ประยุทธ์เยือนอังกฤษ: หัวหน้า คสช. จะคุยอะไรกับเทเรซา เมย์

ประยุทธ์เยือนอังกฤษ: หัวหน้า คสช. จะคุยอะไรกับเทเรซา เมย์

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเยือนสหราชอาณาจักรของผู้นำรัฐบาลทหารไทยอยู่ในช่วงที่ผู้นำหญิงของอังกฤษกำลังวุ่นอยู่กับการหาข้อตกลงที่ดีที่สุดในการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) และหาตลาดทดแทนอียูแก่ธุรกิจของอังกฤษ

สิบนาทีก่อนเที่ยงคืนของของวันที่ 19 มิ.ย. เครื่องบินของกองทัพอากาศ แบบแอร์บัส A340-500 เที่ยวบินพิเศษ RTAF 225 มีกำหนดการพา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภริยา พร้อมคณะหลายสิบชีวิต ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยัง กรุงลอนดอน ของประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้เวลาบิน เกือบ 13 ชั่วโมง

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เครื่องบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เกือบ 300 ที่นั่งรุ่นนี้ จะพาคณะผู้โดยสารร่วมทางทั้งหมดกี่คน ในขณะที่มีรายงานว่ามีผู้ได้รับวีซ่าเข้าอังกฤษสำหรับการเยือนครั้งนี้มากกว่า 100 คน

งานศิลปะของแบงก์ซี ศิลปินที่มีงานบนกำแพงสาธารณะที่โด่งดังของอังกฤษ ทำเป็นคนกำลังเอาดาวออกจากธงของอียู ซึ่งแทนความหมายว่าอังกฤษกับจะออกจากอียู หรือ เบรกซิท งานชิ้นนี้อยู่บนกำแพงที่ท่าเรือโดเวอร์ของอังกฤษ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, งานศิลปะของแบงก์ซี ศิลปินวาดกำแพงสาธารณะที่โด่งดังของอังกฤษ ภาพคนกระเทาะดาวออกจากธงของอียูนี้ แทนความหมายว่าอังกฤษกับจะออกจากอียู หรือ เบรกซิท งานชิ้นนี้อยู่บนกำแพงที่ท่าเรือโดเวอร์ของอังกฤษ

การเยือนสหราชอาณาจักรของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) มีขึ้นหลังการเยือนไทยในรอบ 8 เดือน ของ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลของนางเทเรซา เมย์ เพื่อการกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบกับราชอาณาจักรไทย หลังลดระดับลงไปเมื่อเกิดเหตุรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

นักการทูตไทยและตะวันตกมองว่า การเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ของหัวหน้าคณะรัฐประหารจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการนำศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่มาต่อรองกับการยอมรับจากชาติประชาธิปไตยตะวันตกต่อรัฐบาลทหารที่ยังไม่มีแนวโน้มจะคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนในเร็ววัน ขณะที่ สองมหาอำนาจยุโรปมองว่าไทยคือแหล่งการค้าและการลงทุนที่สำคัญของสินค้าและบริการของพวกเขา

"การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทว่า ยังมีโอกาสทางธุรกิจมากมายของสินค้าและบริการจากอังกฤษในระบบเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งและประกอบด้วยชนชั้นกลางจำนวนมาก" ดร. เลียม ฟ็อกซ์ รมว. กระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร แถลงในเอกสารขณะเยือนไทยเมื่อต้น เม.ย.

ภาพแสดงโครงการที่พัฒนาในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ที่มาของภาพ, EEC

คำบรรยายภาพ, ภาพแสดงโครงการที่พัฒนาในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

การค้าระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 2.8% จาก ปี 2015 เป็น 5.6 พันล้านปอนด์ (2.4 แสนล้านบาท) ในปี 2016 สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จากสหราชอาณาจักร คือ จักรกลขนาดใหญ่ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องจักร

ระหว่างการเยือนไทย ดร. ฟ็อกซ์ ได้ประกาศด้วยว่า หน่วยงานตัวแทนด้านสินเชื่อเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจส่งออกของสหราชอาณาจักร (UKEF) ได้เพิ่มวงเงินขึ้นอีกเท่าตัวเป็นมูลค่า 4.5 พันล้านปอนด์ (1.9 แสนล้านบาท) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ของสหราชอาณาจักรที่ต้องการส่งออกมายังไทย พร้อมกับประกาศว่า Aviagen บริษัทผู้ผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ไก่รายใหญ่ของโลก จากสหราชอาณาจักร จะมีรายได้เพิ่มอีกกว่า 40 ล้านปอนด์ (1.7 พันล้านบาท) ใน 5 ปีข้างหน้า จากการส่งออกสินค้าปู่ย่าพันธุ์ไก่และลูกไก่ไข่ฟักมาไทย

แหล่งข่าวจากรัฐบาลอังกฤษกล่าวว่านางเทเรซา เมย์ จะหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บ้านหมายเลข 10 ถนนดาวน์นิง โดยคาดว่าจะมีการถ่ายรูปจับมือตามธรรมเนียมปกติที่หน้าบ้าน แต่จะไม่มีการแถลงข่าวร่วมหรือออกแถลงการณ์ โดยจะมีบันทึกข้อความเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์

พล.อ. ประยุทธ์ มีกำหนดพบกับนางเมย์ ในเวลา 16:15 น. ของ วันที่ 20 มิ.ย. นาน 30 นาที โดยหัวข้อการหารือจากฝ่ายไทย คือ การเชิญชวนนักธุรกิจของอังกฤษไปลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนฝั่งอังกฤษ นอกจากการหารือเกี่ยวกับอีอีซีแล้ว จะพูดถึงการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งที่ปราศจากการแทรกแซงและเป็นธรรม รวมทั้งประเด็นด้านพหุภาคที่อังกฤษสนใจ เช่น อาวุธเคมี การใช้แรงงานทาสยุคใหม่ การคุ้มครองสัตว์ป่า และการสาธารณสุข

ดร. ลี โจนส์ นักวิชาการด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.ควีน แมรี ในกรุงลอนดอน วิเคราะห์ว่า รัฐบาลอังกฤษหวังจะใช้เวทีการหารือของผู้นำ 2 ประเทศ เพื่อแสดงความกังวลต่อความล่าช้าของ "การปฏิรูป" และ การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะใช้การเยือนยุโรปครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเขานั้นสามารถเปลี่ยนตัวเองจากผู้นำเผด็จการทหารไปสู่นายกรัฐมนตรีที่มาจาก "การเลือกตั้ง" ได้ ไม่ต่างจาก อับดุล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์

"พล.อ.ประยุทธ์ คงอยากแสดงให้มหาอำนาจภายนอกเห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในการดูแลที่ปลอดภัยของสองมือของเขา เช่นเดียวกับ นายพลซีซี ซึ่งในความจริง ไม่น่าใช่" ดร. โจนส์ ซึ่งสอนด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับบีบีซีไทย

ประท้วง และ ความกังวลจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน

การมาเยือนของหัวหน้าคณะรัฐประหารไทยได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่คนไทยบางส่วนในสหราชอาณาจักร กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Thailand Human Rights Campaign UK ได้เปิดการระดมล่ารายชื่อทาง change.org เรียกร้องให้ นางเทเรซา เมย์ ไม่ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เตรียมยื่นจดหมายทำนองเดียวกันที่ บ้านเลขที่ 10 ราว 2-3 ชั่วโมงก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะพบกัน ต้องถูกตำรวจทำเนียบสั่งให้เลื่อนออกไปเป็นวันหลังวันที่ 20 มิ.ย. ส่วน การชุมนุมต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ ที่บริเวณถนนดาวน์นิง ยังคงมีอยู่

ด้าน นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องไปที่ผู้นำของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสให้กดดันให้ผู้นำรัฐบาลทหารของไทยรีบนำพาประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว

"ผู้นำของชาติยุโรปต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่กลับคืนสู่ระดับความสัมพันธ์ปกติกับไทยจนกว่าประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของประชาชนจะกลับคืนสู่ประเทศ เผด็จการ คสช. ต้องเลิกเล่นเกมที่จะคงอยู่ในอำนาจต่อไป และ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้นับครั้งไม่ถ้วนว่าจะนำการปกครองะบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย"

การทูตแบบ "เงียบ ๆ" รวม สัมพันธ์ทหาร

ด้าน นายมาร์ค ฟิลด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก กล่าวตอบต่อข้อเรียกร้องของฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า รัฐบาลอังกฤษเข้าใจข้อเรียกร้องขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ และอังกฤษเองก็พยายามผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็วในประเทศไทย "อย่าง เงียบๆ" มาโดยตลอด

"ประเด็นสำคัญของการทูต คือ คุณต้องสนทนากันอย่างเงียบๆ ทุกครั้งที่มีการพบปะกันของทั้งสองฝ่าย เราจะหารือกันหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปที่เต็มรูปแบบ" รมช. ตปท. กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีไทย 1 วัน ก่อนการพบปะกันของผู้นำ 2 ประเทศ

เมื่อ 11 ธ.ค. ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีต่างประเทศ อียู มีมติร่วมกันให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลทหารของไทย หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่ง นายฟิลด์กล่าวว่าอังกฤษมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้

แม้ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุในแถลงการ์เมื่อ 18 มิ.ย.ว่า มีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกว่า 100 คนต้องเผชิญกับข้อหาชุมนุมทางการเมือง อย่างผิดกฎหมาย และบางส่วนโดนข้อหาก่อความไม่สงบ เพียงเพราะ ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และในรอบ 4 ปี ผู้คนหลายพันต้องถูกทหารเรียกไปปรับทัศนคติ แต่รัฐบาลอังกฤษบอกว่า "เห็นพัฒนาการที่สำคัญในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา" ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย

นายฟิลด์กล่าวด้วยว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือของ 2 นายกฯครั้งนี้ คือ ความร่วมมือด้านทหาร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ

"ประเทศไทยมีสัญญาซื้อขายทางทหารที่สำคัญบางชิ้น และเราหวังกำลังหารือกันว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไร"

ขออังกฤษส่งพี่น้องชินวัตรกลับไทย?

สองอดีตนายกรัฐมนตรีไทยขณะเยือนญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สองอดีตนายกรัฐมนตรีไทยขณะเยือนญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้

แม้รัฐบาล คสช. ประกาศหลายครั้งว่าจะนำตัว น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาลงโทษในไทย หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลัง เมื่อ 27 ก.ย. ปีที่แล้วให้จำคุก เป็นเวลา 5 ปี ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว แต่จนบัดนี้ ตำรวจไทยยังไม่สามารถส่งหลักฐานที่เพียงพอให้ตำรวจสากลออกหมายจับนานาชาติได้

ทว่า แหล่งข่าวใกล้ชิด น.ส. ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยกับ บีบีซีไทย เมื่อปลาย พ.ค. ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีได้ใช้หนังสือเดินทางของประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป พร้อมวีซ่าเข้าพำนักในอังกฤษเป็นระยะเวลา 10 ปี

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 มิ.ย. ว่า การเยือนครั้งนี้เป็นไปตามการปรับมติของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต้องการให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยและยกระดับให้มากขึ้นกว่าเดิม แม้จะยังไม่ 100% โดยเน้นในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของโลก

"จะไม่มีการหารือในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ต้องมีการพูดคุยกันในระดับนายกรัฐมนตรี เพราะมีหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประสานงานกันอยู่แล้ว" นายกฯ ให้คำตอบต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า การเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร จะหยิบยกเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายทักษิณ และ น.ส. ยิ่งลักษณ์ มาเป็นหนึ่งในประเด็นหารือกับนางเมย์ หรือไม่

ส่วน รมช. ตปท. ของ อังกฤษ ตอบคำถามนี้กับ บีบีซีไทย ว่า "ประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาหารือกันแบบเปิดเผย"

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยประสบความสำเร็จในการนำเอาตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ผู้เป็นน้องสาว กลับมาดำเนินคดีในประเทศ ซึ่งทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ต้องการนำเอาตัวทั้งสองคนกลับมาประเทศไทยอย่างแท้จริง

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวการนัดลงชื่อต่อต้านการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสในครั้งนี้ว่า การนัดลงชื่อเคลื่อนไหวถือเป็นสิทธิ แต่การไปเยือนต่างประเทศเชื่อว่ามีกฎหมายดูแลตนอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีความตระหนกในตรงนี้ อย่างไรก็ตามขอให้เขาเดินทางด้วยความสุขเพราะต้องไปทำความเข้าใจกับต่างประเทศในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทย และการเปิดโรดโชว์อีอีซี ทั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนระบบราชการ ซึ่งการจัดซื้อต่างๆนั้นไม่สามารถไปซื้อจากใครได้หากไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะไม่สามารถตกลงปากเปล่ากับใครได้