BMI/Fitch: ยิ่งเลือกตั้งช้า ยิ่งกระทบความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ

ปชป

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลือกสี่แยกราชประสงค์ เป็นสถานที่ปราศรัยปิดการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 เมื่อวันที่ 1 ก.ค.

BMI บริษัทวิจัยในเครือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ชี้ ยิ่งประเทศไทยเลื่อนเลือกตั้งออกไป ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ กังวลว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะเพิ่มขึ้น และตั้งคำถามถึงความตั้งใจจริงของคณะรัฐประหาร ในการนำพาประเทศกลับสู่การปกครองแบบรัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือน

บทวิเคราะห์ของ BMI จากสิงคโปร์ ออกมาเมื่อ 13 เม.ย. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยื่นขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่เลื่อนมาเป็นภายในกุมภาพันธ์ 2562 ต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่ 5

"การรับคำร้องนี้จะส่งผลให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น ลดทอนความมั่นใจของนักลงทุน ในความเห็นของเรา การส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประวัติการลงมติที่เป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นความประสงค์ของกองทัพที่ต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ในขณะที่ พวกเขาพยายามหาทางเพิ่มคะแนนนิยมที่กำลังตกต่ำลงเนื่องจากเรื่องทุจริตที่อื้อฉาว" นักวิเคราะห์จาก BMI ระบุและเสริมว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะช่วย "ดำรงไว้ซึ่งสถานะของกองทัพในบทบาทผู้รักษาความสงบของบ้านเมือง"

เพื่อไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Image

คำบรรยายภาพ, พรรคเพื่อไทยปราศรัยที่ลานพระบรมรูป ร. 6 เมือการเลือกตั้งทั่วไป 2554

นักวิเคราะห์ในเครือสถาบันจัดอันดับ Fitch มองว่า คำสัญญาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในพฤศจิกายน 2561 นั้น ไม่เป็นจริง และต้องถูกเลื่อนออกไป เพื่อขอเวลาปรับปรุงภาพลักษณ์และเพิ่มคะแนนนิยมที่ลดลง เนื่องจากการปกปิดความมั่งคั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะที่สาธารณชนได้ตั้งคำถามถึงความสำเร็จของเป้าหมายของรัฐบาลทหารในการแก้ปัญหาการทุจริต

ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

BMI ยกผลสำรวจความเห็นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่า การทุจริตในประเทศเลวร้ายลงหรือไม่ดีขึ้น นับตั้งแต่ที่คณะรัฐประหารเข้าปกครองประเทศหลังยึดอำนาจเมื่อ พ.ค. 2557

"ด้วยคะแนนนิยมของ คสช. ที่กำลังติดลบ เราเชื่อว่า คสช.จะใช้การเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อยกสถานะตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่า พรรคการเมืองที่มีนโยบายขัดแย้งกับกองทัพจะไม่สามารถหาประโยชน์จากความนิยมที่ลดลงเพื่อให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง"

ประวิตร

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อ 11 เม.ย.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยเเพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ รับคำร้องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 1 (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรค 3 และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 92 วรรค 1 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่

สนช

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สนช. มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

2 มาตรา ที่เป็นปัญหาได้แก่

-มาตรา 35 ระบุว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ (4) การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

-มาตรา 92 วรรค 1 ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนนให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าว ไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการเแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

สนช

ที่มาของภาพ, BBC Thai

อย่างไรก็ตาม BMI มองข้อดีของการยื่นตีความต่อศาล รธน. ว่า จะช่วยลดความกำกวมของข้อกฎหมาย ลดความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในอนาคต ส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว

บีบีซีไทย พยายามติดต่อตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเพื่อขอคำชี้แจงเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้