โควิด-19 : คนไทยในต่างแดนขอกลับบ้านอีกเกือบหมื่น ศบค. กำชับทุกหน่วยงานเตรียมรองรับ

คนเดินทางที่สนามบิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงในต่างประเทศส่งผลให้จำนวนคนไทยในต่างแดนที่แจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับบ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่ามีคนไทยแจ้งความประสงค์ขอเดินทางเข้าประเทศอย่างน้อย 8,998 คนในเดือนพฤษภาคมนี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ (20 เม.ย.) ว่าไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 27 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,792 ราย มีผู้รักษาหายแล้วทั้งหมด 1,999 คน ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 746 คน

วันนี้นับเป็นวันที่ 12 ติดต่อกันแล้วที่ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบ นับจากวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 111 คน นับตั้งแต่นั้นมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ต่ำกว่าร้อยมาตลอด ขณะที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 47 ราย

เข้าคิวรับแจกอาหาร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นพ.ทวีศิลป์ย้ำว่าการรวมตัวกันในสถานที่หนึ่ง ๆ เช่น ตลาดสด รวมถึงการเข้าคิวรับอาหารแจกมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19

ผู้ป่วยรายใหม่ 27 ราย มีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 16 ราย
  • ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย
  • ยืนยันการพบเชื้อแล้ว อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 8 ราย
  • ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศอังกฤษและอยู่ในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ใน จ.กระบี่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยนั้นเป็นเพราะมีการตรวจหาเชื้อน้อยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ตัดพ้อว่า ศบค.ต้องอธิบาย "ข้อกล่าวหา" นี้หลายครั้ง พร้อมกับให้ข้อมูลว่าจนถึงขณะนี้ไทยมีการตรวจโควิด-19 ไปแล้ว 142,589 ตัวอย่าง ทั้งในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐ เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจไป 21,715 ตัวอย่าง โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 3,000 ตัวอย่าง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการตรวจหาเชื้อของ สธ.นั้นจะเน้นที่การเจาะจงตรวจกลุ่มเสี่ยง เพราะการตรวจแบบเหวี่ยงแหอาจทำให้เสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น

คนไทยในต่างแดนลงทะเบียนขอกลับบ้านเกือบหมื่นแล้ว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าขณะนี้มีคนไทยที่ลงทะเบียนขอเดินทางกลับไทยในเดือนหน้า (พ.ค.) จำนวน 8,998 คนแล้ว และคาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการรองรับอย่างเต็มที่ เพราะหากย่อหย่อนไปอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยยังต้องมีเอกสารครบตามเดิม คือ ใบรับรองแพทย์ว่าเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit-to-fly) และเอกสารรับรองจากสถานทูตในประเทศต้นทาง

สำหรับผู้ที่แจ้งความประสงค์นั้นกระจายตัวอยู่ใน 14 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ 1,950 คน ออสเตรเลีย 786 คน นิวซีแลนด์กว่า 600 คน อินเดียกว่า 600 คน ญี่ปุ่น 280 คน ซาอุดิอาราเบียกว่า 290 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 335 คน เมียนมากว่า 600 คน กัมพูชากว่า 500 คน อินโดนีเซียกว่า 500 คน เกาหลีใต้ 400 คน ฟิลิปปินส์ 331 คน ศรีลังกา 40 คน มัลดีฟส์ 160 คน

สำหรับคนไทยในประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาในการขอใบรับรองแพทย์นั้น กระทรวงการต่างประเทศจะประสานหาแพทย์ดูแลต่อไป

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดหาพื้นที่รองรับคนไทยที่กลับมาทางด่านชายแดนต่าง ๆ รวมทั้งหมด 796 แห่ง ทั่วประเทศ สามารถรองรับคนได้ 20,941 คน ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าพักแล้ว 2,339 คน

"ไม่ใช่ห้องว่างอย่างเดียวนะครับ ต้องมีแพทย์ไปประจำการด้วย เพราะฉะนั้นบอกห้องว่างตั้งเยอะตั้งแยะ นั้นรับมาทีเดียวเป็นหมื่น ๆ สิ ก็ไม่ใช่นะครับ ต้องมีคนเข้าไปดูแล ต้องมีคนเข้าไปดูแลเรื่องอาหารกันอีก"

ยังคง พรก.ฉุกเฉินต่อไป จนกว่ามีมาตรการรองรับ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ศบค. ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการผ่อนคลายมาตรการตาม พรก.ฉุกเฉิน และเห็นว่าการผ่อนคลายมาตรการจะทำได้ก็ต่อเมื่อสถานประกอบการต่าง ๆ มีมาตรการรองรับแล้ว โดยจะมีการศึกษากรณีตัวอย่างต่างประเทศที่มีการผ่อนคลายสถานการณ์ไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการควบคุมโรคระบาดและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในที่ประชุม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ 1.12 คน แต่หากควบคุมได้ไม่ดี ผู้ติดเชื้อ 1 คนอาจแพร่เชื้อได้ 1.8 คน ซึ่งจะทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 คนภายในสัปดาห์หน้า และอาจทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 2,419 รายเมื่อถึงปลายเดือน มิ.ย.

ขยายเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพฯ จนถึงสิ้นเดือน หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ วันนี้ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายระยะเวลาการสั่งปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จนถึงสิ้นเดือนนี้ (30 เม.ย.) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันนี้ (20 เม.ย.) ตามประกาศฉบับล่าสุดโดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในกทม. และเห็นว่าควรให้ขยายเวลาาปิดร้านและพื้นที่จำหน่ายสุราต่อไปอีก 10 วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด และคาดว่าจังหวัดอื่น ๆ ก็อาจมีมาตรการไปในทิศทางเดียวกัน