ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้วิกฤตโรคระบาดคือโอกาสเปลี่ยนประเทศไทย ปลุกประชาชนใช้โควิด-19 พิสูจน์คน

Thanatorn

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • Role, วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำคณะก้าวหน้า อาสารวบรวมความคิดเห็นและความเดือดร้อนที่ได้ฟังจาก "คนข้างล่าง" เพื่อสื่อสารตรงกับนายกรัฐมนตรี พร้อมปลุกคนไทยให้ใช้วิกฤตโควิด-19 พิสูจน์ความจริงแท้ของคน และน้ำคำนักการเมือง

สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของอาณาจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไทยซัมมิท ติดอันดับ 28 ในทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทยตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์ปีนี้ ด้วยทรัพย์สินมูลค่าราว 3.2 หมื่นล้านบาท

แต่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บุตรชายคนโตของสมพร ไม่ทราบว่ามารดาได้รับจดหมายเปิดผนึกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้แบ่งปัน "ความสามารถ-ความฉลาดหลักแหลม-วิสัยทัศน์" มาช่วยกันจัดการกับวิกฤตโควิด-19 หรือไม่

"สิ่งหนึ่งที่สามารถพูดได้คือถ้าผมเจอนายกฯ ผมสามารถส่งเสียงของประชาชนไปให้คนที่มีอำนาจฟังได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนที่มีอำนาจส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะองค์กร บริษัทเอกชน หรือรัฐบาล คนที่ห้อมล้อมเสียงของประชาชนมันไปไม่ถึง" ธนาธรกล่าวกับบีบีซีไทย

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

แนะใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท เปลี่ยนประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีไทย 20 อันดับแรก เมื่อ 20 เม.ย. เพื่อขอให้จัดทำเอกสารเสนอความคิด และร่วมกันทำโครงการ "บรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชน" พร้อมย้ำว่า "ผมไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค" แต่นั่นไม่ได้ทำให้สารพัดคำถามที่ถาโถมใส่รัฐบาลลดลง โดยเฉพาะความกังวลใจเรื่องการเปิดทางให้บรรดาเจ้าสัวเข้ายึดกุมนโยบายรัฐผ่านโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ

"อย่าลืมว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้นะครับ เงินกู้คือเงินกู้ ต้องมีใครสักคนจ่ายมัน... ถ้าเอาไปอุ้มเฉพาะคนรวย คนที่ต้องแบกรับหนี้ต่อไปในอนาคตก็คือคนรุ่นเราที่ยังต้องทำงานต่อไป 10-20 ปี กับคนรุ่นหลานเราที่ต้องเติบโตมาพร้อมกับหนี้ก้อนนี้" ธนาธรชี้ชวนให้สังคมคิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศูนย์โควิด-19 จะรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบทุกเย็นวันศุกร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศูนย์โควิด-19 จะรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบทุกเย็นวันศุกร์

เขาทดลองนำเสนอแนวทางการใช้จ่ายเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่แปรวิกฤตที่หาไม่ได้อีกแล้วให้เป็นโอกาสในการผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้า

  • สร้างอุตสาหกรรม/สร้างงานใหม่ โดยเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว
  • พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชน และลดมลภาวะ
  • กระจายงบจากรวมศูนย์ส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น เพื่อจัดทำโครงการที่ใกล้ชิดและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับของรัฐบาล ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 เม.ย. โดยวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นไปเพื่อเยียวยาสุขภาพของประชาชน และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 9 แสนล้านบาท ใช้ดูแลผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเพื่อตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้

ฉีกทฤษฎี อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน

แม้สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจจัดอยู่ในระดับ "ยอดพีระมิด" ของสังคมไทย แต่ธนาธรไม่เชื่อในทฤษฎีที่ว่าหากนายทุนมั่นคงแล้วประชาชนจะมั่งคั่ง ตรงกันข้ามเขาเห็นว่าแนวคิดนี้ "ไม่เคยเป็นความจริง"

อดีตนักธุรกิจที่หันมาเป็นนักการเมืองวัย 41 ปีชี้ว่า สถานการณ์นายทุนไทย ณ วันนี้ไม่มีใครถึงขั้นล้มละลายจนรัฐต้องเข้าไปโอบอุ้มเพื่อไม่ให้ประเทศสูญเสียกำลังการผลิต ตรงกันข้ามภาคเอกชนยังมีความเข้มแข็งมากสะท้อนผ่านงบดุลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

"กลุ่มทุนใหญ่ ๆ วันนี้ ไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ งบดุลของเขาก็ยังอยู่ได้ด้วยตัวเองอีกอย่างน้อยเป็นปี เพราะทุนเขาแข็ง ไอ้คนที่มันแย่จริง ๆ คนที่งบดุลไม่เข้มแข็งจริง ๆ คือประชาชนที่ไม่มีฝั่งทรัพย์สินเลย ฝั่งทรัพย์สินไม่มีอะไรเลย มีแต่ฝั่งหนี้สิน คนกลุ่มนั้นไม่มีเงินออม ไม่มีเงินสด"

เปลี่ยน "สวัสดิการอนาถา" เป็น "สวัสดิการถ้วนหน้า"

การประกาศ "รื้อโครงสร้างสังคมไทย-ทลายทุนผูกขาด" เป็นภารกิจต่อเนื่องมากว่า 2 ปี นับจากยุคที่ธนาธรกับพวกก่อตั้งพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ มาถึงคณะบุคคลภายใต้ชื่อคณะก้าวหน้า

ชาวดอนเมืองต่อแถวรับอาหารจากกองทัพอากาศภายใน รร.วัดดอนเมือง กทม. โดยมีการจัดระเบียบให้เว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อ 22 เม.ย.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชาวดอนเมืองต่อแถวรับอาหารจากกองทัพอากาศภายใน รร.วัดดอนเมือง กทม. โดยมีการจัดระเบียบให้เว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อ 22 เม.ย.

ถึงขณะนี้ เขายังไม่แน่ใจว่าโควิด-19 จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมไทยไปอย่างไร เพราะยังมองไม่เห็นการคลี่คลายในส่วนของกลุ่มทุนอย่างชัดเจนนัก เป็นไปได้ว่ากลุ่มทุนใหญ่อาจได้ประโยชน์มากขึ้น คู่แข่งน้อยลง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กน้อยลง ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดและการมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น

ทว่าไวรัสมรณะได้เปิดโปง-ตอกย้ำปมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เมื่อคนกลุ่มใหญ่ไม่อาจเข้าถึงการดูแลจากภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ต้องเอาตัวรอดด้วยสิ่งที่ธนาธรกับพวกเรียกว่า "สวัสดิการอนาถา"

"มันต้องแข่งกันน่ะว่าใครจนกว่ากัน แข่งกันว่าใครลำบากกว่ากัน ถึงจะได้เงินจากรัฐ การแข่งกันแบบนี้มันไม่ใช่เพื่อทำให้คนภาคภูมิใจในการอยู่ในสังคม เป็นการแข่งขันกันลดคุณค่าลดศักดิ์ศรีตัวเอง การจะทำให้คนแข็งแรง สังคมแข็งแรง มันต้องทำให้คนภาคภูมิใจในศักยภาพตัวเอง ตระหนักตลอดเวลาว่าตัวเองมีศักยภาพ ไม่ใช่ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขา หรือลดทอนคุณค่าเขา"

Thai people

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กลุ่มคนไร้บ้าน คนยากจน ได้รับแจกอาหาร เครื่องยังชีพ และเงินสดจากผู้ใจบุญ บริเวณ ถ.ราชดำเนินกลาง เมื่อ 19 เม.ย.

หากคนไทยต้องการระบบ "รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า" ธนาธรเห็นว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าช่วยกันส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้ยิน

"ผมคิดว่าจุดพลิกผันถ้าจะมีคือต้องเปลี่ยนรัฐบาลก่อนมั้ง" เขากล่าวพลางหัวเราะ ก่อนอธิบายว่าเวลาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง หนีไม่พ้นที่ต้องพูดถึงเรื่องการเมือง ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงการช่วงชิงอำนาจ แต่เป็นเรื่องใกล้ชิดกับทุกคน

ความมั่นคงทางสาธารณสุขควบคู่ประชาธิปไตย

ธนาธรอ้างว่า การช่วยกันส่งเสียงของนักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายค้าน และคณะก้าวหน้า เพื่อ "ต่อสู้กับความคิดแบบอนุรักษนิยมทางการคลัง" ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจตรา พ.ร.ก.กู้เงิน จากเดิมที่มีเพียงการเยียวยาประชาชนด้วยมาตรการ "กระมิดกระเมี้ยนทางการคลัง" เท่านั้น

เช่นเดียวกับการประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเขาไม่ได้ปฏิเสธ แต่แสดงความกังวลว่าเงื้อมมือของกฎหมายพิเศษจะยาวเกินไป แล้วไปทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะการจัดการกับประชาชนผู้เห็นต่าง หรือผู้ที่ออกมาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งมีคดีตัวอย่างให้เห็นกับการเอาผิดกับบุคคลที่ออกมาเปิดโปงขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย

ร้านขายยา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ร้านค้าย่านสยามสแควร์ไม่มีสินค้าจำหน่ายให้แก่ลูกค้าช่วงต้นเดือน มี.ค. หลังมีความต้องการหน้ากากจำนวนมาก

ในวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิด "สภาวะยกเว้น" หลายส่วน แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการปิดที่ทางของประชาธิปไตยตามทัศนะของผู้นำคณะก้าวหน้า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ใช้อำนาจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะประกาศใช้หลัก "สุขภาพนำเสรีภาพ" เพื่อจำกัดวงของไวรัสนี้ก็ตาม

"เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างความมั่นคงทางสาธารณสุขกับประชาธิปไตย ผมว่ามันไปด้วยกันได้... ถ้าอยากจะให้กระบวนการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ ต้องฟังประชาชน เราต้องเรียกร้องให้การใช้อำนาจที่ผิดปกติ ใช้ไปเพื่อจัดการกับปัญหาที่ไม่ปกติเท่านั้น ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบรัฐบาลเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย คนมีสิทธิเสรีภาพ มันควรจะต้องเป็นไปได้"

ใช้โควิดพิสูจน์คน

ท้ายที่สุดเมื่อให้ประเมินการเมืองไทยหลังโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อเกิดเสียงบ่น-ก่นด่าการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล

ธนาธรสงวนคำแรงในการวิจารณ์ฝ่ายบริหารชุดปัจจุบัน แต่ขอให้รอเวลาอันเหมาะสม แม้ก่อนหน้านี้เมื่อ มี.ค คณะก้าวหน้าเคยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ตามโรดแมปขั้นแรกในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ-โควิด ก็ตาม

"ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าเราจะก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมอยู่อย่างนี้ต่อไป หรือเราจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเพื่อกำหนดอนาคตของเราเอง" เขาตอบ

Thai

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ธนาธรเห็นว่า นี่คือช่วงเวลาในการพิสูจน์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคมไทย คำพูดที่ว่า "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เป็นคำพูดที่สวยหรูไว้ปิดบนข้างฝา หรือเป็นการกระทำที่แสดงออกอย่างจริงจัง

"เวลาที่เราจะพิสูจน์สังคมหรือจะพิสูจน์ตัวคนของใครสักคน มันไม่ได้พิสูจน์เวลาที่สุขสบาย เวลาที่หฤหรรษ์ สังคมจะถูกพิสูจน์ก็ต่อเมื่อเราเจอภาวะทุกข์ยาก ภาวะลำบาก นี่ต่างหากที่จะพิสูจน์สังคมว่าตกลงเราเรียกร้องความปรองดอง ความสมานฉันท์ ความสามัคคี ให้ทุกคนหยุดเพื่อชาติ วันนี้ชาติทำอะไรเพื่อเขาบ้าง จะปล่อยให้เขาอดตายหรือเปล่า" ธนาธรกล่าว

สมพร-ธนาธร ลงมือทำอะไรในวิกฤตใหญ่ 3 ครั้งของประเทศ

ภาพสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มหาเศรษฐีนี ขนเงินสดไปแจกจ่ายประชาชนที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จำนวน 2 พันบาท/ครัวเรือน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกพูดถึงทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

บ้างก็ว่าเป็น "มหาเศรษฐีนีใจบุญ".. บ้างก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าหวังผลทางการเมืองให้พรรค-พวกแม้ลูกชายถูกตัดสิทธิทางการเมืองนาน 10 ปี.. บ้างก็ถูกวิจารณ์เรื่องการไม่เว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อจำกัดวงของโควิด-19

ธนาธร และแม่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางมาให้กำลังใจบุตรชายที่สำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่างรับฟังการสั่งคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อ ก.พ. 2562

เมื่อ 21 เม.ย. ธนาธรถูกสื่อมวลชนไถ่ถามเรื่องนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง เขาหัวเราะรับคำถาม ก่อนยืนยันว่าไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่เคยได้รับคำปรึกษาใด ๆ จากมารดา

"ผมไปคุยกับคุณแม่หลังเกิดเรื่อง 1-2 วัน คุณแม่ตกใจ ไม่คิดว่าสิ่งที่เขาทำจะกลายเป็นข่าวใหญ่มาก ก็ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความสนใจ ที่ให้การสนับสนุนพวกเรา จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับความไว้วางใจของประชาชน" ธนาธรบอก

ขณะที่ตัวธนาธรได้ตั้งทีมร่วมผลิตอุปกรณ์ช่วยแพทย์ป้องกันตัวจากโควิด-19 2 ชนิดคือ ห้องตรวจเชื้อ 2 แรงดัน (Modular ARI Clinic) และเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ (Isolation Chamber) เพื่อจัดส่งให้ 12 โรงพยาบาล

อดีตนักธุรกิจหมื่นล้านที่มาเคลื่อนไหวทางการเมืองยอมรับว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วย "เครือข่ายธนาธร" แต่งานการกุศลที่ทำ แค่ช่วยบรรเทา ส่วนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต้องพูดเรื่องการเมือง "เพราะการเมืองเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะ และการจัดสรรงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชน"

นายธนาธรระบุว่างานนี้สำเร็จได้เพราะ "เครือข่ายธนาธร" ประกอบด้วย แพทย์, วิศวกร, ผู้ประกอบการ, คณะก้าวหน้า ซึ่งบางส่วนไม่รู้จักกันมาก่อน แต่มาร่วมมือกัน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายธนาธรระบุว่างานนี้สำเร็จได้เพราะ "เครือข่ายธนาธร" ประกอบด้วย แพทย์, วิศวกร, ผู้ประกอบการ, คณะก้าวหน้า ซึ่งบางส่วนไม่รู้จักกันมาก่อน แต่มาร่วมมือกัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ 2 แม่ลูกลงขันลงแรงช่วยเหลือสังคมไทยยามต้องเผชิญวิกฤตสำคัญ ถ้าย้อนกลับไปในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ธนาธรเล่าว่ามารดาของเขา "สั่งการ สนับสนุนทรัพยากร แต่ไม่ได้ออกหน้า" เพื่อทำหลายกิจกรรม ในจำนวนนี้คือการต่อเรือข้ามฟากบริการชาวดอนเมือง และเรือขนส่งอาหารและน้ำที่ประชาชนมาบริจาคที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ของรัฐบาล รวมถึงการจัดทำส้วมลอยน้ำโดยร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ก่อนนำแจกจ่ายไปตามต่างจังหวัด

"มีช่วงหนึ่ง ผมยังเจอตอนไปหาเสียงเลย เห็นส้วมที่เราทำตั้งอยู่" และ "ก็เป็นความภูมิใจเล็ก ๆ ในชีวิตเราว่าในวิกฤตเราไม่ได้นั่งอยู่เฉย ๆ" ธนาธรบอก

แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธนาธรซึ่งยังมีสถานะเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ม.ธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์เข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

"ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ที่ผมอ่านตลอดคือไทยโพสต์ พออ่านจบก็ต้องไปม็อบสีลมเลย เป็นการไปม็อบครั้งแรกและไปคนเดียวด้วย ยังไม่เคยเข้าร่วมกับขบวนการเอ็นจีโอที่ไหน แต่คิดว่าเราต้องไปแสดงพลัง ประเทศไทยเกิดวิกฤตแล้ว นี่คือการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศ อะไรแบบนี้ ตอนนั้นต้องบอกว่ายังไม่เดียงสาทางการเมือง" ธนาธรย้อนอดีต