ไวรัสโคโรนา : ธนาคารโลกคาดพิษโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก

ภาพตลาด

ที่มาของภาพ, Getty Images

ธนาคารโลกวิเคราะห์วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก สำหรับเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน และรั้งท้ายอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก เปิดเผยว่า จากมุมมองของธนาคารโลกมองว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ถือเป็นภาวะช็อกโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การบริการ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของโลก

ส่วนมุมมองต่อประเทศไทยคาดว่า การระบาดอย่างหนักครั้งนี้ ในสถานการณ์พื้นฐานหรือดีที่สุด อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3% ส่วนในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด ตัวเลขจะติดลบถึง 5% สืบเนื่องจากผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 13-16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ จีดีพี

ทั้งนี้หากพิจารณาจากรายงานล่าสุดเรื่อง "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในห้วงเวลาแห่งการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19" (East Asia and Pacific in Time of COVID-19) จะพบว่าเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับผลกระทบที่ใหญ่หลวง โดยภาพรวมของภูมิภาคนี้ ในกรณีดีที่สุดจะเติบโตเฉลี่ย 2.1% ส่วนกรณีที่เลวร้ายที่สุดจะติดลบ 0.5%

ฟิจิเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยธนาคารโลกประเมินว่า ในกรณีที่ดีที่สุด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบ 4.3% ส่วนในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจะติดลบถึง 10% ส่วนอันรองลงมาคือประเทศไทย

พิษโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจหดตัวทั่วเอเชีย-แปซิฟิก. ไทยหดตัวต่ำสุดในอาเซียน-รั้งท้ายอันดับ 2 ในภูมิภาค.  .

หากพิจารณาในภูมิภาคอาเซียนแล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยจากการคาดการณ์ของธนาคารโลกถือว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ดร.เกียรติพงศ์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าและปี 2565 จะกลับเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก 4% และ 3.5% ตามลำดับ

แนะรัฐบาลเตรียมแผนกระตุ้นการใช้จ่าย-ช่วยเอสเอ็มอี

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจนทำให้งบประมาณประจำปีล่าช้า และภาวะภัยแล้ง รวมทั้งปัจจัยภายนอกเช่น สงครามทางการค้า ดังนั้นมาตรการเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำเพื่อผ่อนคลายวิกฤตจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ ได้แก่

  • รัฐบาลควรมีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงห้วงวิกฤตนี้ ด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือสถาบันการเงิน เพื่อจะช่วยให้ประชาชนสามารถผ่านพ้นเวลานี้ไปได้
  • รัฐบาลควรเตรียมแผนการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างงาน หากว่าวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป
  • กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็สำคัญไม่แตกต่างจากกลุ่มครัวเรือน ที่รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้พวกเขายังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ชี้โควิด-19 อาจทำให้คนจนในเอเชียเพิ่ม 11 ล้านคน

นอกจากนี้ในรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกยังประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย โดยในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้มีคนที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน

ก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีคนหลุดพ้นความยากจนในภูมิภาคนี้ 35 ล้านคน (ในจำนวนนี้รวมในจีนราว 25 ล้านคน) แต่จากรายงานฉบับนี้ประเมินหลังจากวิกฤตโควิด-19 ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้ยังมีคนอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้น 11 ล้านคน และทำให้กลุ่มผู้ที่จะหลุดพ้นความยากจนจริง ๆ ในภูมิภาคนี้ลดลงต่ำกว่าคาดการณ์มาอยู่ที่ราว 24 ล้านคน

คนนั่งรถไฟ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า "ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงในครั้งนี้ ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้สำหรับทุกประเทศ" แต่ผลกระทบจะเลวร้ายมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเปราะบางของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดโควิด-19

โดยกรณีเลวร้ายที่สุดนั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าประชาชนเกือบ 35 ล้านคนยังคงอยู่ในสภาพยากจน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนยากจนในจีน 25 ล้านคน

ทั้งนี้ ธนาคารโลกนิยามคนยากจนว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ยังชีพไม่เกิน 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 180 บาทต่อวัน

"หลายชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกซึ่งเผชิญกับภาวะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศและการระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังเผชิญกับภาวะชะงักงันระดับโลก ข่าวดีก็คือภูมิภาคนี้ยังคงมีจุดแข็ง แต่บางประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการรับมืออย่างรวดเร็วและเข้มข้นกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้" นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

ศาลพระพรหมเอราวัณ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, แยกราชประสงค์ ย่านธุรกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ร้างผู้คนหลังรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.

ธนาคารโลกยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่ากหนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยและกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มภาคการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา

ภาพรวมในปีนี้ เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะขยายตัวราว 2.1% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 กระทบต่อตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง. ปรับลดคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจลงเป็นติดลบ 5.3% ในปีนี้ ก่อนที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.0% ในปีหน้า

ท่องเที่ยว-ค้าปลีกไทยอ่วม

สำหรับมุมมองของธนาคารโลกต่อเศรษฐกิจของไทย รายงานฉบับนี้ได้ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาที่ไทยต้องเผชิญทั้งก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19

เริ่มต้นด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงภัยแล้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีที่แล้วต่ำกว่าเป้าหมาย

นี่ยังไม่รวมกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้า ซึ่งส่งกระทบต่อภาคการบริโภคของประชาชน ท่ามกลางภัยแล้งที่ยังคงบั่นทอนภาคการผลิตอย่างภาคการเกษตรอีกด้วย

ในขณะที่ต้นปีนี้ การระบาดของโควิด-19 ก็ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วยสัดส่วนเกือบ 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ได้รับผลกระทบจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยในเดือนกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 45% และในเดือนมีนาคมลดลง 67% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

คนกลับบ้าน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภายหลังจากที่มีคำสั่งปิดกิจการของสถานประกอบการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 22 มี.ค. แรงงานนอกระบบและแรงงานต่างด้าวต่างพากันเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะไม่มีงานทำและไม่มีรายได้

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ถูกฉุดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ต้องเผชิญกับภาวะผันผวนอย่างหนัก นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้มูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์ของไทย (market cap) จากต้นปีถึงสิ้นเดือนมีนาคมลดลง 30.8%

ธนาคารโลกคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงยังคงเป็นปัจจัยกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ ในขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ทางสาธารณสุขที่ภาครัฐออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม

นอกจากนี้สภาพการณ์เช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน สำคัญของไทย อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยอีกด้วย