โควิด-19 : ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใช้ "แนวหน้า" ของภูมิคุ้มกันร่างกาย เป็นอาวุธโจมตีเซลล์เป้าหมาย

กราฟิกไวรัส

ที่มาของภาพ, Getty Images

สาเหตุที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ที่แพร่ระบาดได้ง่ายนั้น อาจเป็นเพราะมันสามารถใช้โปรตีนที่เป็น "แนวหน้า" ซึ่งปกติทำหน้าที่ตรวจจับไวรัสและส่งสัญญาณเตือนภัยแก่ภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการเข้าจับกับเซลล์เป้าหมายและเปิดประตูเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายดายขึ้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยหลายแห่งในสหรัฐฯ รวมทั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที ร่วมกันตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร Cell โดยระบุว่าโปรตีนจำพวกอินเตอร์ฟีรอน (Interferon) ซึ่งภูมิคุ้มกันร่างกายผลิตขึ้นเป็นหน่วยลาดตระเวนและเตือนภัยจากสิ่งแปลกปลอมด่านแรก กลับกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ยีนบางตัวเร่งผลิตเอนไซม์ ACE2 ซึ่งเป็นตัวรับที่เปิดทางให้ไวรัสโรคโควิด-19 เข้าจับกับผิวเซลล์และ "ไขกุญแจ" เข้าทำลายเซลล์ได้มากขึ้นกว่าเดิม

ผศ.นพ. โฮเซ ออร์โดวาส-มอนตาเนส จากโรงพยาบาลเด็กบอสตันและคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "สถานการณ์ที่เราพบคือการที่ไวรัสใช้ส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันเป็นเส้นทางหลักเข้าสู่เซลล์ พวกมันฉวยใช้ประโยชน์จากภูมิคุ้มกันของเราเอง ทั้งทำให้ตัวรับ ACE2 สูญเสียความสามารถที่จะปกป้องกลไกการทำงานของปอด และไม่อาจควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติไปด้วยพร้อมกัน"

Lungs - 3D illustration

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เซลล์เยื่อบุถุงลมในปอดชนิดที่สอง (Pneumocyte type II) เป็นเซลล์ที่เสี่ยงถูกเชื้อโรคโควิด-19 โจมตีมากที่สุดชนิดหนึ่ง

การค้นพบดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากที่มีกระแสความสนใจจะนำโปรตีนอินเตอร์ฟีรอนมาทดลองใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ว่า โปรตีนที่เป็นนักรบด่านหน้าของภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะเป็นอันตรายหรือว่าเป็นประโยชน์แก่คนไข้กันแน่

"ปัจจัยเรื่องช่วงเวลาและปริมาณการให้อินเตอร์ฟีรอน มีผลต่อคนไข้ต่างกันไปในแต่ละราย เราต้องการจะหาจุดสมดุลที่ทำให้อินเตอร์ฟีรอนยับยั้งไวรัสโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่เพิ่มจำนวนเซลล์เป้าหมายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อให้สูงขึ้น" ผศ.นพ. ออร์โดวาส-มอนตาเนสกล่าว "คำถามก็คือเซลล์ประเภทไหนบ้างที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อมากที่สุด"

ทีมผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคถอดลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA) จากเซลล์เดี่ยว เพื่อค้นหาเซลล์ร่างกายที่มีการแสดงออกของยีนซึ่งผลิตเอนไซม์ ACE2 และ TMPRSS2 ที่ช่วยให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่เซลล์ได้ง่ายทั้งคู่ โดยเซลล์ที่มีการแสดงออกของยีนเช่นนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 สูงที่สุด

ผลการวิเคราะห์พบว่ามีเซลล์ในระบบทางเดินหายใจและลำไส้ของมนุษย์ต่ำกว่า 10% ที่มีการแสดงออกของยีนในลักษณะดังกล่าว ซึ่งได้แก่เซลล์เยื่อบุถุงลมในปอดชนิดที่สอง (Pneumocyte type II) เซลล์สร้างเมือกในจมูก และเซลล์ดูดซึมสารอาหารในลำไส้เล็ก โดยทีมผู้วิจัยจะนำเซลล์ที่มีความเสี่ยงถูกไวรัสโจมตีสูงเหล่านี้ไปศึกษา เพื่อหาทางใช้อินเตอร์ฟีรอนให้ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งหาวิธีรักษาโรคโควิด-19 ในแนวทางใหม่ ๆ ต่อไป