4 ปีรัฐประหาร : "คนอยากเลือกตั้ง" นัดบุกทำเนียบ

แกนนำกลุ่มอยากเลือกตั้งปราศรัย

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

นิสิตนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" รวมตัวกันที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจ "หยุดระบอบ คสช. หยุดยื้อเลือกตั้ง" ซึ่งตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาสังเกตการณ์การชุมนุมประเมินกับบีบีซีไทยว่ามีผู้ชุมนุมราว 500 คน

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่หก ตามโรดแมปการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เฉพาะในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นเดือนแห่งวาระครบรอบสี่ปีของการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทางแกนนำได้นัดหมายจัดกิจกรรมทุกวันเสาร์

แกนนำจัดการชุมนุม นำโดยนายรังสิมันต์ โรม และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ประกาศย้ำจุดยืนสามข้อคือ 1. ให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย. นี้ 2. ให้ คสช. ลาออก และ 3. ให้กองทัพกลับเข้ากรมกองและหยุดสนับสนุน คสช. ทั้งนี้หากไม่ได้รับการสนองตอบภายในวันที่ 22 พ.ค. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล

"วันที่ 21 พ.ค. ขอให้ประชาชนมานอนค้างคืนที่ธรรมศาสตร์ เพื่อวันรุ่งขึ้นจะได้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ พร้อมกัน" นายรังสิมันต์กล่าวและย้ำว่า 22 พ.ค. เราจะหยุดระบอบ คสช.

ลูกโป่งผูกป้าย 22 พ.ค. ที่ทำเนียบ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

บีบีซีไทยได้สำรวจความคิดเห็นของแนวร่วมคนสำคัญของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เข้าร่วมชุมนุมในวันนี้ เช่น นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันพร้อมร่วมเดินขบวนไปทำเนียบฯ วันที่ 22 นี้

ขณะที่บางส่วนยังสงวนท่าทีในการร่วมเคลื่อนไหน อย่างนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ขอรอดูท่าทีจาก คสช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเงื่อนไขทั้งสามข้อ ส่วนตัวที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่มีทางเกิดขึ้น จนกว่าเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์จะดูด ส.ส. ได้ครบตามเป้าหมาย

รังสิมันต์ โรม

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

ส่วนนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน กล่าวว่า วันนี้มาร่วมกิจกรรมในนามประชาชน ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งพรรค เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งหลายเพราะเป็นวาระสำคัญครบสี่ปีของการรัฐประหาร โดยวันที่ 19 พ.ค. จะมาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่สำหรับวันที่ 22 เป็นวันอังคาร ต้องขอประเมินก่อนเพราะเพิ่งทราบข้อมูลเดี๋ยวนี้เอง

รังสิมันต์ โรม บนเวที

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

"มวลชนคนอยากเลือกตั้งถือเป็นพรมแดงของโรดแมป เพื่อยืนยันว่ามันสุดทางของ คสช. แล้ว การเลือกตั้งจะเลื่อนไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว" นายสมบัติ ผู้ถูกตั้งข้อหาคดียุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพราะร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าว

ยอมรับพรรคใหม่ ทำมวลชนหด

ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวยอมรับว่าการเกิดขึ้นของพรรคทางเลือกใหม่ในปีกประชาธิปไตย มีผลต่อจิตวิทยาของผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเล็กน้อย เพราะบางส่วนคิดว่าจะมีเลือกตั้งแล้ว และมีทางเลือกแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกมาชุมนุม

ป้ายหยุดยื้อเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

อย่างไรก็ตามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อนเพื่อป้องกัน คสช. ผิดคำพูดหลังประกาศเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. 2562 พร้อมสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจของ คสช.

"ไม่ว่าจะสืบทอดอำนาจด้วยการก่อรัฐประหารซ้ำ หรือการตั้งพรรคทหาร กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็พร้อมออกมาต่อต้าน นี่อาจเป็นประเด็นที่เราจะใช้เคลื่อนไหวต่อไป หาก พล.อ.ประยุทธ์ขยายอำนาจตัวเองออกไปอีก" นายอานนท์กล่าวและว่า ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในวันที่ 22 พ.ค. จะมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอย่างน้อย 2,000 คน

คนถือป้ายประท้วง

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

แกนนำเครียด ผู้ชุมนุมพาดพิงเบื้องสูง

สำหรับกิจกรรมบนเวทีเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ คสช. นอกสภา มีผู้สลับขึ้นเปิดปราศรัยหลายประเด็น อาทิ ปัญหาการทุจริต, ปัญหาแรงงาน, ปัญหาการเกณฑ์ทหาร ฯลฯ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 18.00 น.เศษ ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นใน ระหว่างกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "พลังมด" นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน อยู่บนเวที ปรากฏว่ามีหญิงรายหนึ่งขอขึ้นไปกล่าวแสดงความรู้สึกเรียกร้องให้สถาบันเบื้องสูง "ออกมายืนเคียงข้างประชาชน" ทำให้ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ทำหน้าที่กำกับเวทีขณะนั้นต้องรีบตัดบท และเชิญหญิงรายดังกล่าวลงจากเวทีไป

แบบจำลองรถถังบนพานรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

น.ส.ณัฏฐาชี้แจงว่า หญิงคนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่มพลังมด

"เป็นความผิดของโบว์ (น.ส.ณัฏฐา) เองที่สะเพร่าให้เขาขึ้นมาบนเวที ไม่แน่ใจว่าใครส่งมาสร้างสถานการณ์หรือไม่ เพราะขณะนี้ก็มีไอโอ (หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา) โจมตีว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งรังเกียจคนเสื้อแดง ใครเป็นคนเสื้อแดงยกมือขึ้น" น.ส.ณัฏฐากล่าว ท่ามกลางประชาชนเกินกว่าครึ่งบนความจุของลานปรีดี ที่พร้อมใจกันยกมือแสดงตนเป็นคนเสื้อแดง

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บรรดาแกนนำต้องหารือกันอย่างเคร่งเครียดด้านหลังเวทีเพื่อป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ ทั้งนี้การชุมนุมยุติลงในเวลา 21.45น. ใช้เวลารวม 5.30 ชม. โดยไม่มีเหตุวุ่นวายใด ๆ

คนใส่ผ้าปิดปาก

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan

สำรวจคดี "คนอยากเลือกตั้ง" ในรอบ 98 วัน

ผ่านมา 98 วันนับจากมีการชุมนุมครั้งแรกของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่ลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน กทม. เมื่อ 27 ม.ค. บีบีซีไทยสำรวจพบว่าทั้งแกนนำและแนวร่วมได้ถูกตั้งข้อหาคนละหลายกระทงจากการจัดกิจกรรมห้าครั้งที่ผ่านมา โดยทุกคดีที่เคลื่อนไหวในส่วนกลาง แกนนำจะถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย ซึ่งต้องระวางโทษสูงสุดด้วยการจำคุกไม่เกินเจ็ดปี นอกเหนือจากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และผิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ โดยแกนนำที่ถูกตั้งข้อหาจากการจัดกิจกรรม "คนอยากเลือกตั้ง" มากที่สุดคือนายสิรวิชญ์รวม 5 คดี

ที่มา : บีบีซีไทยดัดแปลงจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน