รัฐบาลเปิดแผนสร้าง “นักรบไซเบอร์”

นักรบไซเบอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

รัฐบาล คสช. เตรียมทุ่มงบ 350 ล้านบาท ผลิต "นักรบไซเบอร์" รุ่นแรก 200 คนเพื่อรับมือภัยไซเบอร์ เปิดรับสมัคร มิ.ย. นี้ ขณะที่ "ศูนย์จับตาจอมส่อง" ของ ปอท. ยังไม่เกิด แต่รัฐเน้นจับตากลุ่มคน "วงใน" ที่คอยชี้เป้าหมิ่นสถาบัน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยแผนการสร้างและพัฒนา "นักรบไซเบอร์" ของรัฐบาลภายใต้งบประมาณ 350 ล้านบาท ว่า ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. นี้ จะเปิดรับสมัครบุคลากรจากภาครัฐและเอกชนราว 1,000 คน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรม โดยประเมินว่าจะมีราว 500-800 คนที่ได้หนังสือรับรองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีอย่างน้อย 200 คนที่ได้รับการบรรจุเป็น "นักรบไซเบอร์" ภายในเวลา 3 ปี

"เราต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ 4,500-5,000 คนภายในปี 2564 แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่ารัฐมีผู้เชี่ยวชาญเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่นายกฯ ขอให้เร่งเพิ่ม 'นักรบไซเบอร์'" รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในระหว่างตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า" ที่ทำเนียบรัฐบาล

วานนี้ (9 พ.ค.) คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สั่งการให้เพิ่ม "นักรบไซเบอร์" 1,000 คน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

สื่ออยากรู้ รบ.อยากเล่า

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

สำหรับ "เนื้อหา" และ "กลุ่มคน" ที่รัฐบาลมุ่งจับตาเป็นพิเศษ พล.อ.อ.ประจินไม่ได้ระบุชื่อใคร แต่ได้อธิบายหน้าที่ของ "นักรบไซเบอร์" ว่ามุ่งเน้นการติดตามและป้องกันการละเมิดสถาบันและบุคคลที่สาม และการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์สถาบันต่าง ๆ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ ทั้งนี้ภายใน 4-6 เดือน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษกิจและสังคม (ดีอี) จะจัดทำแผนปฏิบัติการของ "นักรบไซเบอร์" ออกมา เบื้องต้นแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1. ติดตามเฝ้าระวัง 2. เผชิญเหตุ 3. แก้ไขระบบให้เป็นปกติ และ 4. ฟื้นฟูและพัฒนาระบบ

นักรบไซเบอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

พล.อ.อ.ประจิน ซึ่งเป็นรองหัวหน้า คสช. ด้วย ยืนยันว่าภารกิจหลักของ "นักรบไซเบอร์" ไม่ใช่การติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มที่เคลื่อนไหวหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ในช่วงปี 2559-2560 รัฐบาล คสช. ได้เอาจริงเอาจังในการปราบปรามกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในทางละเมิดสถาบัน โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล, เฟซบุ๊ก และไลน์ มาหารือเพื่อสกัดกั้นเว็บหมิ่นสถาบัน นอกจากนี้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ยังเตรียมจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของชาติ ภายใต้โครงการ "บิ๊ก ดาต้า" เพื่อรวบรวมข้อมูลประชาชนที่ชอบเข้าไปกดถูกใจ (ไลค์) แบ่งปัน (แชร์) หรือกระทั่งเข้าไปส่องเพจผิดกฎหมายและหมิ่นสถาบัน หรือที่รู้จักในนาม "ศูนย์จับตาจอมส่อง" แต่ล่าสุด น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี ระบุในเวทีเดียวกันนี้ว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่ตั้งงบผูกพันไว้ 2 ปี ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.ประจินยอมรับว่าการดำเนินการของ ปอท. คงไม่สามารถติดตามได้ร้อยละ 100 แต่จะใช้หลัก check and detect (ตรวจสอบและแกะรอย) จนพบว่ามี 3 ระดับคือ

  • "วงใน" คือผู้ให้ข้อมูล/ผู้ชี้เบาะแส เป็นกลุ่มที่รัฐต้องจับตาและให้ความสนใจเป็นพิเศษ
  • "วงกลาง" คือผู้ร่วมเครือข่ายการผลิตข้อมูล
  • "วงนอก" คือผู้ที่เข้าไปกดไลค์และแชร์ ซึ่งพบว่ามีจำนวนจำกัด

"ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่เราเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปเชื่อมโยงกับข้อกฎหมายต่อไป แต่ยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือเกิดความหวาดระแวงว่าจะไปล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน" พล.อ.อ.ประจินกล่าว