เลือกตั้ง 2562 : รวมเรื่องพลิกล็อกของ 5 ผู้สมัครในบัญชีนายกฯ

นสพ.เช้านี้

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, วันแรกหลังวันประวัติศาสตร์ 2 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาลแข่งกัน
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

แม้ขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปว่าพรรคไหนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งสามารถหิ้วว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าสภาฯ ได้กว่าร้อยชีวิต ล่าสุดบ่ายวันที่ 25 มี.ค. พท. ชิงเปิดแถลงข่าวขอรวบรวมเรียงเสียงจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่ามีเสียงของ "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" เกิน 300 เสียง

ทว่าผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการร้อยละ 94 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ผ่านสื่อ สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ได้เปิด "ประวัติศาสตร์หน้าใหม่" และเกิด "ปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง" หลากหลาย

บีบีซีไทยรวมเรื่องพลิกล็อกของบรรดาผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองหลักรวม 6 พรรค เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาและพรรคต้นสังกัดของพวกเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้

สถานะที่เป็นเพียง "อดีต" ของ อภิสิทธิ์

ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลายเป็นเพียง "อดีต" ไปแล้วสำหรับนักการเมืองวัย 55 ปี ผู้มีดีกรีเป็นนายกฯ คนที่ 27 นาม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เขาเอ่ยคำ "ขอโทษ" ผู้สนับสนุน ปชป. ที่ไม่สามารถผลักดันแนวคิดให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และ "ขออภัย" เพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งอดีต ส.ส. และคนรุ่นใหม่ ก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่ง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลา 4 ชั่วโมงเศษหลังปิดหีบเลือกตั้ง ซึ่งในเวลาที่ อภิสิทธิ์ เปิดแถลงข่าว ยอดว่าที่ ส.ส. ของพรรคตามการรายงานของสื่อสำนักต่าง ๆ มีเพียง 35 ที่นั่งเท่านั้น

เขาจึงต้องแสดงความรับผิดชอบตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้ว่าหาก ปชป. ตกที่นั่ง "พรรคต่ำร้อย" จะลาออกจากตำแหน่ง นั่นทำให้ อภิสิทธิ์ ต้องหยุดสถิติการเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 7 เอาไว้ที่ 14 ปี

แม้การ "ไม่ชนะ" จะไม่ใช่เรื่องเหนือคาดสำหรับพรรค 7 ทศวรรษ ทว่าการ "แพ้ยับ" ก็ทำให้นักเลือกตั้งในสังกัดถึงกับไปไม่เป็น นี่คือเรื่อง "พลิกล็อก" ของพวกเขา

  • ตกที่นั่ง "พรรคต่ำร้อย" ในรอบ 14 ปี (ครั้งสุดท้ายคือเลือกตั้งปี 2548 ภายใต้การนำของ บัญญัติ บรรทัดฐาน)
  • เสียสถานะ "พรรคอันดับ 2" ในรอบ 27 ปี (นับจากเลือกตั้ง ก.ย. 2535 ซึ่ง ปชป. ชนะและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก่อนหล่นไปอยู่ในฐานะพรรคอันดับ 2 มาเรื่อยนับจากปี 2538 เป็นต้นมา)
  • จ. ตรัง ถูกมองว่าเป็น "เมืองหลวง" ของพรรคถูกตีแตก ในรอบ 24 ปี (ปชป. เริ่มชนะยก จ. ตรัง ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2538)
  • สูญพันธุ์ใน กทม. ครั้งแรก นับจากผ่านช่วงเวลายากที่สุดในสนาม กทม. ในการเลือกตั้ง มี.ค. 2535 ซึ่ง อภิสิทธิ์ หลุดเข้าสภาได้เพียงหนึ่งเดียวของพรรค และเป็นการทำหน้าที่ ส.ส. กทม. ครั้งแรกของเขา

สุดารัตน์ อาจไป(ไม่)ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้ "นายกฯ หญิง"

ไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหนที่ชีวิตทางการเมืองของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ วัย 57 ปี มีโอกาสเฉียดเข้าใกล้เก้าอี้ "นายกฯ หญิง" ได้เท่ากับการเลือกตั้งหนนี้

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ที่มาของภาพ, Reuters

ทว่าตลอดเส้นทางสู่การเลือกตั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ต้องพบกับ "เหตุไม่คาดฝัน" อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกรณีพรรคพันธมิตร คือ ไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค ชนิดที่ทำอะไรไม่ได้นอกจาก "ทำใจ" และ "ร่ำไห้" ก่อนกัดฟัน-พยุงตัว-ลุกขึ้นมาตั้งหลักใหม่หลัง กกต. ไม่ประกาศรับรองรายชื่อดังกล่าว

อย่างไรก็ดีเธอต้องพบกับ "อุปสรรคใหญ่" ที่สกัดไม่ให้ถึงฝั่งฝนเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ทษช. ในเวลา 17 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทำให้ยุทธศาสตร์ ที่คู่แข่งกล่าวหาว่าเป็นเรื่อง "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ต้อง "ผิดแผน" เมื่อไร้พันธมิตรช่วยเก็บกวาดแต้ม ส.ส. บัญชีรายชื่อ แม้ พท. ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

ในการปราศรัยปิด คุณหญิงสุดารัตน์บอกประชาชนว่า 22 มี.ค. 2535 คือวันที่ "หน่อยเกิดทางการเมือง และเป็นครั้งที่เราหยุดการสืบทอดอำนาจ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติผู้ก่อรัฐประหารปี 2534) สำเร็จ วันนี้พี่น้องมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ได้ไหมในวันที่ 24 มี.ค. หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช."

เธอเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ อภิสิทธิ์ เพราะเข้าไปทำหน้าที่ครั้งแรกพร้อมกันในปี 2535

เจ๊

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ภาพเมื่อครั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เป็น ส.ส. กทม. สมัยแรก ถูกฉายบนเวทีปราศรัยปิด พท. ที่อาคารกีฬาเวสน์ เมื่อ 22 มี.ค.

แต่ถึงกระนั้นคำร้องขอของ "หญิงหน่อย" ดูจะไม่เป็นผล เมื่อผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า พปชร. ตามมาหายใจรดต้นคอ พท. และทำให้ สุดารัตน์ อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้ "นายกฯ หญิง" แม้พรรคต้นสังกัดของเธอเปิดแถลงชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็ตาม ผลลัพธ์ที่เห็น คือ

  • ชนะการเลือกตั้ง แต่อาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี (นับจากปี 2544 ยุครัฐบาลไทยรักไทย, พลังประชาชน และเพื่อไทย)
  • ตกที่นั่ง "พรรคต่ำ 200" ในรอบ 18 ปี (นับจากปี 2544)
  • ส.ส. บัญชีรายชื่อ "สูญพันธุ์" ในรอบ 18 ปี ทั้งที่เคยเป็นพรรคที่มีฐานมวลชนสนับสนุนสูงสุดราว 19 ล้านเสียง ทว่าด้วยบัตรเลือกตั้งที่หดเหลือใบเดียวตามระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ก็ทำให้พรรคประสบปัญหาซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว
  • คุณหญิงสุดารัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 "สอบตก" เป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี (นับจากเข้าสภาครั้งแรกเมื่อปี 2535 แม้ในยุคพรรคทักษิณจะให้ รมต. ลาออกจากการเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อเมื่อได้เป็น รมต. เพื่อรักษาที่นั่งในสภา แต่คุณหญิงหน่อยก็ได้เข้าสภาฯ ก่อนทุกครั้ง) ทั้งที่พรรครณรงค์ว่า "นายกฯ ต้องเป็น ส.ส." ตามหลักการประชาธิปไตย

อนุทิน "เนื้อหอม" หลัง ภูมิใจไทย "พองขึ้น"

อนุทิน ชาญวีรกุล กับ ฉายา "เสี่ยหนู" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นเจ้าของคำประกาศเป็น "หนูไม่กลัวน้ำร้อน" ในการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. ทั้งประเทศของพรรค

อนุทิน ชาญวีรกูล

ที่มาของภาพ, กองโฆษกพรรคภูมิใจไทย

แม้ทำหน้าที่ผู้นำพรรคสีน้ำเงินมาเกือบครบ 7 ปี จากอายุพรรคเกือบ 11 ปี แต่นี่คือการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบภายใต้การบัญชาการของ อนุทิน เป็นครั้งแรก ไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่กลายเป็นโมฆะ

เป็นที่รับรู้-เล่าขานในหมู่นักเลือกตั้งว่า ภท. ได้ทยอยเก็บนักเลือกตั้งอาชีพเข้าไปไว้ในสังกัด โดยเน้นอดีตนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นที่จะทำคะแนนให้พรรคได้อย่างน้อย 20,000 คะแนน เพราะใช้ยุทธศาสตร์ "บุกไปแพ้ แต่โกยแต้มมานับเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ" เป็นพรรคแรก ๆ

นอกจากนี้หัวหน้า ภท. วัย 53 ปี ยังเล่นการเมืองแบบไม่สร้างศัตรู-ดึงศัตรูมาเป็นพวก ชนิดที่เจ้าตัวก็เคยโฆษณาไว้ว่า "หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) "ดูแลสมาชิกเป็นเลิศ" จึงไม่แปลกหากจะมี "อดีต ส.ส. เกรดเอ" พาเหรดเข้าพรรคจำนวนมาก

ว่ากันว่าในช่วงโค้งสุดท้าย ภท. ได้กำหนด "พื้นที่เป้าหมาย" ที่จะสู้ หากเขตไหนมีลุ้นสู้ได้ก็จะส่งแรงอัดกำลังเต็มที่ หากเขตไหน โพลภายในชี้ว่าเข็นไม่ขึ้น พวกเขาก็ปล่อยมือ ไม่ไปเสียเวลา

ยอดว่าที่ ส.ส. ที่ได้มาอาจเป็นเรื่อง "พลิกล็อก" ในสายตาคนนอก แต่มันเป็นสิ่งที่อนุทินกับพวกรู้แต่แรกว่าพรรคของเขาจะเดินมาถึงจุดที่ "พองขึ้น"

ประเด็นน่าสนใจจากชัยชนะครั้งนี้ คือ

  • ขยับสู่การเป็นพรรคเฉียด "ครึ่งร้อย" ได้สำเร็จในรอบทศวรรษ จากเดิมเป็นพรรคอันดับ 3 ที่มี ส.ส. อยู่ 34 ที่นั่ง
  • ทวงคืน จ. บุรีรัมย์ ซึ่งถือเป็น "เมืองหลวง" ของพรรค และเป็นบ้านเกิด เนวิน ชิดชอบ กลับมาได้สำเร็จในรอบ 8 ปี โดยชนะเลือกตั้งยกจังหวัด ด้วยคะแนนตั้งแต่ 3 หมื่น-4.6 หมื่นคะแนน
  • อนุทิน กลายเป็นแคนดิเดตนายกฯ "เนื้อหอม" แม้เป็นผู้นำ "พรรคอันดับ 4 หรือ 5" แต่ก็เป็นเสียงสำคัญในการชี้ขาดว่า "ขั้วไหน" จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จนเกิดข่าวลือ-ข่าวปล่อยไปไกลถึงขั้นว่า "นายใหญ่" ของ พท. ต่อสายตรงถึงเขาเสนอตำแหน่งสูงกว่ารัฐมนตรี ร้อนถึงอนุทินต้องออกมาปฏิเสธว่า "ยังไม่ได่โทรหาใคร และไม่มีใครโทรหา"

การเมืองแห่งอนาคต กำหนดปัจจุบันของ ธนาธร

"ความหวัง" และ "ความเปลี่ยนแปลง" ในอนาคตที่ผู้คน 5.8 ล้านเสียงที่ใฝ่ฝันจะเห็น ได้กำหนดปัจจุบันของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) วัย 40 ปี และทำให้พรรคการเมืองน้องใหม่ทะยานขึ้นสู่การเป็นพรรค "ทะลุครึ่งร้อย" ในการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขา

อนาคตใหม่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอดีตนักธุรกิจผู้ผันตัวมาเป็นนักการเมืองรายนี้ เป็นผู้จุดกระแส "คนรุ่นใหม่" ในการเมืองไทย และประกาศปักธงทางความคิด-พาสังคมไทย "ออกจากวงจรรัฐประหาร" ความเคลื่อนไหวของ ธนาธร ทำให้การเลือกตั้งภายหลังรัฐประหารปี 2557 มุ่งสู่การแข่งขันในเชิงอุดมการณ์เหนือนโยบาย และเกิดภาพแจ่มชัดขึ้นในช่วงท้าย ๆ ที่ผู้คนคล้ายแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายแสวงหา "อนาคตใหม่" กับฝ่ายรักษา "ความรุ่งเรืองในอดีต"

นอกจากนี้ อนค. ยังนำแนวทาง "การเมืองใหม่" ที่พวกเขาบอกว่า "ไม่ใช้หัวคะแนน-ไม่อยู่ในระบบอุปถัมภ์" มาใช้ โดยที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเป็นคนธรรมดา ซึ่งยากจะเชื่อได้ว่าจะนำมาสู่ความสำเร็จทางการเมือง แต่พวกเขาทำให้เกิดเหตุ "พลิกล็อก" ขึ้นมากมายในการเลือกตั้งหนนี้

  • ได้จำนวนว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสูงสุด ในการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับนักการเมือง/ผู้ติดตามการเมืองที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า อนค. จะเป็น "พรรคปาร์ตี้ลิสต์ล้วน"
  • ได้คะแนนเสียงมหาชน (ป๊อบปูลาร์โหวต) ใน กทม. สูงสุด 8 แสนเสียง แม้จะไม่ได้ที่นั่งใน กทม. สูงสุด
  • หิ้ว ส.ส. แบบแบ่งเขตเข้าสภาฯ ได้เกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ และยังสร้างปรากฏการณ์ "ล้มช้าง" ในหลายพื้นที่ เมื่อผู้สมัครหน้าใหม่ "ถอนราก" คนดังในตระกูลการเมือง/เจ้าของพื้นที่เดิม อาทิ จ.นครปฐม โค่น อนุชา สะสมทรัพย์ ชทพ., จ. ชลบุรี โค่น อิทธิพล คุณปลื้ม พปชร., จ. เชียงราย ล้ม สามารถ แก้วมีชัย พท. และ รัตนา จงสุทธานามณี พปชร., ขอนแก่น ล้ม จักริน พัฒน์ดำรงจิตร และ จ. พิษณุโลก ล้ม นพ.วงรค์ เดชกิจวิกรม จาก ปชป.
  • ธนาธร พลิกจาก "ผู้นำกระแสนิยม" ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็น "ผู้นำประชานิยมใหม่" ซึ่งผู้ลงคะแนนเลือก อนค. บางส่วนก็ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า "เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ดูหน้าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต แต่เลือกเพราะตัว ธนาธร"

ชู ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อเหตุมี 7.9 ล้านเสียงเป็นหลังพิง

หากการเมืองแห่ง "ความหวัง" ชี้ชะตาพรรคสีส้ม การสร้างวาทกรรมแห่ง "ความกลัว" ผ่านคำขวัญหาเสียงสุดท้าย "เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่" ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมีอายุเพียง "ครึ่งขวบ" เดินทางมาถึงจุดนี้ จุดได้ว่าที่ ส.ส. ราว 100 เสียง

พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สื่อต่างประเทศหลายสำนักพาดหัว-วิเคราะห์ในทำนองว่า ดูเหมือน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. จะได้ต่ออายุการเป็นนายกฯ อีกสมัย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ส่งผลสำคัญต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในหลวง ร. 9 เตือนใจประชาชนให้ "ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง" ในช่วงเวลาใกล้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าพระบรมราโชวาทดังกล่าว ส่งผลต่อการตัดสินใจที่แท้จริงของประชาชนมากน้อยเพียงใดก็ตาม

ในวันเลือกตั้ง บรรดาผู้นำทางความคิด อาทิ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ต่างออกมาเชิญชวนประชาชนเจริญรอยตามพระบรมราโชวาท "ช่วยกันทำให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง"

แม้มีกระแส-ปัจจัยเกื้อหนุน แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า พปชร. จะเติบโตแบบก้าวกระโดดขนาดนี้ ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้ง ครั้งนี้ คือ

  • ได้คะแนนเสียงมหาชนมากที่สุด 7.9 ล้านเสียง โดยมีคะแนนรวมชนะพรรคอันดับ 1 อย่าง พท. ด้วย
  • ทะยานขึ้นสู่การเป็น "พรรคอันดับ 2" ด้วยยอด ส.ส. แบบแบ่งเขต 97 ที่นั่ง (ยังไม่รวมยอด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ) และสร้างปรากฏการณ์นำ ส.ส. เข้าสภาได้ยก 6 จังหวัด ประกอบด้วย พิจิตร 3 เขต, กำแพงเพชร 4 เขต, เพชรบูรณ์ 5 เขต, สระแก้ว 3 เขต, ชัยนาท 2 เขต, เพชรบุรี 3 เขต
  • แกนนำ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่าประชาชน 7.9 ล้านเสียงที่ลงคะแนนเลือก พปชร. เพราะ "ชอบลุงตู่" และต้องการให้เป็นนายกฯ ต่อไป
BBC
เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562