รมว. ศึกษาธิการ วิจารณ์การกำกับดูแลมหาวิทยาลัยไทย "แย่"

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ที่มาของภาพ, สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

รมว. ศึกษาธิการ วิจารณ์มหาวิทยาลัยของไทยว่ามีการกำกับดูแลที่แย่ และมีอำนาจปกครองตัวเองมากเกินไป จนทำให้คนที่มีความสามารถรู้สึกเบื่อหน่าย

ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสารด้านการศึกษา Times Higher Education (THE) นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบคำถามว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย คือ ระบบกำกับดูแลมหาวิทยาลัย

"ณ ตอนนี้ ระบบการกำกับดูแลมันแย่เสียจนทำให้มีรักษาการอธิการบดีอยู่จำนวนไม่น้อย" นพ. ธีระเกียรติ กล่าวในบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ หลังการประชุมนานาชาติด้านการศึกษาที่มาเลเซีย

ในการประชุมดังกล่าว นพ. ธีระเกียรติ กล่าวว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายคนนั้นล้าหลังเกินไปสำหรับหน้าที่นี้ ตามรายงานของ THE พร้อมกล่าวด้วยว่า "กลุ่มนักวิชาการ คนที่มีความสามารถจริง ๆ ผิดหวังและเบื่อหน่ายกับระบบ"

รมว. ศึกษาธิการ มองว่า มหาวิทยาลัยไทยมีอำนาจปกครองตัวเองมากเกินไป และไทยควรปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกำกับดูแลมหาวิทยาลัยในด้านการบริหารให้ดีขึ้น รวมทั้งเน้นย้ำว่าเป็นคนละเรื่องกับเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งควรมีอิสระทางความคิดอย่างสมบูรณ์

อธิการบดีหายไปไหน ?

บรรยากาศในห้องประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศในห้องประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้บริหารสูงสุดในตำแหน่งรักษาการอธิการบดี

"เป็นไปได้ว่า เมื่อเคาะมาแล้ว แต่รอโปรดเกล้าฯ อาจมีคนทำหนังสือเข้ามาคัดค้าน ตามระบบจึงต้องรอไปก่อนเหมือนโดนแขวน จึงทำให้หลายสถาบันมีรักษาการเต็มไปหมด" ดร.ธีรเวช ทิตย์สีแสง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวกับบีบีซีไทย

ถึงแม้ผู้บริหารในตำแหน่งรักษาการจะมีอำนาจตัดสินใจไม่ต่างกัน แต่เขากล่าวว่ามันอาจกระทบการดำเนินนโยบายที่มีผลผูกพันระยะยาว ซึ่งย่อมส่งผลต่อการทำงานของมหาวิทยาลัย

ในปี 2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ต่ำกว่าสิบแห่งฟ้องร้องผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยหลายรายถูกคัดค้านเนื่องจากมีอายุเกินกำหนดเกษียณอายุราชการ

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตามรายงานของมติชน รมช. ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่ามีมหาวิทยาลัยประมาณ 10 กว่าแห่งสรรหาอธิการบดีได้แล้ว แต่ไม่สามารถเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ ได้เนื่องจากถูกร้องเรียน หรือถูกฟ้องร้อง ทำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (คนที่ 3 จากซ้ายมือ) ระหว่างร่วมงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อ 9 ก.พ.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (คนที่ 3 จากซ้ายมือ) ระหว่างร่วมงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อ 9 ก.พ.

การแข่งขันที่เปลี่ยนไป

ดร. ธีรเวช อธิบายว่า ปกติแล้วมหาวิทยาลัยของไทย มีระบบคัดเลือกผู้บริหารในลักษณะที่อยู่ระหว่างการสรรหากับการแต่งตั้ง โดยกระบวนการมักจะเริ่มจากการสรรหาบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการหยั่งเสียงเพื่อเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม อำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากนอกมหาวิทยาลัยและตัวแทนมหาวิทยาลัยบางส่วน นอกจากนี้ผู้ได้รับคัดเลือกอาจไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความนิยมที่สุดในมหาวิทยาลัยเสมอไป

เขาเห็นด้วยกับคำพูดของ รมว. ศึกษาธิการว่า จำนวนผู้ปฏิบัติหน้าที่แบบรักษาการ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ แต่เชื่อว่าการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ต่างจากอดีตที่ความต้องการของนักศึกษามีจำนวนมากทำให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการโดยมุ่งเน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันจำนวนนักเรียนที่มีน้อยลง ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องคำนึงถึงการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดไม่ต่างจากบริษัทเอกชน ดังนั้นคุณสมบัติของผู้บริหารจึงต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

"ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก ถ้าผู้บริหารเข้มแข็ง และจัดการได้ดี ข้างล่างก็ไม่เกิดปัญหา" ดร. ธีรเวช กล่าว และเสริมว่าผู้บริหารที่มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ จะช่วยให้ทั้งมหาวิทยาลัยมีทิศทางที่ถูกต้องและชัดเจน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายแตกต่างกัน

เร็ว ๆ นี้ รัฐบาลยังมีแผนที่จะจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่งเป็นการนำกระทรวงวิทยาศาสตร์มารวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล  รมต. ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า