โควิด-19: ไทยเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทในพระปรมาภิไธย ร่วมดำเนินการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ บ. สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ให้เข้าร่วมดำเนินการบรรจุและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19

นายกฯ กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 27 พ.ย. ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความร่วมมือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยรัฐบาลคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในปี 2564

"เราต้องมีการเตรียมการภายในประเทศคือ เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย อยู่ในขั้นตอน คือเมื่อรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะมีการบรรจุ แจกจ่าย" นายกฯ กล่าว

เขาย้ำว่า ถ้าวัคซีนผลิตได้สำเร็จ ประเทศไทยพร้อมรับมาดำเนินการทันที และนอกจากแจกจ่ายในประเทศแล้วยังจะทำให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้ประชากรในภูมิภาคอาเซียนเข้าถึงด้วย

การเซ็นสัญญาซึ่งมีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงบ่ายวันนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ซึ่งให้ความเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศไทย และบริษัทแอสตาเซเนกา สหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯ สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนกว่า 2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดส ให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคน ได้ภายในกลางปี 2564

มติ ครม. ดังกล่าวระบุว่าสัญญาจองและจัดซื้อนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปี 2564 และจะลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ เลขาธิการพระราชวัง ร่วมเป็นสักขีพยาน

สัญญาที่ สธ. โดยกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติลงนามกับผู้แทนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยในวันนี้มีด้วยกัน 2 ฉบับ คือ สัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อกับบริษัทแอสตาเซเนกา ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัทแอสตาเซเนกา ยูเค จำกัด

นอกจาก พล.อ. ประยุทธ์ แล้ว ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นสักขีพยานในการเซ็นสัญญายังมี พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวังและประธานกรรมการ บ. สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, นายอภิพร ภาษวัธน์ ประธานกรรมการบริหาร บ. สยามไบโอไซเอนซ์, พ.ต.อ. ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับระดับ 11 และกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์,กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ. ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด, และผู้แทนสถานทูตสวีเดน และสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

สำหรับ บ. สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ เป็นประธานกรรมการบริหารนั้น ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ

เว็บไซต์ผู้จัดระบุในรายงานเรื่อง "สยามไบโอไซเอนซ์ ผู้ผลิตยาชีววัตถุ รายแรกของอาเซียน ของขวัญจากพ่อ เพื่อมวลมนุษยชาติ" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เกิดจากพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัส ดังกล่าวไว้ในเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า 'คน' ปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน จึงทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ บริษัทแห่งนี้มีสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท

พิธีเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศไทย ลงนามในสัญญาจองล่วงหน้าและจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล

รู้จักวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐานการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าต้องมีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า 50%

ผู้แทน สธ. รายงานต่อที่ประชุม ครม. ว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแบ่งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ออกเป็น 2 แบบ แบบแรกพบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึง 90% ส่วนแบบที่สองมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ 62% ค่าเฉลี่ยประสิทธิผลโดยรวมของทั้ง 2 แบบอยู่ที่ 70.4% ถือว่าเกินมาตรฐานที่ WHO กำหนด

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขของบีบีซีรายงานว่า โครงการพัฒนาวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการทำร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด วัคซีนนี้ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป (หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส - adenovirus) ที่อ่อนแอ โดยได้นำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซีนไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้

จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อคนดังกล่าว

วัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ที-เซลล์ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

ขวดวัคซีนโควิด-19

ที่มาของภาพ, Reuters

เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายจริง ๆ ภูมิคุ้มกันและทีเซลล์ก็จะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส

โดยวัคซีนของบริษัทกามาเลยาของรัสเซียก็ใช้เชื้อไวรัสที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเป็นพาหะเช่นเดียวกัน

อาสาสมัครมากกว่า 20,000 คนเข้าร่วมการทดลองวัคซีนขั้นที่ 3 ของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ครึ่งหนึ่งอยู่ในสหราชอาณาจักร และที่เหลืออยู่ในบราซิล โดยมีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้รับวัคซีน 1 โดส หรือ 2 โดส หรือ วัคซีนหลอก จากนั้นจะมีการประเมินผลการตอบสนองในวันที่อาสาสมัครเหล่านี้รับวัคซีน และจะติดตามผลในอีก 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ หลังการรับวัคซีนทั้ง 2 โดส

เปิดแผนจัดหาวัคซีนของไทย

มติ ครม. วันที่ 17 พ.ย. เห็นชอบและอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ตามที่ สธ. เสนอ มีสาระสำคัญ ดังนี้

งบประมาณ

งบประมาณสำหรับการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท แบ่งเป็น

  • สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว วงเงิน 2,379,430,600 บาท ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • กรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ วงเงิน 3,670,292,517 บาท แบ่งเป็น

1) เงินจัดซื้อวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้า เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้สำเร็จ วงเงิน 1,586,287,067บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค

2) เงินบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 2,084,005,450 บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค

ทั้งนี้ให้ดำเนินการจัดทำสัญญาทั้ง 2 ฉบับ คือสัญญาการจองล่วงหน้าและสัญญาจัดซื้อวัคซีน เป็นสัญญาในโครงการที่เกี่ยวข้องแบบสัญญาเป็นชุดโดยให้จัดทำในคราวเดียวกัน

ระยะเวลาดำเนินการ

เดือน พ.ย. 2563 ถึง ธ.ค. 2564

ผลผลิต

จำนวนวัคซีน 26 ล้านโดส สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมายตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 13 ล้านคน

ประโยชน์ที่ได้รับ

ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และจะทำให้ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

หน่วยงานรับผิดชอบ

กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค

กราฟิก

คำถามต่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

หลังจากออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าประกาศว่าเตรียมจะทำการทดลองในระยะต่อไป ได้มีนักวิทยาศาสตร์บางคนออกมาตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของการวิจัยและรายงานของทีมพัฒนาวัคซีนที่ระบุว่ามีประสิทธิผลถึง 90%

เซอร์ จอห์น เบลล์ ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์และที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของรัฐบาลอังกฤษ จึงได้ออกมาตอบโต้และยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าร่วมกันพัฒนาขึ้นนี้มีประสิทธิผลสูงจริง

ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเทคโนโลยีในสหรัฐฯ คนหนึ่งกล่าวหาว่าบริษัทให้ข้อมูลที่ดีเกินจริงเกี่ยวกับวัคซีนที่กำลังพัฒนาขึ้นและเขาเชื่อว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจะไม่ผ่านการรับรองหรืออนุมัติให้ใช้ในสหรัฐฯ

"เราไม่ได้ปั้นแต่งตัวเลข (ประสิทธิผลของวัคซีน) ขึ้นมา" เขาระบุ พร้อมกับบอกว่ารายละเอียดทั้งหมดของโครงการจะได้รับการเผยแพร่ในวารสารด้านการแพทย์แลนเซทเร็ว ๆ นี้

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด-19: วัคซีนจะพร้อมใช้งานได้เมื่อไหร่