ไวรัสโคโรนา : ประเทศยากจนจะเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้เท่าประเทศร่ำรวยหรือไม่

Nurse preparing a vaccine shot in a clinic in Nigeria

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, โดย ฟอร์นานโด ดูอาร์เต
  • Role, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

นักพันธุศาสตร์เชิงโมเลกุล เคท โบรเดอร์ริก เป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทำการทดลอง 41 โครงการ เพื่อคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

เธอทำงานให้กับบริษัท ไอโนวิโอ (Inovio) ซึ่งวางแผนจะผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้ได้ 1 ล้านเข็มภายในต้นเดือนธันวาคม

แต่คำถามคือว่าหากผลิตวัคซีนได้สำเร็จ ใครกันที่จะได้รับวัคซีนเหล่านั้น

กักตุน

ขณะนี้เริ่มมีความกังวลแล้วว่าวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทอย่างไอโนวิโอจะถูกประเทศที่ร่ำรวยนำไปกักตุน

Seth Barkley (centre) and the billionaire philanthropist Bill Gates (left) in a 2015 press conference

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, บิล เกตส์ และเซ็ธ เบิร์กลีย์

นักระบาดวิทยาอย่าง เซ็ธ เบิร์กลีย์ ก็รู้สึกเช่นนั้น เขาเป็นประธานองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างองค์กรรัฐและเอกชนที่มุ่งช่วยเหลือประเทศที่ยากจนที่สุด 73 ประเทศ ให้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคได้มากกว่าเดิม

"ความท้าทายคือการทำให้แน่ใจว่ามีวัคซีนพอสำหรับคนที่ต้องการทั้งในประเทศร่ำรวยและในประเทศยากจนด้วย ...แน่นอนผมรู้สึกกังวล พฤติกรรมแย่ ๆ เกิดขึ้นเมื่อมีสินค้าหายากเสมอ"

Baby being vaccinated against hepatitis B in Congo

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไวรัสตับอักเสบบี

ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าถึงวัคซีนอย่างไม่ทั่วถึงคือ วัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งตับ และแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเชื้อเอดส์ถึง 50 เท่า ในปี 2015 มีคนราว 257 ล้านคนที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี

วัคซีนป้องกันโรคนี้สามารถหาได้ในประเทศร่ำรวยตั้งแต่ปี 1982 แต่ในปี 2000 คนในประเทศยากจนที่สุดเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ สามารถเข้าถึงวัคซีนนี้

Bill Gates

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือ Gavi ก่อตั้งโดยบิล เกตส์ และเมลินดา ภรรยาของเขา

แต่ก็มีองค์กรอย่างพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือ Gavi ซึ่งก่อตั้งโดยบิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi) ที่เข้ามาผลักดันให้คนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย

สองมาตรฐาน

อีกตัวอย่างหนึ่งของความไม่เท่าเทียมคือวัคซีนสำหรับเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus) ซึ่งผลิตขึ้นโดยเมอร์ค (Merck) บริษัทผลิตยาอเมริกัน เมื่อปี 2007 และได้รับอนุญาตให้ใช้ในปี 2014

Chinese woman being vaccinated for HPV

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประเทศที่มีรายได้น้อย 13 ประเทศเพิ่งจะสามารถหาวัคซีนสำหรับเชื้อเอชพีวีได้ในปี 2019

เชื้อเอชพีวี เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก แต่ประเทศที่มีรายได้น้อย 13 ประเทศ เพิ่งจะสามารถหาวัคซีนนี้ใช้ได้ในปี 2019 ทั้ง ๆ ที่การเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 85 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

ราคาถูกและทั่วถึง

โดยทั่วไปแล้ว การผลิตยารักษาโรคได้กำไรมากกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตวัคซีน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการทดลองและการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่า และมีกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากมากกว่าด้วย ในสหรัฐฯ มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนลดลงจาก 26 รายในปี 1967 เหลือเพียง 5 รายในปี 2004

Vaccines vials on an assembly line

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การผลิตยารักษาโรคได้กำไรมากกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตวัคซีน

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การให้ทุนจากองค์กรการกุศลอย่างองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน ก็ช่วยให้ความต้องการวัคซีนสูงขึ้น

ในปี 2019 วัคซีนพรีเวนาร์ (Prevenar) สำหรับป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการปอดบวม โดยบริษัทผลิตยาไฟเซอร์ (Pfizer) ติด 10 อันดับยาขายดีทั่วโลก สำหรับประเทศยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มพันธมิตรวัคซีน ราคาวัคซีนพรีเวนาร์อยู่ที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแค่ราว 100 บาท ขณะที่ในสหรัฐฯ ราคาอยู่ที่ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 6,000 บาท

ตลาดเสรี

สมาคมเภสัชอุตสาหกรรมแห่งสหราชอาณาจักร (Association of the British Pharmaceutical Industry) คาดว่า การผลิตวัคซีนตัวใหม่ต้องใช้เงินทุนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.8 หมื่นล้านบาท

มาร์ค จิท จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า "หากเราปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี จะมีแต่คนในประเทศร่ำรวยเท่านั้นที่เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้... เราเคยเห็นมันเกิดขึ้นมาแล้วกับวัคซีนตัวอื่น ๆ แต่ครั้งนี้จะเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงมากกว่าเดิมถ้ามันเกิดขึ้นซ้ำอีก"

Woman working in a vaccine lab in Russia

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมาคมเภสัชอุตสาหกรรมแห่งสหราชอาณาจักร คาดว่า การผลิตวัคซีนตัวใหม่ต้องใช้เงินทุนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.8 หมื่นล้านบาท

ฉันทามติ

แม้บริษัทอย่างไอโนวิโอจะผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังต้องร่วมมือกับบริษัทผลิตยารายอื่น ๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

Mosaic of pills representing Big Pharma

ที่มาของภาพ, Getty Images

เอมมา วาล์มส์ลีย์ ประธานบริหารบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งจากสหราชอาณาจักร เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้ผลิต รัฐบาล และผู้ทำงานด้านสาธารณสุข จะช่วยให้เอาชนะโรคโควิด-19 ได้

ขณะที่เซ็ธ เบิร์กลีย์ จากองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน เห็นว่า การเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด

"แต่นี่ไม่ควรเป็นสถานการณ์ที่ความสามารถในการจ่ายเป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้หรือไม่ได้รับวัคซีน...หากเราไม่จัดวัคซีนไปในจุดที่ต้องการมากที่สุด การแพร่ระบาดก็จะดำเนินต่อไป"

Lab technician with petri dishes

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ตอนนี้มีโครงการวิจัยอย่างน้อย 41 โครงการทั่วโลกที่พยายามคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19