เมื่อ "อาลีบาบา" ปักหมุดลงทุนไทย ใครได้ ใครเสีย

เมื่ออาลีบาบาลงทุนในไทย ธุรกิจมองอย่างไร ?

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

  • Author, ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ผู้ประกอบการไทยหลายรายเชื่อว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่สินค้าราคาถูกจากจีนจะหลั่งไหลเข้าไทย หลังนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป ลงนามความร่วมมือลงทุนกับรัฐบาลไทยเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.)

นอกจากการด้านการค้าดิจิทัล การท่องเที่ยวไทย และการส่งออกสินค้าไปประเทศจีนแล้ว อาลีบาบา ยังจะลงลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าในไทย มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า รวมทั้งศูนย์บริการด้านภาษีและการแลกเปลี่ยนเงินออนไลน์ครบวงจรภายในปีหน้า

ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายออนไลน์ในไทยมองการลงทุนครั้งนี้ในหลายแง่มุม

"สินค้าจากจีนเข้ามาแน่นอน"

"เราจะเห็นการเข้ามาของสินค้าจีนมากขึ้น การลงทุนต่อจาก Belt and Road (เส้นทางสายไหมใหม่ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลจีน) เขาต้องการเอาสินค้าจากจีนเข้ามาแน่นอน" นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ บอกกับบีบีซีไทย

เมื่อ 17 ปีก่อน นายภาวุธ ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ตลาดซื้อขายระหว่างผู้บริโภคยอดนิยมของไทย เขาเชื่อว่าการลงทุนของอาลีบาบากระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือ "ป้อม" ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com

ที่มาของภาพ, Pawoot (Pom) Pongvitayapanu

คำบรรยายภาพ, นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือ "ป้อม" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com

"ในแง่บวกมันจะทำให้อีคอมเมิร์ซโตขึ้น เพียงแต่มันไม่ใช่ของไทย แล้วก็ยังทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องการค้าออนไลน์มากขึ้น เมื่อมองภาพรวมมันเป็นเรื่องดี แต่เมื่อเจาะเข้าไปมองว่าใครได้ใครเสียผมว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว"

เขาระบุผ่านบล็อกส่วนตัววันนี้ด้วยว่าไม่ได้ต่อต้านการเข้ามาลงทุนของอาลีบาบา แต่เตือนว่ารัฐบาลไทยควรจะศึกษาให้รอบด้าน เพราะ "ในอนาคตไทยจะเสียดุลการค้ากับจีนอย่างหนักแน่ ๆ "

ไม่เพียงธุรกิจค้าปลีกออนไลน์เท่านั้น นายภาวุธเชื่อว่าตลาดค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนธนาคารและการขนส่ง จะได้รับผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ เพราะ การลงทุนของกลุ่มอาลีบาบา หรือกลุ่มคู่แข่งอย่าง JD.com มักจะมาพร้อมกับระบบขนส่งและจ่ายเงินออนไลน์แบบครบวงจร เช่น Alipay

ปัจจุบันอาลีบาบา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของลาซาด้า แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ที่เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2012 ในสิงคโปร์และมีฐานลูกค้าจำนวนมากที่สุด รายหนึ่งในประเทศไทย

ตามความเห็นของนายภาวุธ การลงทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมให้ลาซาด้า "ทำงานได้ครบสมบูรณ์แบบมากขึ้น" ในด้านการจัดการและขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังนับเป็นการเดินหน้าทางธุรกิจที่สำคัญของอาลีบาบา หลังจาก JD.com เพิ่งร่วมลงทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลในสัญญามูลค่าราว 1.75 หมื่นล้านบาท

ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนอาจพบศึกหนัก

นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป

"เป้าหมายที่แท้จริงของเขา จากที่ข่าวบอกว่ามีการลงนาม MOU เพื่อช่วยส่งออกสินค้าเกษตร ผมว่าแจ็ค หม่า ไม่ได้มองแค่นั้น เขาคิดว่าสินค้าจีนก็ทะลักเข้าไทยได้ง่ายขึ้นผ่านอีอีซีเช่นกัน" นายวรวุฒิ สายบัว กล่าวโดยอ้างถึง Eastern Economic Corridor หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

นายวรวุฒิ คือผู้ก่อตั้ง Beautynista เว็บไซต์ขายสินค้ากลุ่มความงามและสุขภาพ เมื่อ 4 ปีก่อน เขาไม่กังวลว่าการมาถึงของอาลีบาบา จะกระทบธุรกิจของเขาโดยตรง แต่เชื่อว่าหลายคนจะต้องปรับตัว

"ความน่ากลัวของมันคือต้นทุน เราไม่สามารถสู้สินค้าจีนที่เข้ามาโดยตรงได้อยู่แล้ว…พ่อค้าแม่ค้าไทยที่หิ้วของจีนมาขาย และมาร์คอัพราคาเพียง อย่างเดียวจะอยู่ยากขึ้น" เขากล่าวกับบีบีซีไทย

นายวรวุฒิ สายบัว ผู้ก่อตั้ง Beautynista.com

ที่มาของภาพ, Beautynista.com

คำบรรยายภาพ, นายวรวุฒิ สายบัว ผู้ก่อตั้ง Beautynista.com

ปัจจุบันสินค้ากว่าครึ่งบนเว็บไซต์ Beautynista เป็นยี่ห้อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า ราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจ ซื้อสินค้าประเภทเครื่องสำอาง

เว็บไซต์ของเขาเองได้เพิ่มบริการตรวจสอบสารอันตรายเพื่อเพิ่มความมั่นใจ เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซึ่งเขาคิดว่ายังมีช่องวางทางด้านคุณภาพที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ความรู้จากงานวิจัยหรือนวัตกรรมมาสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าได้อีก

"โชห่วยอาจเหนื่อยขึ้นในอนาคต"

แจ็ค หม่า บนเวทีลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, แจ็ค หม่า บนเวทีลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ หรือ "พี่เต้" เจ้าของร้านโชห่วยขนาดย่อม "ร้านบิ๊กเต้" ย่าน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มองว่าธุรกิจขายปลีกของเขาจะไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นมากนัก

"ผมเชื่อว่าในระยะสั้นมีผลกระทบไม่มากต่อร้านโชห่วย เพราะสินค้าหลักในร้านโชห่วยเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จำพวกอาหาร เครื่องดื่ม แชมพู ผงซักฟอก ส่วนมากลูกค้าจ่ายเงินและต้องการได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วครับ" นายศตวัสส์ตอบบีบีซีไทยผ่านทางอีเมล

ถึงแม้ปัจจุบันยังขายสินค้าจากในร้านเป็นหลัก นายศตวัสส์ ก็มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในอนาคต และเริ่มขายสินค้าออนไลน์ และยังใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับลูกค้าจนเป็นที่รู้จักในหมู่นักศึกษาและชาวเน็ต

"ถึงไม่กระทบโชห่วยในระยะสั้น แต่มีผลในระยะยาวครับ การซื้อสินค้าออนไลน์จะถูกกระตุ้นให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อคนคุ้นเคยกับการซื้อออนไลน์ คนขายก็ต้องหนีตายจากออฟไลน์ แห่กันมาขายบนออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่ซัพพลายเออร์ของร้านโชห่วยเอง ทุกวันนี้ก็จะเห็นผู้ผลิตเจ้าใหญ่หลายเจ้า ลงมาในตลาดออนไลน์แล้ว เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าโดยตรงจากซัพพลายเออร์ของเราได้ ผมว่าตรงนี้ต่อไปร้านโชห่วยจะเหนื่อยขึ้นครับ" เขากล่าว

"พี่เต้" เจ้าของร้านโชห่วยขนาดย่อม "ร้านบิ๊กเต้"

ที่มาของภาพ, BigTeShop.com

คำบรรยายภาพ, "พี่เต้" เจ้าของร้านโชห่วยขนาดย่อม "ร้านบิ๊กเต้"

เขาอธิบายว่าสิ่งที่ต้องปรับตัวมีอยู่ 2 เรื่องหลักคือ การเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ และการหาโอกาสทางธุรกิจ เช่น การสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น

"อย่างปัจจุบัน ซัพพลายเออร์บางเจ้าเขาไม่ส่งสินค้ามาขายที่ร้านผมเพราะจำนวนที่เราสั่งน้อยเกินไป หรือเขามีสัญญาขายสินค้าบางตัวให้ร้านใหญ่ ๆ เท่านั้น ซึ่งผมก็เข้าใจความจำเป็นของเขานะครับ การมาของอาลีบาบาอาจเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะได้หาสินค้าใหม่ ๆ มาขายที่ร้านครับ" นายศตวัสส์กล่าว

เจ้าของร้านบิ๊กเต้ บอกกับบีบีซีไทยว่า เขาเชื่อว่าใน "ทุกวิกฤตมีโอกาส" และครั้งนี้ก็นับเป็นโอกาสของโชห่วยในการศึกษาเรื่องการซื้อขายสินค้า ออนไลน์

สสว. เชื่อ SME ที่พร้อมจะได้ประโยชน์

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปรียบเทียบความร่วมมือครั้งนี้ว่าเหมือน "เป็นการเปิดประตูบานใหม่ที่ท้าทายไปด้วยกัน" สำหรับเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดกลางและย่อมของไทย

เขาเชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจำนวนนับหมื่นรายจะได้ประโยชน์จากช่องทางจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น แต่หลายรายยังต้องเรียนรู้ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับ สินค้าและทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าให้ดีขึ้น

"เราทราบกันดีว่า การขายของออนไลน์ต้องแข่งกับสินค้ามากมายอยู่แล้ว ของไม่ดีจริง ไม่โดดเด่นจริงก็ขายไม่ได้ ผู้ประกอบการไทย ต้องศึกษาให้เข้าใจเชิงลึกเพราะสินค้าไม่ใช่ว่าวางบนเว็บไซต์แล้วจะขายได้"

นักท่องเที่ยวจีนถ่ายภาพในวัดพระแก้ว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักท่องเที่ยวจากจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะสูงถึงราว 10 ล้านคนในปีนี้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 3 ล้านราย ในจำนวนนั้น 2.2 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) ซึ่ง ผอ.สสว. กล่าวว่ามักมีปัญหาด้านเงินทุน การจัดการ และทัศนคติในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

"จริง ๆ แล้ว หลายคนโทรมาปรึกษาเรื่องนี้มาสักพักแล้ว ต่อให้แจ็ค หม่า ไม่เข้ามา การแข่งขันต่างประเทศก็เข้ามาอยู่แล้ว การค้าออนไลน์เป็นสิ่งที่เราคุ้นชินและเห็นมาหลายปี แต่ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่เหมือนจะเร็วขึ้น แรงขึ้น และชัดขึ้น ทำให้เราเห็นความพร้อมของ SME ได้ชัดขึ้นด้วย"

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา สสว. เพิ่งเปิดตัวโครงการ "SME 1 BAHT" ที่จะขายสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการในราคา 1 บาททุกวันที่ 1 ของเดือนเพื่อให้พวกเขาได้มีประสบการณ์ทดลองขายสินค้า เช่น ผ้าฝ้าย และสมุนไพรแปรรูป บนแพลตฟอร์มจริง

"ทุกคนขยับอยู่ตลอดและต่างก็ต้องการยึดหัวหาด ซึ่งมันเป็นวิถีของธุรกิจออนไลน์อยู่แล้ว อยู่ที่เราจะเลือกมองว่านี่คือโอกาส หรือ อุปสรรค และหากเป็นโอกาสเราจะคว้ามันได้อย่างไร"