ศาลพิพากษาประหารชีวิต 9 ผู้ต้องหาคดีระเบิดเมืองปัตตานี

  • นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ทหารติดป้ายประกาศรายชื่อ หน้าตา และโทษที่ได้รับต้องจำเลยในคดีนี้ที่กลางเมืองปัตตานี

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ทหารติดป้ายประกาศชื่อ หน้าตา และโทษที่ได้รับของจำเลยที่กลางเมืองปัตตานี

ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษา "ประหารชีวิต" ผู้ต้องหาคดีระเบิดเมืองปัตตานี 9 ราย ภายหลังลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตให้กับ 3 ราย เพราะให้การเป็นประโยชน์ ด้านองค์กรสิทธิระบุว่ากระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (2 พ.ค. 2561) หน่วยงานทางด้านความมั่นคงใน จ.ปัตตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งพิพากษาลงโทษ 10 ผู้ต้องหาคดีระเบิดเมืองปัตตานีในคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายรวม 6 คดี โดยเหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ธ.ค. 2559 ทำให้มีเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 20 กว่าราย

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำพิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลย 9 ราย และอีก 1 รายให้จำคุก 39 ปี 1 เดือน อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่าจำเลย 3 ราย ให้การเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีจึงได้ลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ขณะแถลงข่าว

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ขณะแถลงข่าว

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจะถูกยกฟ้องประมาณ 50% เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรวบรวมวัตถุพยานได้ และพยานบุคคลที่ไม่กล้ามาให้ข้อมูล

"แม้ว่าในอดีตจะมีคำพิพากษาประหารชีวิต แต่จำนวนผู้ต้องหานั้นไม่มากเท่า [กับคำพิพากษาครั้งนี้] ซึ่งเป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่พยายามปรับตัวใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ทำบันทึก หรือแสดงให้ศาลเห็นว่าไม่มีการซ้อมทรมาน และการคุ้มครองพยาน" เขากล่าว

ในงานแถลงข่าว ซึ่งจัดขึ้นบริเวณหน้าร้านศรีปุตรี ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุในช่วงปี 2559 นั้น ได้มีการติดป้ายขนาดใหญ่ที่แสดงภาพถ่ายและชื่อของจำเลยทั้ง 10 คน และมีการมอบกระเช้าให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต

มอบกระเช้า

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, มอบกระเช้าให้แก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในปัตตานี

ในใบแถลงข่าวของกอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุว่าจำเลยทั้ง 10 มีความผิดเกี่ยวกับ"การก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิตทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน" จากคดีเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดสถานที่ต่าง ๆ ในปัตตานี คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐมหน้าตลาดโต้รุ่ง, ระเบิดร้าน JP เฟอร์นิเจอร์, ระเบิดเรือประมง 2 ลำ , ระเบิดหน้าร้านศรีปุตรีข้างมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และพบว่าครอบครองอาวุธปืนพกและอุปกรณ์ประกอบระเบิดหลายรายการ รวมเป็น 6 คดี เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 2 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย

พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า คำพิพากษาครั้งนี้ถือเป็นการคืนความชอบธรรมให้ญาติและครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และได้ชักชวนให้ผู้กระทำผิดมารายงานตัวและแสดงตนตามโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่เปิดให้แนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวกับทางการไทย

"กอ.รมน. ได้ให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม รวมถึงการซ้อมบังคับขู่ทรมานจะไม่มี ทั้งหมดเราทำภายใต้พยานหลักฐานจนศาลเชื่อในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้ง 10 คนยังมีสิทธิในการยื่นขออุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้

เกิดเหตุระเบิดหลายจุดในเมืองปัตตานีและรอบนอก เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เกิดเหตุระเบิดหลายจุดในเมืองปัตตานีและรอบนอก เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557

ด้าน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ต้องการให้รัฐนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่การติดภาพหมายจับผู้ต้องสงสัยตามท้องถนนทั่วไป และการแถลงข่าวคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นตัวชี้วัดว่ากระบวนการยุติธรรมไม่เคารพในสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และหลักการด้านกระบวนการยุติธรรมที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น ได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ใช่ศาลสูงสุด และหมายจับของตำรวจที่ออกโดยศาลก็ไม่ใช่การแสดงว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดในเหตุนั้นๆ พร้อมระบุว่า ทนายความจำเลยคดีที่มีการแถลงข่าวควรทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมให้จำเลย

"การกระทำเช่นนี้เป็นการส่งผลทางการเมืองต่อกรุงเทพฯ ส่วนกลาง หรือในสายตาของผู้บังคับบัญชา โดยเป็นการตอบสนองความรู้สึกของคนข้างนอกว่าคนทำผิดได้รับการลงโทษ แต่ส่งผลในทางลบในกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ทำให้ผลของคดีอาจไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณะชนเพราะอาจมีการตั้งคำถามในเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมที่มีการใช้กฎหมายพิเศษที่ควบคุมโดยหน่วยงานความมั่นคงหรือไม่" น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

ส่วนเรื่องการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการทรมานนั้น เธอกล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างมืออาชีพและต้องการความเป็นอิสระ เนื่องจากตอนนี้กระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดขายแดนภาคใต้ คือ มีการจับกุมและตรวจสอบโดยหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยและสากล