มหาเธร์ โมฮัมหมัด: 5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอดีตแพทย์ "ผู้ทรงอิทธิพล"

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

การหวนคืนอำนาจของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย วัย 92 ปี หลังกำชัยชนะในศึกเลือกตั้งมาเลเซีย 2018 เหนือคู่แข่งขัน-ผู้เป็น "ศิษย์การเมือง" อย่างนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี ไปด้วยที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 122:79 ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับมาเลเซีย

แม้ก้าวขาลงจากอำนาจ-ประกาศวางมือการเมืองตั้งแต่ปี 2002 (วางมือจริงเดือน ต.ค. 2003) แต่นายมหาเธร์ยังเป็น "ผู้ทรงอิทธิพล" ต่อการเมืองมาเลเซียตลอดเกือบ 16 ปีที่ผ่านมา

บีบีซีไทยรวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนายมหาเธร์ หรือ "ด็อกเตอร์เอ็ม"

จากหมอสู่นักการเมือง

เพื่อนสนิท-มิตรสหายของนายมหาเธร์บางส่วนยังคงเรียกนายมหาเธร์ว่า "หมอบ้าน" (Bomoh) ด้วยเพราะเขาเคยรับราชการด้วยการเป็นแพทย์ หลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คิง เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ประเทศสิงคโปร์ ก่อนออกมาเปิดคลินิกของตัวเองในปี 1957 ในเมืองอลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ บ้านเกิดของเขา เป็นคลินิกเพียงแห่งเดียวในรัฐนี้ที่มีคนเชื้อสายมาเลย์เป็นเจ้าของ

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายมหาเธร์ (ซ้าย) ระหว่างการหารือกับนายชวน หลีกภัย ที่ประเทศแคนาดาในปี 1997

ว่ากันว่านายมหาเธร์ไม่เรียกเก็บค่ารักษาจากคนจน บางครั้งยังให้เงินผู้ป่วยยากจนติดตัวกลับบ้านไปด้วย จนชาวบ้านต่างชื่นชอบ ชื่นชม เรียกขานเขาว่า "ด็อกเตอร์อัมโน" ตามชื่อพรรคที่นายมหาเธร์ผู้สนใจการเมืองสมัครเข้าร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ปี 1945 ขณะมีอายุเพียง 20 ปี

นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายมหาเธร์ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. สมัยแรกในปี 1964 นอกจากนี้เมื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภา เขายังผลักดันกฎหมายการแพทย์เพื่อคนจนได้สำเร็จด้วย

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นายมหาเธร์ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฐานะนายกรัฐมนตรี และครองอำนาจยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย รวม 22 ปี (1981-2003) นอกจากนี้ยังผ่านการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมา 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ

นักการเมืองฝีปากกล้าผู้กล้าหักมหาอำนาจ

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

นอกจากไม่เดินตามหลังชาติตะวันตก นายมหาเธร์ยังประกาศ "ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง" และแสดงจุดยืนสวนทางกับประเทศมหาอำนาจอยู่บ่อยครั้ง โดยจุดแตกหักสำคัญอยู่ที่การปฏิเสธรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่คนไทยรู้จักในนาม "วิกฤตต้มยำกุ้ง" พ.ศ. 2540 เพราะไม่ต้องการ "สูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ"

ผู้นำมาเลเซียคนที่ 4 เลือกใช้วิธีควบคุมการเข้าออกของเงินทุน ลดการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหนักเพื่อป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศ, อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้แนวทางของนายมหาเธร์ช่วยกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของมาเลเซียได้

ทว่านั่นได้นำมาสู่ความขัดแย้งทางความคิดกับนายอันวาร์ อิบบราฮิม รมว.คลัง (ในขณะนั้น) ผู้ประกาศใช้มาตรการเปิดเสรีและคงอัตราดอกเบี้ยให้สูง ก่อนมีการ "ปลด" นายอันวาร์พ้นจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

"บิดาแห่งการสร้างความทันสมัย" ผู้ให้กำเนิดเด็กชาย "โปรตอน"

พลันที่ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ คนที่ 4 ของมาเลเซียในปี 1981 นายมหาเธร์ประกาศนโยบาย "มองตะวันออก" (Look East) ด้วยนิสัย "ไม่ชอบเดินตามก้นชาติตะวันตก" จึงชี้ชวนให้เพื่อนร่วมชาติมองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นต้นแบบในการพัฒนาชาติ

เขาถือเป็นผู้นำคนแรก ๆ ของอาเซียนที่มี "วิสัยทัศน์ 2020" (Vision 2020) เพื่อนำพามาเลเซียสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ มหาเธร์ โมฮัมหมัด หรือ 'ด๊อกเตอร์เอ็ม'

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ด้วยสไตล์การบริหารงานที่ยึดแนวทาง "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" ทำให้นายมหาเธร์คิด-ผลักดันให้เกิดการผลิต "รถยนต์แห่งชาติมาเลเซีย" ขึ้นภายใต้ชื่อ "โปรตอน" ซึ่งสามารถปั๊มตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมให้มาเลเซียได้เป็นอย่างดี นับจากก่อตั้งบริษัท โปรตอน โฮลดิงส์ เบอร์ฮัด ในปี 1983

จากเคยเป็นประเทศ "เกษตรกรรมล้าหลัง" ทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และเหมืองแร่เป็นหลัก มาเลเซียพลิกกลับมาเป็นประเทศ "อุตสาหกรรมชั้นนำ" ของภูมิภาค ชิงตำแหน่ง "เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย" จากไทยไปได้สำเร็จ โดยมีโปรตอนเป็น "หน้าตา-ความภูมิใจ" ของชาวมาเลเซีย

นาจิบ ราซัค

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, นาจิบ ราซัค ผู้เป็นเสมือนศิษย์ทางการเมืองของนายมหาเธร์

กระทั่งวันที่ 25 พ.ค. 2017 เมื่อรัฐบาลนายนาจิบ ราซัค ตัดสินใจขายหุ้นบริษัท โปรตอนฯ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน เจ้อเจียง จีลี่ โฮลดิงส์ กรุ๊ป เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนสะสมจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลง ทว่ารัฐยังต้องเจียดงบประมาณไป "อุ้ม" ร้อนถึงนายมหาเธร์ต้องออกมาแสดงความในใจผ่านเว็บบล็อกส่วนตัวว่า "รู้สึกเสียใจมาก เกือบจะร้องไห้ได้เลย"

"แม้โปรตอนจะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ แต่ไม่อาจภาคภูมิใจได้เลย เพราะโปรตอนไม่ได้เป็นของชาวมาเลเซียอีกแล้ว ผมสูญเสียลูกของผมไปแล้ว..." นายมหาเธร์ระบุ

นอกจากนี้ในยุคสมัยของรัฐบาลนายมหาเธร์ยังผุดสารพัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจคต์) ที่กลายเป็น "สัญลักษณ์ของมาเลเซีย" จนถึงปัจจุบัน อาทิ สร้างเมืองใหม่-เมืองราชการ "ปุตราจายาซูเปอร์คอร์ริดอร์" สร้างตึกแฝด "ปิโตรนาส" ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งการสร้างความทันสมัย" ของมาเลเซีย

เผด็จการอ่อน ๆ

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำสั่งปลดนายอันวาร์จากกรณีมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ "เผด็จการอ่อน ๆ" ขึ้นกับนายมหาเธร์ ก่อนใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) จับกุมนายอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกวางตัวให้สืบทอดตำแหน่งทางการเมืองจากมหาเธร์ ด้วยข้อหาการมีสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อหาที่หลายฝ่ายมองว่ามีมูลเหตุจูงใจจากเรื่องทางการเมือง

มหาเธร์ ยังถูกมองว่าใช้มาตรการแข็งกร้าวตอบโต้ผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ สื่อมวลชนและนักการเมืองฝ่ายค้าน

ตอนหนึ่งของหนังสือ "จับเข่าคุย มหาเธร์ โมฮัมหมัด" เขียนโดย ทอม เพลต นักข่าวอเมริกัน กล่าวในประเด็นนี้ว่า โลกภายนอกมาเลเซียมองนายมหาเธร์ว่า เป็นคนไม่เกรงกลัวที่จะใช้วิธีการกดขี่สังคมเพื่อจัดการกับสถานการณ์ โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นตราบาปของมหาเธร์เกิดขึ้นในปีที่หกของการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขา

มหาเธร์ใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน จับกุมผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกว่า 100 คน ใน "ปฏิบัติการลาลัง (Operation Lalang)" หรือแปลเป็นไทยว่า ภารกิจถอนรากถอนโคน ในเดือน ต.ค. 1987 ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติ ตำรวจภายใต้รัฐบาลมหาเธร์ จับกุมผู้นำฝ่ายค้านและนักกิจกรรมทางสังคม สั่งปิดหนังสือพิมพ์ด้วยข้ออ้างเพื่อความสงบในประเทศ สร้างความไม่พอใจให้กับคนมาเลเซียทั้งประเทศ

แต่มหาเธร์ไม่ยี่หระ โดยชี้แจงภาพลักษณ์ "เผด็จการอ่อน ๆ" ของตนว่า "ผมอาจจะจัดการกับมันแตกต่างออกไป เว้นแต่ว่าตำรวจต้องดำเนินการแบบนั้น เพราะพวกเขาบอกว่าจำเป็นที่จะต้องจับคนพวกนั้นเข้าคุก"

ผู้นำลัทธิอิสลาม

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

นายมหาเธร์ขึ้นชื่อว่าเป็น "ผู้ส่งเสริมอิสลามสายกลาง" สะท้อนผ่านการสวมบท "ผู้แก้ต่าง" ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ อังกฤษ และพันธมิตรในชาติตะวันตกแทบทุกประเด็นในยุคที่ลัทธิก่อการร้ายลุกลามทั่วโลกนับจากเหตุการณ์ 911 ในปี 2001 นำไปสู่การเปิดฉากทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ

ในบทสัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน เมื่อปี 2005 เขากล่าวว่าการทำสงครามต่อการก่อการร้ายจะไม่จบลงจนกว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะได้รับการแก้ไขอย่างยุติธรรม และการทำสงครามของสหรัฐฯ เป็นการสร้างความกลัวให้กับผู้คน ซึ่งเขามองว่า "มีความผิดฐานการก่อการร้ายไม่ต่างจากคนกลุ่มที่นำเครื่องบินพุ่งชนตึก"

อดีตนายกรัฐมนตรี และอนาคตนายกฯ วัย 92 ปี ยังเป็นหนึ่งในผู้นำที่ต่อต้านการทำสงครามในอิรัก โดยเมื่อปี 2003 ระหว่างการประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement หรือ NAM) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เขาได้แสดงมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อการปฏิบัติการในอิรักของสหรัฐฯ และอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชื่อโดยตรง

"การบังคับมาตรการสงครามครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นโดยกองกำลังพหุภาคีภายใต้การควบคุมของสหประชาชาติ ไม่ควรมีชาติใดชาติหนึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้คุมกฎระเบียบของโลก"

ก่อนหน้านั้นในปี 2002 นายมหาเธร์เคยกล่าวถึงศาสนาอิสลาม และจุดยืนของมาเลเซียต่อการก่อการร้าย ในปาฐกถาที่สถาบันเอเชียโซไซตี (Asia Society) ในนครนิวยอร์ก โดยยืนยันว่าศาสนาไม่ใช่สาเหตุของการก่อการร้าย และอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ที่สามารถอยู่ร่วมกับทุกศาสนาได้

"อิสลามสามารถอยู่ร่วมกับศาสนายูดาห์และคริสต์ได้หากพวกเขาไม่ถูกกดขี่ แน่นอนว่าอิสลามสามารถอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นได้ รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่มีศาสนาด้วยเช่นกัน" เขากล่าว

เขากล่าวว่าปัญหาการก่อการร้ายนั้นเกิดจากชาตินั้น ๆ อ่อนแอและไม่สามารถรับมือกับผู้ก่อการร้ายได้ดีพอ พร้อมยกมาเลเซียเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการรับมือกับการก่อการร้าย ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนทางวัฒนธรรมและศาสนา