20 ปีหลังฮ่องกงคืนสู่จีน พิสูจน์ความเชื่อและความจริง

ภาพการ์ตูนห่านทอง

ที่มาของภาพ, DAVIES CHRISTIAN

การส่งคืนเกาะฮ่องกงให้ทางการจีนหลังอังกฤษปกครองมานานกว่า 150 ปี ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดทั้งความหวังและความไม่แน่นอน บีบีซีขอให้นักสังเกตการณ์ย้อนรำลึกสิ่งที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 20 ปีก่อนว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

ฮ่องกงยังคงเป็น 'ห่านทองคำ' ของจีนหรือไม่?

ย้อนกลับไปยุคก่อน ฮ่องกงกำลังเจริญรุ่งเรือง เป็นสากล ถูกมองว่าจะเป็นประตูเปิดสู่โลกภายนอกของจีน และหลายคนก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่นานหลายปี แต่เมื่อเวลาผ่านมา 20 ปี ฮ่องกงไม่ใช่เพชรยอดมงกุฎของจีนอีกต่อไปแล้ว นครใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และกวางตุ้ง กลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตและการเงินที่สำคัญ

มาร์ติน ลี นักการเมืองชาวฮ่องกง ยอมรับว่า "ฮ่องกงเคยเป็นห่านทองคำเพียงตัวเดียวของจีน" เขาเองไม่คิดว่าเศรษฐกิจจีนจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว และฮ่องกงจะสูญเสียอำนาจต่อรองไปอย่างรวดเร็ว

ขณะที่นักวิเคราะห์การเงินอย่างแอกเนส อู๋ เห็นว่าหลายคนไม่ได้นึกมาก่อนเลยว่าฮ่องกงจะกลายเป็น "สวรรค์สำหรับการฟอกเงินและเป็นแหล่งเงินทุนไหลออก" ของจีนแผ่นดินใหญ่

โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐีจีนจำนวนมากได้หาทางนำทรัพย์สินและธุรกิจมาพักไว้ในฮ่องกง หรือแม้แต่ย้ายไปอยู่ที่นั่น ในขณะที่ทางการจีนกำลังปราบปรามการทุจริตขนานใหญ่

ประชาธิปไตยจากฮ่องกงจะแพร่สู่จีน?

ภาพการ์ตูนคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กถือเข็มฉีดยา

ที่มาของภาพ, DAVIES CHRISTIAN

ในช่วงปี 1997 หลายคนเคยสงสัยว่า การกลับมารวมกันของฮ่องกงซึ่งมีเสรีภาพ กับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ควบคุมอย่างเข้มงวดจะผ่านไปได้ด้วยดีได้อย่างไร โดยเฉพาะการรวมตัวกันเกิดขึ้นในช่วงหลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ปราบปรามผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างโหดร้าย ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพียงไม่กี่ปี

คีธ ริชเบิร์ก อดีตผู้สื่อข่าวของวอชิงตัน โพสต์ กล่าวว่า ความหวังอย่างหนึ่งในตอนนั้นคือว่า ท้ายที่สุดแล้วฮ่องกงอาจ "แพร่ประชาธิปไตยไปสู่จีน" ได้

ขณะเดียวกันการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าจีนจะเปิดกว้างทางการเมืองตามไปด้วย และ "ถ้าฮ่องกงยังคงยืนหยัดต่อไปอีก 20 ปี สองสิ่งนี้ก็น่าจะมาบรรจบกันได้"

แต่คนบางส่วนคิดตรงกันข้าม

เมื่อเดือนที่แล้ว คริส แพทเทน ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงชาวอังกฤษคนสุดท้าย กล่าวว่า "ฮ่องกงถูกบีบคั้นมาโดยตลอด" ซึ่งรวมถึงการปกครองตัวเองของฮ่องกงด้วย

จีนรับปากว่า จะคงสิทธิต่าง ๆ และการปกครองตัวเองของเกาะฮ่องกงไว้ ภายใต้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" แต่มีความกังวลเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว่าจีนกำลังผิดคำสัญญา หลังจากเกิดเหตุหายตัวไปของเศรษฐีชาวจีน การหายตัวไปของเจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง กับมีการแทรกแซงการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง

ริชเบิร์ก อดีตนักข่าววอชิงตัน โพสต์ เห็นว่าปัจจุบันจีนมองฮ่องกงเป็น "ภัยคุกคาม เป็นฐานของการบ่อนทำลาย และจีนจะต้องเข้าไปควบคุม" โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากหลายครั้งในปี 2014

ด้านโจนาธาน เฟนบี อดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ กล่าวว่า จีนเองก็ได้ใจมากขึ้นจาก "การที่ประเทศมหาอำนาจจากภายนอกไม่เข้ามายุ่มย่าม รวมถึงอังกฤษ จีนก็ยิ่งทำอะไรได้ถนัดมือมากขึ้น"

แต่หลายคนกลับไม่เห็นด้วย นางแคร์รี แลม ว่าที่หัวหน้าผู้บริการเกาะฮ่องกง กล่าวกับบีบีซีเมื่อไม่นานนี้ว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ยังคง "แข็งแกร่งเช่นที่เป็นมา" และหลักนิติรัฐก็ "ดีกว่าสมัยก่อนปี 1997" ด้วย

ขณะที่เรจินา อิป นักการเมืองฮ่องกง กล่าวว่า กรณีของนางแลม ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ผู้บริหารฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนรักษาคำสัญญา และหากจีนและฮ่องกงไม่รวมตัวกัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของฮ่องกงหลายคนก็คงไม่สามารถก้าวขึ้นมาถึงระดับสูงสุดได้ บัดนี้ "คนฮ่องกงได้ปกครองคนฮ่องกง" สมความตั้งใจแล้ว

เธอเชื่อด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนา โดย "หลักการ 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' นั้นมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และท้าทายมากกว่าที่คิด แต่เธอหวังว่าในไม่ช้าก็เร็วสิ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหาจะได้รับการแก้ไข

จะเกิดอะไรขึ้นกับอัตลักษณ์ของฮ่องกง?

การ์ตูนเด็กชายสวมเสื้อลายธงชาติฮ่องกง ยืนหน้าธงชาติจีน

ที่มาของภาพ, DAVIES CHRISTIAN

กอร์ดอน แมทธิวส์ นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า เมื่อมีการส่งมอบเกาะฮ่องกงแล้วคนจำนวนมากก็คิดว่าเด็กรุ่นใหม่คงจะเรียนเพลงชาติ (จีน) และได้เรียนรู้ถึงการเคารพรักประเทศจีนในชั้นเรียน

ผู้สังเกตการณ์หลายคน ระบุว่า รัฐบาลจีนเคยคิดว่าฮ่องกงจะอ้าแขนรับการกลับสู่จีนแผ่นดินแม่ หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติมานานหลายทศวรรษ แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ชาวฮ่องกงกลับมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าในการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ สิ่งนี้มักจะถูกนิยามว่าเป็นความรู้สึกต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่

ชิง ชอง ผู้สื่อข่าวฮ่องกง ย้อนความทรงจำกลับไปในปี 1997 ว่า สิ่งที่เป็นความกังวลอย่างหนึ่งคือ "การถูกทำให้กลายเป็นจีนแผ่นดินใหญ่" ซึ่งค่านิยมของฮ่องกงหลายประการจะถูกกัดกร่อน และทำให้ฮ่องกงกลายเป็น "เพียงเมือง ๆ หนึ่งของจีนเท่านั้น"

"แต่สิ่งที่ผมไม่คาดคิดกลับเกิดขึ้นแทน นั่นคือการก่อตัวของแนวคิดท้องถิ่นนิยม หรือแนวคิดที่จะแยกตัว" ชิง ชอง อ้างถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งบางส่วนเป็นการสนับสนุนให้ฮ่องกงเป็นเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่

ความมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นของฮ่องกงยังคงแข็งแกร่งมากขึ้น แม้ว่าทางการจีนจะพยายามขยายอิทธิพลเข้ามาอย่างหนัก

แอนโทนี หว่อง นักร้อง กล่าวว่า "คนจำนวนมากเริ่มเป็นห่วงเรื่องสิทธิของตัวเอง" หลังจากมีความพยายามหลายครั้งในการนำกฎหมายต่อต้านการบ่อนทำลาย และระบบการศึกษาจีนมาใช้กับฮ่องกง ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่หลายครั้ง และทำให้เกิด "การตื่นตัวทางการเมือง" ขึ้น

อย่างไรก็ดี นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลของฮ่องกงอย่างอัลแลน เซแมน เชื่อว่า การผสมกลมกลืนกันของฮ่องกงกับจีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เขากล่าวว่า "ในอีก 20 ปีข้างหน้า สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป เรามีสะพานเชื่อมระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และจูไห่ เรามีรางรถไฟความเร็วสูง โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเปลี่ยนฮ่องกงและสุดท้ายแล้วพรมแดนที่เคยขวางกั้นก็จะหายไป"

"ฮ่องกงจะรวมเป็นปึกแผ่นกับจีนมากขึ้น ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่ก็ตาม"