โควิด-19 : ศบค. เคาะมาตรการผ่อนปรน 6 กลุ่มกิจการ-กิจกรรม เริ่ม 3 พ.ค.

ร้านตัดผม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ร้านตัดผมเป็นหนึ่งในกิจการกลุ่มแรกที่ได้รับการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดบริการในวันที่ 3 พ.ค. แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ ศบค.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศ

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกมาตรการผ่อนปรนสำหรับกิจการและกิจกรรมที่ "มีความเสี่ยงต่ำ" 6 กลุ่ม ให้กลับมาดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า ศบค.วางแผนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเป็น 4 ระยะ ครอบคลุมระยะเวลา 2 เดือน สำหรับระยะแรกนั้น กำหนดให้ผ่อนปรนเฉพาะกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งหมด 6 กลุ่ม โดยจะประเมินผลหลังจากครบ 14 วัน หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม อาจพิจารณาให้ปิดกิจการหรือสถานที่ตามเดิม แต่หากยังรักษาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้อยู่ในระดับต่ำได้ ก็จะพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการและกิจกรรมที่สามารถเปิดดำเนินการได้ในระยะที่ 2

สำหรับมาตรการควบคุมโรคและข้อปฏิบัติสำหรับกิจการและกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดได้นั้นจะต้องยึดตามข้อ 11 ของข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีการระบุถึงมาตรการต่าง ๆ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การทำความสะอาดพื้นที่ การเว้นระยะห่างทางสังคม และอื่น ๆ

"ทาง ศบค. จะเป็นผู้กำหนดมาตรการผ่อนปรนโดยกำหนดมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการและกิจกรรมในทุกพื้นที่ให้ยึดถือปฏิบัติ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชกรุงเทพมหานครกำหนดรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้รายละเอียดของการปฏิบัติในแต่ละจังหวัดอาจมีความเข้มข้นมากกว่ามาตรฐานกลางของ ศบค. ได้ แต่มีความเข้มข้นน้อยกว่าไม่ได้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

6 กลุ่มกิจการ-กิจกรรมมีอะไรบ้าง

  • ตลาด : ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย
  • ร้านจำหน่ายอาหาร : ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศครีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่
  • กิจการค้าปลีก-ส่ง : ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
  • กีฬาสันทนาการ : กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม
  • ร้านตัดผมเสริมสวย : ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม
  • อื่น ๆ : ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับฝากเลี้ยงสัตว์

มาตรการผ่อนปรนนี้มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2563

พนักงานร้านกาแฟทำความสะอาดร้าน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พนักงานร้านเครื่องดื่มทำความสะอาดภายในร้าน เตรียมกลับมาเปิดให้บริการแบบให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้าน แต่ต้องจัดโต๊ะให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

โฆษก ศบค. ย้ำว่าไทยยังมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่ยังต้องตรึงมาตรการไว้ต่อไป คือ

  • ห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 22.00-4.00 น.
  • การควบคุมการเข้าออกราชอาณาจักร อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะบางประเภทที่จำเป็นหรือขออนุญาตล่วงหน้า
  • ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ จะต้องเข้าสู่การกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)
  • งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด
  • มาตรการให้ทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อย 50%
  • งดการเดินทางไปในที่ชุมนุมชนหรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก

คอนเสิร์ต-สนามมวย-สนามฟุตบอล รอกลุ่มสุดท้าย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งร่วมพิจารณาแนวทางการผ่อนปรนมาตรการและร่วมแถลงข่าวในวันนี้ด้วยกล่าวว่า ศบค.ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงของแต่ละกิจการ/กิจกรรม และจำแนกการผ่อนปรนออกเป็น 4 ระยะ ระยะแรกให้กิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกลับมาดำเนินการก่อนในวันที่ 3 พ.ค. เป็นวันแรก ส่วนกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมาก เช่น การจัดคอนเสิร์ต สนามมวย สนามฟุตบอล จัดว่ามีความเสี่ยงสูง จึงต้องจัดไว้เป็นกลุ่มท้ายสุดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4

ส่วนกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางจะกลับมาเปิดในระยะที่ 2 และ 3 ได้เมื่อใดขึ้นอยู่กับ 2 ตัวแปร คือ ผลที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่อนปรนระยะแรก หากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญก็จะพิจารณากลุ่มกิจการที่จะได้รับการผ่อนปรนเพิ่มเติม

ดร.ทศพรกล่าวว่ากิจการ/กิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะต่อไปจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกิจการที่มีระบบปิด เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวและสถานที่ เนื่องจาก ศบค.จะกำหนดให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ขออนุญาตเปิดดำเนินการมายังส่วนกลาง เพื่อรับคิวอาร์โค้ดสำหรับเป็นช่องทางให้ผู้ใช้บริการแจ้งเจ้าหน้าที่หากพบว่ามีมาตรการควบคุมโรคที่ไม่ดี

อะไรทำได้-ทำไม่ได้

นอกจาก นพ.ทวีศิลป์แล้ว การแถลงข่าวเพื่ออธิบายเรื่องการผ่อนปรนมาตรการในวันนี้ ยังมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมชี้แจงด้วย โดยได้ตอบคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมและกิจการบางอย่าง เช่น

การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ยังคงห้ามขายต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเหตุให้คนมารวมตัวกัน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

การบินภายในประเทศ : การเดินทางด้วยเครื่องบินภายในประเทศสามารถทำได้ แต่ ศบค.ขอให้มีการเดินทางน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และสายการบินจะต้องมีมาตรการป้องกันโรค เช่น ฆ่าเชื้อในห้องโดยสารและไม่ให้บริการอาหารบนเครื่อง เป็นต้น

นั่งรับประทานอาหารในร้าน : กรณีร้านขนาดไม่เกิน 2 คูหาสามารถเปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ แต่ต้องจัดโต๊ะให้ห่างกันเกิน 1 เมตร และแม้ลูกค้าจะมาด้วยกันก็ต้องนั่งแยกกัน อย่างไรก็ตาม ศบค.แนะนำให้ซื้อกลับบ้านเป็นหลัก

สนามบิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ศบค. ชี้แจงว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินภายในประเทศสามารถทำได้ แต่ขอให้เดินทางน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ

ยอดติดเชื้อต่ำกว่า 10 รายเป็นวันที่ 3

ระหว่างการแถลงสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ ศบค.วันนี้ (30 เม.ย.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย เป็นหลักต่ำสิบวันที่สี่ติดต่อกัน ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,954ราย และมีผู้ที่ยังรักษาตัวในรพ. 213 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 54 ราย

โฆษก ศบค. กล่าวว่า เป็นวันแรกที่ไม่พบผู้ป่วยที่เกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า โดยขณะนี้มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค สะสมไปแล้วกว่า 62,018 ราย ซึ่งในนี้พบผู้ป่วยยืนยัน 2,947 ราย คิดเป็น 4.75%

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

รายละเอียดผู้ป่วยใหม่ 7 คน นั้นจำแนกดังนี้

  • การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก 4 ราย ในจ.ภูเก็ต และกระบี่
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ใน State Quarantine 3 ราย

สถานการณ์ทั่วโลกวันนี้พบผู้เสียชีวิตกว่า 10,249 รายภายในวันเดียว ซึ่งมีผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 3,220,225 ราย ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด ส่วนในอังกฤษยังคงน่าเป็นห่วงหลังมีผู้เสียชีวิต 4,419 รายในหนึ่งวัน ทางฝั่งเอเชียนั้น อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง