต่ใช้ ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ แทน

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็จริงแต่บุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น

เขายกตัวอย่างกรณีของนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ที่ถูกดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกลุ่มคนที่นิยมแนวความคิดสหพันธรัฐไทก็โดนข้อหายุยงปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนกระทำผิดอาญาล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และ เป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ตามประมวลกฎหมายอาญา

นายกาณฑ์ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกควบคุมตัวเมื่อ 7 ต.ค. 2562 และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ "นิรนาม" ซึ่งเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์วัย 20 ปี มีผู้ติดตามหลายแสนคน ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับเมื่อ 19 ก.พ. 2563 และแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากการทวีตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10

คำบรรยายวิดีโอ, ส.ศิวรักษ์ เกิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ในวัย 85 ปี เขาผ่านชีวิตใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมา 4 พระองค์

นายยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตว่า การใช้มาตรา 112 นั้นจะเข้มข้นหรือขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมาย และสามารถเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมาย เช่น ก่อนปี 2559 ก็มีการใช้ มาตรา 112 อย่างมากและอย่างหนักหน่วงโดยมีการดำเนินคดีในศาลทหาร ในขณะที่ในช่วงรอยต่อระยะเวลาปี 2561 - 2562 มีกลุ่มที่เคยยื่นประกันตัวในคดีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งแต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด กลับได้รับการปล่อยตัว ทั้ง ๆ ที่ข้อกล่าวหาก็เหมือนเดิม