โควิด-19 : ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงต่อเนื่องเหลือ 15 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 49 ราย

คนใส่หน้ากากอนามัยบนรถเมล์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กรมควบคุมโรคระบุว่า ขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งใน "พื้นที่เสี่ยง" ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 20 รายเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนเมื่อวานนี้ ล่าสุดวันนี้ (22 เม.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพียง 15 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงวันนี้ (22 เม.ย.) ว่าไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 15 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,826 ราย มีผู้รักษาหายกลับบ้านแล้วรวม 2,352 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 425 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 49 ราย

ผู้เสียชีวิตรายที่ 49 นั้น เป็นหญิงไทยอายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสลูกสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ มีเสมหะ ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะรักษาตัวอาการทรุดลง เหนื่อยหอบและเสียชีวิต

ผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย มีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 10 ราย
  • คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย
  • ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย
  • ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 ราย
  • ประกอบอาชีพเสี่ยง 3 ราย ทั้งพนักงานขาย ขนส่งสินค้า ทำงานกับนักท่องเที่ยว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ และการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วง 7-14 วันที่ผ่านมา

"ที่เราร่วมมือทำงานกันอย่างดี ทำให้ตัวเลขมาลดลงวันนี้ และผลของการทำวันนี้ก็จะไปเห็นในอีก 7-14 วันข้างหน้า" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

โฆษก ศบค. เปิดเผยว่าในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบผู้ป่วยใหม่กระจายตัวอยู่ใน 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา ปทุมธานี นครปฐม กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น ชุมพร พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยใหม่มากที่สุด

ถนนข้าวสาร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ถนนข้าวสาร แหล่งรวมตัวของนักท่องเที่ยวแบ็กแพคเกอร์เงียบเหงาหลังจากไทยประกาศห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ

สถิติของกรมควบคุมโรคเป็นตัวตัดสินผ่อนปรนมาตรการ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าสถานการณ์ขณะนี้ "เบาใจลงได้ แต่ยังวางใจไม่ได้และการ์ดอย่าตก" และย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และล้างมือบ่อย ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดน้อยลงจะนำมาสู่การผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นเพียงการ "ผ่อนปรน" มาตรการบางอย่างในบางพื้นที่เท่านั้น

สำหรับการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ นั้น รัฐบาลจะพิจารณาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ ข้อมูลและสถิติการระบาดในแต่ละพื้นที่ที่กรมควบคุมโรคจัดทำไว้ และความจำเป็น

เด็กอุ้มลูกหมา

ที่มาของภาพ, SOPA Images/LightRocket via Getty Images

คำบรรยายภาพ, เด็กหญิงอุ้มลูกหมามาเข้าคิวรอรับอาหารแจกฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อยย่านบางนา

นพ.ทวีศิลป์อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายนิยามของผู้ต้องสงสัยติดเชื้อที่เข้าข่ายการสอบสวนโรคให้ครอบคลุมผู้ที่ประวัติมีไข้ หรือมีอุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผนวกกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ รวมทั้งผู้ที่สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงของตัวเองได้ สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ทันที

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกนั้น นพ.ทวีศิลป์รายงานว่ามีผู้ป่วยสะสมกว่า 2,554,568 ราย เสียชีวิต 177,2402 ราย ภายในวันเดียวเสียชีวิตเพิ่มกว่า 7,039 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังน่าเป็นห่วงมากที่สุดทั้งจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมและเสียชีวิต ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ยังมีสถานการณ์น่าเป็นห่วงเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันเดียวกว่า 1,111 ราย

เปิดบัญชีสถานที่เสี่ยงติดโควิด-19

โฆษก ศบค.กล่าวว่าจากการสอบสวนโรค ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่มีประวัติเดินทางไปในที่ชุมนุมชน กรมควบคุมโรคจึงได้จัดทำรายการพื้นที่เสี่ยงติดโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดังนี้

  • สถานที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ

สถานบันเทิง, สนามมวย, สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน, โรงภาพยนตร์, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ฟิตเนส, ร้านเสริมสวย, มหาวิทยาลัย, ร้านอาหาร, ตลาด, ห้างสรรพสินค้า, ระบบขนส่งสาธารณะ

  • สถานที่เสี่ยงในต่างจังหวัด

สถานบันเทิง, สนามมวย, สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ห้างสรรพสินค้า, สถานที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ, สถานที่ทำงาน, สำนักงาน, สถานพยาบาล, ตลาด, วัด, มัสยิด