อย่าแปลกใจ เมื่อใคร ๆ ก็อยากเป็น กสทช.

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย
จานดาวเทียม

ที่มาของภาพ, Getty Images

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปพลางก่อน ไม่ใช่เพียงผลจากการประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีมติล้มกระดานว่าที่ กสทช.ทั้ง 14 คน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลว่ามีผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามถึง 8 คน

แต่ล่าสุดวานนี้ (24 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ก็ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2561 เรื่อง การยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. โดยระบุถึงกระบวนการสรรหาครั้งก่อนหน้าว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการคนมีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ผ่านการสรรหา

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูรายชื่อผู้สมัครชิงเก้าอี้ "กรรมการ กสทช. 7 ด้าน เมื่อครั้งเปิดรับสมัครครั้งแรกจะพบว่ามีผู้สมัครทั้งหมด 86 คน ในจำนวนนั้นมีผู้สมัครที่เป็นอดีตทหาร-ตำรวจถึง 24 คน เข้าชิงด้วย

แม้ว่ากระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. จะยุติลงไปแล้ว แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมตำแหน่งนี้ถึงได้หอมหวน จนมีคนเกือบร้อยชีวิตมาแย่งชิง "เก้าอี้ดนตรี" ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เมื่อรอบที่แล้ว

กสทช.

ที่มาของภาพ, สำนักงาน กสทช.

คำบรรยายภาพ, กสทช.ชุดปัจจุบัน มี พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี เป็นประธานกรรมการ

ทำไมใครๆ ถึงอยากเป็น กสทช. ?

การสรรหากรรมการ กสทช. ครั้งนี้เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน เนื่องจากมีการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ไปเมื่อปีก่อน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ กสทช. มีอยู่ 2 เรื่อง คือ

  • ลดจำนวนกรรมการ กสทช. ลง จาก 11 คน เหลือ 7 คน แต่ยังมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และเป็นได้สมัยเดียว
  • ไม่แยกอำนาจในการกำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับการสื่อสาร ที่คือเดิมจะแยกกรรมการ กสทช. เป็น "ชุด Broadcast" ดูแลงานเกี่ยวกับกิจการวิทยุโทรทัศน์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ "ชุด Telecom" ดูแลงานเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม เช่น มือถือ ดาวเทียม แต่ กสทช. ชุดใหม่ จะรวมอำนาจทั้งหมดไว้ในชุดเดียว
ทีวีดิจิทัล

ที่มาของภาพ, facebook/Digital TV (NBTC)

คำบรรยายภาพ, การประมูลทีวีดิจิทัลช่วงปลายปี 2556 ทำให้วงการโทรทัศน์ไทยเกิดช่องรายการเพิ่มเป็น 36 ช่อง เริ่มออกอากาศในระบบดิจิทัลเมื่อเดือน เม.ย.2557 ทว่าการเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลทีวี ซึ่งเป็นภารกิจของ กสทช.ถูกตั้งคำถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่

เมื่อจำนวนกรรมการลด แต่ขอบเขตงานที่กว้างขึ้น นั่นแปลว่า "บารมี" ของกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ย่อมเบ่งบานกว่าเดิม

สิทธิประโยชน์ กสทช.

เงินเดือนประธาน 335,520 บาท

  • กรรมการ 269,000 บาท

  • งบเดินทางต่างประเทศ ปีละหลายสิบล้าน

  • สิทธิในการบินในชั้น First Class

  • งบรับรองเดือนละ 2 แสนบาท

  • ตั้งที่ปรึกษา คณะทำงาน และอนุกรรมการ กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

AFP/getty images

เงินเดือนก็มากกว่านายกฯ

แต่อีกเหตุผลที่จูงใจ คือ "รายได้และสิทธิประโยชน์" ที่โดยรวมแล้วได้มากกว่าเงินเดือน 2 ทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.รวมกัน

เงินเดือนของกรรมการแต่ละคนอยู่ที่ 269,000 บาท ส่วนประธานกรรมการได้เพิ่มเป็น 335,520 บาท ไม่รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ขณะที่นายกฯ หัวหน้า คสช. ประธานศาลฎีกา และประธานรัฐสภา ได้รับเงินเดือนเท่ากันที่ 125,590 บาท เท่านั้น

ช่องนาว 26

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ยอดโฆษณาในสื่อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแห่ลดต้นทุน อาทิ เครือเนชั่นประกาศขายช่อง NOW และมหาวิทยาลัย ส่วนว๊อยซ์ทีวี ได้ปรับสัดส่วนการผลิตรายการ และเลิกจ้างพนักงานออกกว่า 100 ชีวิต

ในแต่ละปี สำนักงาน กสทช. ยังจะตั้ง "งบเดินทางต่างประเทศ" ให้กับกรรมการรวมกันหลายสิบล้านบาท โดยทุกคนมีสิทธินั่งเครื่องบินในชั้นเฟิร์สคลาส นอกจากนี้ ยังจะมี "งบรับรอง" ด้วยการทำบัตรเครดิตให้กรรมการแต่ละคนได้ถือ เพื่อใช้รับรองแขกของตัวเองคนละ 200,000 แสนบาทต่อเดือน แต่หากใครใช้เกินวงเงิน ก็สามารถนำใบเสร็จมาเบิกกับสำนักงานได้อีก

ไม่เพียงเท่านั้น กรรมการแต่ละคนยังสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษา - คณะทำงาน - อนุกรรมการต่างๆ ซึ่งมีค่าตอบแทนให้ในอัตราที่สูงกว่าราชการทั่วไปค่อนข้างมาก อาทิ ที่ปรึกษากรรมการ กสทช. จะได้เงินเดือนราว 120,000 บาท ซึ่งเกือบเท่ากับนายกฯ ขณะที่คณะทำงานหรืออนุกรรมการต่างๆ จะได้เบี้ยประชุมลดหลั่นกันไป แต่สูงสุดคือ 10,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งเท่ากับเบี้ยประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมักมีนายกฯ หรือรองนายกฯ เป็นประธาน

จนใครได้เป็นกรรมการ กสทช. หากจะเรียกว่า ยิ่งกว่า "ตกถังข้าวสาร" ก็คงจะไม่ผิดนัก

งานใหญ่รอ กสทช. ชุดใหม่

  • ประมูลคลื่น 900 MHz กับ 1800 MHz ปลายปี 2561

  • จัดการปัญหา “ทีวีดิจิทัล” ที่ยังขาดทุน

  • เรียกคืนคลื่นจาก “ทีวีอนาล็อก” เดิม

  • จัดการปัญหา “วิทยุชุมชน”

  • เรียกคืนคลื่นวิทยุจากหน่วยงานราชการและเหล่าทัพ

getty images

ทำไมต้องเงินเดือนสูง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เคยอธิบายว่า เหตุที่กรรมการ กสทช. ต้องได้สิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะเงินเดือนมากกว่านายกฯ ว่า เป็นการเทียบเคียงกับค่าตอบแทนที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เคยได้รับ โดยประธานจะอยู่ที่ 398,300 บาท และกรรมการจะอยู่ที่ 394,200 บาท แม้ว่าภารกิจของ กสทช. จะมากกว่า

นอกจากนี้ ยังให้เทียบเคียงกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เนื่องจากมีอำนาจ หน้าที่ คุณสมบัติ การพ้นตำแหน่ง ระยะเวลาในการปฏิบัติงานเต็มเวลาเช่นเดียวกัน

แต่เมื่อนำ พรฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ กสทช. เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2556 ก็ถูกปรับลดลงเงินเดือนลงมาจนเท่าปัจจุบัน ส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เทียบเท่ากับปลัดกระทรวง

ขณะที่เงินเดือนประธานและกรรมการ กสทช. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่างปี 2553 - 2556 จะอยู่ที่เพียง 120,000 บาท และ 100,000 บาท เท่านั้น

ขุมทรัพย์ในอากาศมูลค่าแสนล้าน

กำเนิดของ กสทช. ย้อนไปถึงการต่อสู้ของภาคประชาชนให้กระจายการถือครองคลื่นความถี่ ซึ่งเดิมอยู่ในมือของภาครัฐ 100% จนเป็นที่มาของถ้อยคำสั้นๆ แต่ทรงพลัง ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 40 ที่ว่า "คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ" พร้อมให้จัดตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาจัดสรรคลื่นความถี่

ทีวีดิจิทัล

ที่มาของภาพ, BBC

คำบรรยายภาพ, จำนวนสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีกว่า 20 ช่อง และ ยอดโฆษณาที่หดตัวทำให้ ทีวีหลายช่องประสบปัญหาการเงิน จนตัดสินใจหาผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา เช่น บริษัทของตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้นเกือบ 50% ของอมรินทร์ เทเลวิชั่น

แต่กว่าจะมีองค์กรที่ว่าเกิดขึ้นจริงๆ จังๆ ก็ต้องรอจนถึงปี 2553 เมื่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีผลบังคับใช้ และเกิดการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดแรก ดึงคลื่นความถี่จากมือภาครัฐมาจัดประมูลให้ภาคเอกชน ทั้ง 3G-4G ทีวีดิจิทัล นำรายได้เข้ารัฐตลอด 6 ปีที่ผ่านมา กว่า 300,000 ล้านบาท

ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หอมหวานนับแสนล้านจากขุมทรัพย์ที่ลอยอยู่ในอากาศชื่อว่า "คลื่นความถี่" ซึ่งทุกการตัดสินใจของ กสทช. จะมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย ดังนั้น ในยุคที่ทหารเป็นใหญ่ และยังไม่มีวี่แววว่าจะคืนอำนาจเมื่อไร การสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ท่ามกลางทหารหลาย ๆ คนเป็นตัวเก็งจะคว้าเก้าอี้ไปครอง จึงเป็นเรื่องน่าจับตาอย่างยิ่ง

Presentational grey line

หมายเหตุ: รายงานนี้ได้รับการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมจาก ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561