ถ้ำหลวง: ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อใช้ชีวิตในถ้ำมืด 2 เดือน

เมื่อปี 1962 นายมิเชล ซิฟร์ ได้ทดลองใช้ชีวิตในถ้ำมืดเป็นเวลานานถึง 2 เดือน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เมื่อปี 1962 นายมิเชล ซิฟร์ ได้ทดลองใช้ชีวิตในถ้ำมืดเป็นเวลานานถึง 2 เดือน

เยาวชนนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า 13 คน ซึ่งยังรอการเตรียมพร้อมความช่วยเหลือให้ออกมาจากถ้ำที่ถูกน้ำท่วม ไม่ได้เป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่มืด ไร้แสงธรรมชาติส่องถึงเป็นเวลานาน จนเกรงกันว่าอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายตามมา

เมื่อปี 1962 นายมิเชล ซิฟร์ (Michel Siffre) นักธรณีวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ทดลองใช้ชีวิตแบบเดียวกันเป็นเวลานานถึง 2 เดือน จนได้ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องการรับรู้เวลา นาฬิการ่างกาย รวมทั้งวงจรการหลับและตื่นในภาวะไม่ปกติระหว่างติดอยู่ในที่มืดเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้สามารถจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับกรณีทีมหมูป่าของไทยได้หรือไม่ ?

ทดลองอยู่ในถ้ำมืดใต้ธารน้ำแข็ง

นายซิฟร์ได้ทดลองเข้าไปอยู่ในถ้ำใต้ธารน้ำแข็งที่เขาค้นพบใกล้เมืองนีซของฝรั่งเศส โดยไม่มีทั้งนาฬิกา ปฏิทิน และไม่อนุญาตให้คนอื่นเข้าไปพบในระหว่างช่วงสองเดือนที่ขังตัวเองอยู่ด้วย

เขาทำกิจกรรมทุกอย่างในที่มืดโดยไม่มีตารางเวลากำหนดไว้ ตอบสนองความต้องการของร่างกายเช่นกิน ดื่ม นอนหลับ เมื่อรู้สึกหิวกระหายและง่วงนอนตามธรรมชาติเท่านั้น โดยมีการจดบันทึกพฤติกรรมของเขาและโทรศัพท์บอกทีมงานนอกถ้ำในเวลาที่ตื่นขึ้นและเข้านอนทุกครั้งด้วย

ครอบครัวของทีมหมูป่าโชว์ภาพ 13 ชีวิตที่ยังอยู่ในถ้ำหลวง

ที่มาของภาพ, Lillian Suwanrumpha/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ครอบครัวของทีมหมูป่าโชว์ภาพ 13 ชีวิตที่ยังอยู่ในถ้ำหลวง

เมื่อครบกำหนด 2 เดือน ทีมงานได้โทรศัพท์เข้าไปบอกนายซิฟร์ในถ้ำว่าการทดลองสิ้นสุดลงแล้ว เขาประหลาดใจมากเพราะคิดว่าเวลาน่าจะผ่านไปเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น

การรับรู้เวลาและวันคืนผิดพลาดนี้ เป็นผลทางจิตวิทยาซึ่งเกิดขึ้นจากการอยู่ในที่มืดมาโดยตลอด คล้ายกับที่สมาชิกทีมหมูป่าถามนักประดาน้ำที่พบตัวพวกเขาว่าขณะนั้นเป็นวันอะไรแล้ว

วงจรการหลับและตื่นคลาดเคลื่อน

ประสบการณ์น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่นักธรณีวิทยาชาวฝรั่งเศสผู้นี้บันทึกไว้ คือการที่วงจรการหลับและตื่นของเขาขยายยาวนานขึ้น จากรอบละ 24 ชั่วโมงแบบคนทั่วไป มาเป็น 24 ชั่วโมง 30 นาที เนื่องจากนาฬิการ่างกายไม่ได้รับการกระตุ้นจากวงจรการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ตามธรรมชาติ

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังหาทางช่วยเหลือที่ดีที่สุดให้ทีมหมูป่าได้ออกจากถ้ำโดยไม่เป็นอันตราย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังหาทางช่วยเหลือที่ดีที่สุดให้ทีมหมูป่าได้ออกจากถ้ำโดยไม่เป็นอันตราย

ปรากฏการณ์นี้พบได้ในคนตาบอดด้วยเช่นกัน โดยแต่ละคนจะมีช่วงเวลาของวงจรหลับ-ตื่น แตกต่างกันออกไป โดยอาจยาวนานกว่าหรือสั้นกว่า 24 ชั่วโมงเล็กน้อย ไปจนถึงเกือบ 25 ชั่วโมงก็มี โดยวงจรนี้เดินอยู่เป็นอิสระในร่างกายของพวกเขา โดยไม่ขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอก

คนที่มีวงจรหลับ-ตื่นนานกว่า 24 ชั่วโมง จะทำให้เวลาเข้านอนและตื่นนอนในแต่ละวันเคลื่อนออกไปจากเวลาประจำและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่นคนที่มีนาฬิการ่างกายเดินรอบละ 24.5 ชั่วโมง อาจตื่นขึ้นในเวลา 8.00 น.ในเช้าวันจันทร์ แต่ในวันต่อมาจะตื่นขึ้นในเวลา 8.30 น. และเลื่อนเป็น 9.00 น.ในวันพุธ

เมื่อครบ 2 สัปดาห์ ร่างกายของคนที่อยู่ในความมืดโดยตลอดอาจคิดไปว่า เวลาที่ตื่นนอนคือ 20.00 น. ทั้งที่จริงแล้วคือ 8.00 น. ก็เป็นได้ ความผิดปกตินี้จะทำให้นอนหลับได้ไม่สนิทหรือนอนกลางวันมากจนเกินไป ซึ่งเท่ากับมีอาการเจ็ตแล็ก(Jet lag) หรืออ่อนเพลียเพราะเดินทางข้ามเขตเวลาโดยถาวรนั่นเอง

จัดแสงเลียนแบบธรรมชาติในถ้ำอาจช่วยได้

วงจรการรับรู้เวลาในร่างกายมนุษย์ เกิดจากการรับแสงของเนื้อเยื่อในสมองชื่อว่า Suprachiasmatic nucleus (SCN) ซึ่งเนื้อเยื่อนี้อยู่ตรงหว่างคิ้วลึกลงไปในกะโหลกศีรษะราว 2 เซนติเมตร

การจัดแสงเลียนแบบธรรมชาติภายในถ้ำ อาจเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายของทีมหมูป่า

ที่มาของภาพ, Alamy

คำบรรยายภาพ, การจัดแสงเลียนแบบธรรมชาติภายในถ้ำ อาจเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายของทีมหมูป่า

เนื้อเยื่อสมองส่วนนี้เชื่อมกับเซลล์ไวแสงที่ด้านหลังจอประสาทตา โดยแสงที่ได้รับจะทำให้เนื้อเยื่อ SCN รีเซ็ตวงจรนาฬิการ่างกายใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความมืดและความสว่างของสิ่งแวดล้อมภายนอก

หากตกอยู่ในความมืดหรือสูญเสียการมองเห็น สมองจะไม่สามารถควบคุมนาฬิการ่างกายได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้พร้อมกันหลายคนอาจรบกวนการนอนของกันและกัน เพราะคนหนึ่งอาจกำลังหลับสนิท ในขณะที่อีกคนหนึ่งกำลังตื่นเต็มที่อยู่ก็เป็นได้

เมื่อวงจรที่ควบคุมการหลับและตื่นผิดปกติ นาฬิการ่างกายที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ก็จะรวนไปทั้งหมดด้วย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกสับสน อารมณ์หดหู่ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ระบบเผาผลาญและฮอร์โมนผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำวิธีแก้ปัญหาด้วยการจัดแสงในถ้ำให้มีความมืดและสว่างเพียงพอ โดยสอดคล้องกับเวลากลางวันและกลางคืนภายนอก ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ใช้กับคนงานเหมืองชาวชิลี 33 คนที่ติดอยู่ใต้ดินเป็นเวลา 69 วัน เมื่อปี 2010 โดยวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้สมองปรับนาฬิการ่างกายได้ตรงกับความเป็นจริงและเสถียรมากขึ้น