เนชั่น นำผู้บริหารเก่ากลับมาฟื้นศรัทธาผู้ชม หลังกระแส #แบนเนชั่น สะเทือนองค์กร

ผู้บริหารเครือเนชั่นแถลงข่าวชี้แจงทิศทางธุรกิจ

ที่มาของภาพ, YouTube/NationTV22

คำบรรยายภาพ, ผู้บริหารเครือเนชั่นแถลงข่าวชี้แจงทิศทางธุรกิจ

ท่ามกลางคำถามจากสังคมเรื่องการทำหน้าที่สื่อมวลชนของเครือเนชั่น เกี่ยวกับจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ผู้บริหารสื่อออกมาชี้แจงทิศทางใหม่ในการทำหน้าที่สื่อ พร้อมยอมรับว่า "ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่บิดเบี้ยวระยะหนึ่ง"

การแถลงข่าวมีขึ้นที่สำนักงานใหญ่ย่านบางนา เมื่อช่วงบ่ายของ 10 พ.ย. ภายหลังผู้ประกาศข่าวระดับแม่เหล็กของสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวีตบเท้ากันลาออก ได้แก่ กนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญไพบูลย์, อัญชะลี ไพรีรัก และ สันติสุข มะโรงศรี ท่ามกลางแรงกดดันทางสังคมให้เลิกสนับสนุนสินค้าที่โฆษณากับสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ตั้งแต่ก.ย. ที่ผ่านมา และกระแสข่าวว่าจะมีผู้มีอิทธิพลทางการเมืองจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่

ถ้อยแถลงสำคัญจากปากผู้บริหารหลัก ๆ คือ การสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้งเพื่อให้เครือเนชั่นกลับมาเป็นสถาบันสื่อเหมือนเดิมโดยการนำแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่เรียกว่า "เนชั่น เวย์" กลับมา หลังจากที่ผ่านมาถูกโจมตีในเรื่องจุดยืนทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะบนเวทีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและประชาชนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากแนวทางปฏิบัติดังกล่าวแล้ว นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กล่าวว่า ในการประชุมกรรมการบริหารในวันพฤหัสที่ 12 พ.ย. จะนำเสนอชื่อนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเนชั่นทีวี กลับมานั่งเป็นผู้บริหารอีกครั้ง

line

อดิศักดิ์ บอก "มีแรงกระตุ้น"

หลังการแถลงข่าว นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊ก ของตัวเองว่า

"ขอเขียนถึงเนื้อหาที่ผมได้แลกเปลี่ยนกับคุณฉาย บุนนาค ประธานเครือเนชั่นก่อนยอมรับในการกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม CEO ของบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางการทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำให้ช่อง Nation TV22 กลับมาสู่ความเป็นสถานีข่าวมืออาชีพ สถานีข่าวโทรทัศน์ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจในทุกข่าวสารและการวิเคราะห์ที่นำเสนอ โดยตระหนักว่าความน่าเชื่อถือเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่ามากที่สุด

ช่อง NationTV จะต้องยกระดับการทำข่าวให้ได้มาตรฐานของสถานีข่าวทั่วโลกพึงมี ด้วยการทำหน้าที่หลัก ๆ เช่น

ทำหน้าที่ Gatekeeper "ผู้เฝ้าประตูข่าวสาร" เน้นการนำเสนอความจริง ความถูกต้องที่ผ่านการตรวจสอบ กลั่นกรองอย่างปราศจากอคติ ไม่เน้นความเร็ว เพราะปัจจุบันข่าวสารบน Social Media จากทุก ๆ คนที่แข่งกันทำหน้าที่เสมือนนักข่าว ทำให้มีทั้งความเร็วและปริมาณ ปะปนไปกับข่าวที่ไม่น่าเชื่อ ไม่ถูกต้อง สื่อหลักอย่าง NationTV จำเป็นจะต้องทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบความจริงและความถูกต้อง ก่อนนำเสนอผ่านช่องทางต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ NationTV

ทำหน้าที่เป็น "กระจก" ส่องสังคม ที่ไม่บิดเบี้ยว ซื่อสัตย์ในการทำหน้าที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างรอบด้านมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ทำหน้าที่ "ตะเกียง" ส่องสังคม กำหนดวาระทางสังคม Setting Agenda เป็นดั่งตะเกียงส่องแสงสว่างแก่สังคม ให้มองเห็นวาระทางสังคมที่พึงมี ทำให้สังคมตื่นรู้ มองเห็นอย่างกระจ่างแจ้ง ถึงประเด็นปัญหาสำคัญ ๆ ของสังคม เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ทำหน้าที่ Watchdog หมาเฝ้าบ้าน ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน เฝ้ามอง ติดตามและตรวจสอบ "กลิ่น" ที่มีความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของภาครัฐ ย้ำเตือนให้ทำงานเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ

ทำหน้าที่ "โรงเรียนของสังคม" องค์กรเนชั่นจะต้องทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงเรียนของสังคม เป็นแพลตฟอร์มทางสังคมที่เปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วนในสังคม ในการสร้างเสริมองค์ความรู้ใหม่ ๆ นำเสนอออกไปสู่สังคม ให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันเสมือนเป็นโรงเรียนของสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวทันโลกยุคดิจิทัล

ข้อความที่ผมส่งถึงคุณฉาย บุนนาค ประธานเครือเนชั่น หลังจากได้มีโอกาสสนทนากันเป็นครั้งแรก เมื่อค่ำวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนการแถลงข่าวเมื่อ 10 พ.ย. ที่แจ้งต่อผู้สื่อข่าวถึงการทาบทามผมให้กลับมาทำหน้าที่ซีอีโอ NBC เจ้าของ NationTV ที่เป็นบริษัทลูกของเนชั่นกรุ๊ป

ขอขอบคุณคุณฉายที่มีความเชื่อมั่นครับ"

line

ส่วนโครงสร้างผู้บริหารกรรมการหลักและผู้ถือหุ้นยังคงเดิม แต่นายฉายไม่ได้ตอบว่ามีการเจรจาพูดคุยกับนายสุทธิชัย หยุ่น หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเพื่อกลับมาบริหารหรือไม่

จากข้อมูลที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สัดส่วนการถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก พบว่า บมจ. ยู ซิตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีเจ้าของเดียวกันกับกลุ่มบีทีเอส เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด ตามมาด้วย บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น, CGS-CIMB Securities (Singapore) Pte., Ltd. จากสิงคโปร์, นายสมบัติ พานิชชีวะ และนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น

ผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก ใน บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป. .  .

อย่างไรก็ตาม ยังมีนายปราบดา หยุ่น ลูกชายของนายสุทธิชัยอีกหนึ่งคนที่เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 13 จากข้อมูลนี้จะทำให้ครอบครัวของนายสุทธิชัยถือหุ้นรวมกันเป็น 7.78% และถือว่าเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นลำดับที่ 4

บรรดาพนักงานของบริษัทร่วมถ่ายรูปกับสุทธิชัย

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บรรดาพนักงานของบริษัทร่วมถ่ายรูปกับสุทธิชัยในวันอำลาตำแหน่งเมื่อปี 2561

ยอมรับทำหน้าที่บิดเบี้ยว

นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร หนึ่ง 3 บรรณาธิการเครือเนชั่นที่ถูกสั่งให้ยุติออกอากาศรายการ "เนชั่นสุดสัปดาห์" ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวีเนื่องจากขัดนโยบายสถานีช่วงปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น กล่าวยอมรับการทำงานที่ผ่านมาของสถานี "บิดเบี้ยว"

image

ที่มาของภาพ, FACEBOK/เนชั่นสุดสัปดาห์

"รู้สึกเศร้าใจ เมื่อเห็นน้อง ๆ ภาคสนาม เวลารายงานข่าวการชุมนุมต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ดูแลสื่อทีวี โดยน้องบางคนต้องปิดไมค์ ต้องไม่มีไมค์เนชั่น หรืออยู่ห่างจากม็อบ มันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ขณะที่ช่องอื่น ๆ สามารถรายงานตรงกลางม็อบ กลางมวลชนได้" นายวีระศักดิ์กล่าวระหว่างการแถลงข่าว

เขากล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า ถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การกลับไปสู่การทำหน้าที่สื่ออย่างแท้จริง เป็นสถาบันสื่อ ทุกคนก็มีภาคภูมิใจได้มากที่สุด

"การที่เราดึงกลับ แม้ว่าจะบิดเบี้ยวไปบ้างระยะหนึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ถ้าทุกคนช่วยกัน" นายวีระศักดิ์กล่าว

น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ ประธานสหภาพแรงงานเครือเนชั่นกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาเสียงวิพากษ์วิจารณ์สื่อเนชั่น ต่อพนักงาน โดยเฉพาะฝ่ายข่าวก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ในจังหวะความขัดแย้งทางการเมือง สื่อจะถูกป้ายว่าเลือกข้าง

"เราเองก็ไม่พ้นข้อกล่าวหานั้น ในฐานะตัวแทนสหภาพก็ได้มาสะท้อนให้ผู้บริหารทุกระยะ ผู้บริหารก็ให้ความมั่นใจว่าจะกลับมาสู่สถาบันสื่อ ในนามพนักงาน เมื่อเรากลับมาสู่เนชั่นเวย์ พนักงานทุกคนพร้อมสนับสนุนเพื่อให้สถาบันมีความเป็นสื่อมืออาชีพ" เธอระบุ

ตึกอินเตอร์ลิงค์

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อดีตอาคารนี้ คือเนชั่น ทาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นอาณาจักรอันรุ่งเรืองของเครือเนชั่น ปัจจุบันถูกขายเป็นของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง

ย้ำขายความน่าเชื่อถือ ความจริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการแถลงข่าว นายฉายกล่าวว่า เนชั่นยังคงเป็นสถาบันข่าว ส่วนการที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพและตั้งใจทำงานเพื่อองค์กรได้ลาออกไปตามวิถีชีวิตหรือตามความฝันของเขา เป็นเรื่องปรกติทางธุรกิจ และย้ำว่า "องค์กรของเราเป็นองค์กรข่าวอันดับหนึ่ง ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาโดยตลอด"

นายฉาย บุนนาค (ซ้าย)

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายฉาย บุนนาค (ซ้าย)

"เราไม่ได้ขายดาราหรือผู้ประกาศ แต่แน่นอนดาราผู้ประกาศเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ แต่เราขายความน่าเชื่อถือ ความจริง เราเป็นดั่งแสงเทียนนำทางของสังคมในยามที่มืดมิด เราเป็นดั่งกระจกสะท้อนสังคมที่บิดเบี้ยว ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ทำให้เป็นกระจกที่บิดเบี้ยวเสียเองด้วย เราขายความรับผิดชอบต่อสังคม"

line

ข้อถกเถียงหลัง "ฉาย" กุมบังเหียนสื่อค่ายบางนา

นับตั้งแต่ ฉาย ได้เข้าบริหารเครือเนชั่น เมื่อ ม.ค.2562 บริษัทเริ่มมีการปรับเปลี่ยนการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาระหนี้สินจำนวนมาก ทั้งที่เกิดขึ้นจากต้นทุนการประมูลทีวีดิจิทัล และภาวะการขาดทุนของหน่วยธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารงานของผู้ที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่า "พ่อมดน้อยแห่งวงการหุ้น" ก็มีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาต่อเนื่อง ทั้งในแง่ความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ข้อกังขาในจริยธรรมสื่อ สู่วิกฤตการเงินของบริษัท

1.ความใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาล

ประเด็นที่ยังคงถูกกล่าวถึงมาอย่างต่อเนื่องและถูกโยงไปกับประเด็นความเป็นกลางของสำนักข่าวแห่งนี้ คือ "ความใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาล" สืบเนื่องมาตั้งแต่เครือเนชั่นถูกควบกิจการโดยบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งในขณะนั้นนางวทันยา วงษ์โอภาสี ภรรยาของนายฉายนั่งเป็นกรรมการบริษัท

วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ "มาดามเดียร์"

ที่มาของภาพ, FA Thailand

คำบรรยายภาพ, วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ "มาดามเดียร์" ตามฉายาโดยสื่อมวลชน

ภายหลังการควบรวมกิจการเสร็จ เธอก็เข้าเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อแห่งนี้ด้วย หลังจากนั้น ก็มีการแต่งตั้งนายฉายเป็นประธานกรรมการเครือเนชั่น

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง หลังจากที่นางวทันยาได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชารัฐ ถึงแม้ว่าจะออกมายืนยันว่าได้ขายหุ้นบริษัทสื่อมวลชนทั้งหมดก่อนวันยื่นใบสมัครต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีเอกสารที่ยืนยันได้ตามกฎหมายครบถ้วนแล้วก็ตาม

2. วิบากรรม #แบนเนชั่น

ย้อนหลังไปเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อนักข่าวจากช่องเนชั่นทีวีได้แอบอ้างเป็นนักข่าวจากอีกช่องอื่นเพื่อสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม เพื่อปกปิดต้นสังกัด เนื่องจากผู้ชุมนุมบางส่วนได้แสดงความไม่พอใจการนำเสนอข่าวของทีมข่าวเนชั่น ที่ถูกมองว่าบิดเบือนและไม่เป็นธรรมกับผู้ชุมนุม

การแอบอ้างเป็นผู้สื่อข่าวสำนักอื่นของนักข่าวเนชั่นในครั้งนั้นทำให้เกิดการรณรงค์ผ่านแฮชแท็ก #แบนสปอนเซอร์เนชั่น และตามมาด้วย #แบนเนชั่น และส่งผลให้เกิดการรณรงค์ไม่ให้สนับสนุนผู้ลงโฆษณาสถานีดังกล่าว ทำให้หลายบริษัทใหญ่ ๆ ตัดสินใจชะลอการสนับสนุนรายการโทรทัศน์ของเนชั่นทีวี

ข้าม Twitter โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

3. ผลประกอบการยังขาดทุน

แม้ว่าจะไม่สามารถระบุได้ว่าผลกระทบจากการรณรงค์ในสังคมออนไลน์ต่อเครือเนชั่นเป็นอย่างไร แต่ด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็ส่งผลให้เครือเนชั่นยังคงประสบปัญหาทางการเงิน

สำหรับผลประกอบการของเนชั่นทีวีในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ขาดทุน 18.23 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 104% เมื่อเทียบกับกำไรในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนผลประกอบการของบมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเนชั่นทีวี ยังคงถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย "SP" (Suspension) เพื่อห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. เนื่องจากบริษัทยังไม่นำส่งงบการเงินในไตรมาสที่ 2