ถวายสัตย์ : ประยุทธ์ ทำอะไรบ้างในรอบสัปดาห์หลังประกาศ “ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ถ่ายภาพหมู่

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ครม. "ประยุทธ์ 2" นั่งรอนายกฯ มาถ่ายภาพหมู่ร่วมกันบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 16 ก.ค.

เกือบหนึ่งสัปดาห์เต็มหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ประกาศ "ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" กรณีนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 วันนี้ (13 ส.ค.) เขาต้องนั่งเป็นหัวโต๊ะประชุม ครม. ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะ ครม. จากปมปัญหาที่เกิดขึ้น

แม้มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ, ทำหนังสือขอพระบรมราชานุญาตนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ หรือลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่านายกฯ คนที่ 29 จะเลือกวิธีการใด หรือมีวิธีการอื่นในใจ

วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุม ครม. ตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาล และถูกผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเคยประกาศว่าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ​ แต่เขากล่าวเพียงว่า "เรื่องการถวายสัตย์​ ผมไม่ตอบแล้ว"

ก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ส.ค. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวระหว่างประชุมชี้แจงและมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ ที่เมืองทองธานี โดยย้ำว่า "ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" อย่างน้อย 3 ครั้งบนเวที หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับคำร้องกรณีนายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้อง แต่ยังไม่สรุปแน่ชัดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัย

โคว้ดพิค

ทว่าในวันที่ 8 ส.ค. พล.อ. ประยุทธ์ คนเดิมได้ยืนยันว่า "วันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ตรงนี้แหละครับ ไม่ต้องเป็นห่วงผม ผมไม่ไปไหน พอแล้วเดี๋ยวนอกเรื่องอีก"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่าอยู่ทำงานต่อหมายความว่าอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า "ก็เป็นนายกฯ ไงเล่า"

กลางสัปดาห์นี้ ส.ส. ฝ่ายค้านเตรียมยื่นกระทู้ถามสดในสภา เพราะเห็นว่า "เกี่ยวพันกับสถานภาพของรัฐบาล" นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่าปัญหาในการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบจะส่งผลต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาหรือไม่ และการปฏิบัติหน้าที่และมติใด ๆ ของ ครม. ชุดนี้จะถูกตีความทางกฎหมายอย่างไร จะเป็นโมฆะไปด้วยหรือไม่

"แนวทางที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดคือ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องลาออก แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ" โฆษก พท. กล่าว

วันที่ 16 ก.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำ ครม. เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

ที่มาของภาพ, โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

คำบรรยายภาพ, วันที่ 16 ก.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำ ครม. เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

ย้อนวาทะ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อนประกาศแสดงความรับผิดชอบ

  • 25 ก.ค. : "พิธีถวายสัตย์เสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อยแล้ว ผมจะไม่กล่าวถึงอีก"
  • 5 ส.ค. : "ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการในการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ณ ตรงนั้นก็เสร็จไปแล้วว่าจะต้องทำอะไรในการดูแลประชาชน ข้อความต่าง ๆ ที่พูดไปแล้วถือว่าครอบคลุมทั้งหมด และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย ที่สำคัญที่สุดเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งมาให้ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทำเพื่อประชาชนและเพื่อประเทศ" และ "ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจบดีกว่า อย่าให้บานปลาย หลายคนในนั้นก็เป็นทหาร ขอร้องว่าเคยเป็นพี่น้องกันมา อย่าให้การเมืองมาทำให้ประเทศชาติปั่นป่วนไปทั้งหมด ถ้าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ให้รอเลือกตั้งคราวหน้าก็แล้วกัน"
  • 6 ส.ค. : "เรื่องของการถวายสัตย์ ผมก็พยายามจะแก้ปัญหาอยู่ในเรื่องนี้ แต่ก็ยืนยันว่าผมก็ทำครบถ้วน แต่ก็คงต้องว่ากันต่อไปนะครับ"
  • 7 ส.ค. : "ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำงานได้ ก็ขอให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดูว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีรัฐบาลอยู่ และต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำเต็มที่แล้ว" และ "ผมมีความสุขกับ ครม. ชุดนี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ"
  • 8 ส.ค. : "ผมยืนยันวันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ตรงนี้แหละครับ ไม่ต้องเป็นห่วงผม ผมไม่ไปไหน…"
  • 12 ส.ค. : "วันนี้เรื่องอะไรที่ไร้สาระอย่าไปนำเสนอข่าวมากเลย"

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหลายวาระ

ปิยบุตร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

สำหรับประเด็นการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ถูกนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ หยิบยกมาพูดเป็นครั้งแรกในระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อ 25 ก.ค.

ถ้อยคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 คือ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

ทว่าในคลิปภาพและเสียงที่ปรากฏในข่าวพระราชสำนัก พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่ว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" อีกทั้งนายปิยบุตรยังชี้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้เติมคำว่า "ตลอดไป" เข้าไปแทนด้วย

ตลอดการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้โดยบอกว่าจะไม่กล่าวถึงอีก

ต่อมาวันที่ 1 ส.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ปฏิเสธจะตอบคำถามสื่อมวลชนอย่างน้อย 5 ครั้งหลังถูกถามถึงเรื่องการถวายสัตย์ของ ครม. และยังพูดเป็นนัยว่า "แล้วสักวันจะรู้ว่าทำไมไม่ควรพูด" ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างแพร่หลายหนักกว่าเดิม