4 ปีรัฐประหาร: ชะตา 3 ผู้ลี้ภัยการเมืองใน 3 ประเทศ

สาม

4 ปีหลังการรัฐประหาร สิ่งที่รัฐบาล คสช. มองว่าเป็น "ภัยความมั่นคงของชาติ" ไม่ได้มีแค่ในประเทศเท่านั้น "สนามรบ" ไม่ได้อยู่แค่บนท้องถนน แต่เป็นในโลกอินเทอร์เน็ตที่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญที่ "แหล่งข้อมูลทางเลือก" สามารถเข้าช่วงชิงพื้นที่ของ "ข้อมูลกระแสหลัก"

ในขณะที่ประกาศของ คสช. หลายฉบับจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อและประชาชน ห้าม "บิดเบือน" ข้อมูลข่าวสารและห้ามวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล สื่อมวลชนอิสระอย่าง จอม เพชรประดับ ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองและก่อตั้งช่องสื่อ Thai Voice Media ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายเสื้อแดง และอีกฝ่ายมองว่าเป็นการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของสื่อในการเสนอข่าว

เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศห้ามติดตาม ติดต่อ และเผยแพร่ข้อมูลจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แต่นักวิชาการและผู้ลี้ภัยการเมืองทั้งสองก็ยังเคลื่อนไหวเผยแพร่ข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการเมืองและสถาบันกษัตริย์ต่อเนื่องและมีผู้ติดตามจำนวนมาก

บีบีซีไทยมองความเคลื่อนไหวของผู้ลี้ภัยการเมืองทั้ง 3 คนใน 3 ประเทศ

Youtube

ที่มาของภาพ, Youtube

คำบรรยายภาพ, รายการทางช่อง Thai Voice Media ของจอม

สื่อเสรี หรือผู้แอบอิงเสื้อแดง?

"เรายืนอยู่ในประเทศที่มันมีลมหายใจ มีเสรีภาพที่เราได้สูดเข้าไปเต็มปอด" จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระที่ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย

"นี่คือความคุ้มในส่วนตัวผม แต่ถามว่ามันคุ้มไหม ประเทศไทย มันไม่คุ้ม"

จากแผนเที่ยวพักผ่อนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ นครลอสแอนเจลิสกลายเป็นบ้านหลังใหม่ของเขาตั้งแต่บัดนั้น

สำหรับสื่อมวลชนวัย 55 ปี การสัมภาษณ์นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยผู้ลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย หลังจากการรัฐประหารไม่นาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกรายงานตัว และนั่นก็นับเป็นงานชิ้นแรกของช่องทางสื่อของจอมในชื่อ "Thai Voice Media" ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดตามในยูทิวบ์มากกว่า 140,000 คน

"ผมใช้เสียงในพื้นที่นี้สะท้อนไปยังประเทศไทยว่า เรื่องนี้เป็นไง เรื่องนี้ประชาชนไม่ชอบ คิดยังไง เป็นช่องทางที่เสียงที่ไม่ได้ถูกพูดในไทย ผมก็ตัดสินใจทำด้วยเหตุผลนั้น ว่ามันมีความสำคัญ และจุดที่เราอยู่มันทำได้มากกว่าในประเทศไทย"

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ปีก่อน กลุ่มพันธมิตรฯ รณรงค์ให้ประชาชน "โหวตโน" เพื่อปฏิเสธนักการเมือง แต่ภายใต้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ การรณรงค์เช่นนี้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม

ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา จอมเดินหน้าผลิตรายการสัมภาษณ์จำนวนมากในแบบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า "แดง" และเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อีกบางส่วนมองว่าคือช่องทางสื่อที่มีเสรีภาพและเสนอประเด็นที่ไม่อาจพูดถึงได้ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร, ผู้วิเคราะห์เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงประเด็นผู้ลี้ภัยการเมืองและนักโทษคดี 112

แต่ข้อกล่าวหาที่ว่าเขาเป็น "สื่อแอบอิงเสื้อแดง" เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้น อาทิ กรณีการชนะการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2550 ที่จอมและทีมงานช่องทีไอทีวีบินตรงไปสัมภาษณ์นายทักษิณ ชินวัตร ถึงฮ่องกง ก่อนที่เทปการสัมภาษณ์นั้นจะถูกทหารซึ่งประจำการที่สถานีโทรทัศน์ในขณะนั้นสั่งห้ามออกอากาศ

จอมบอกว่าในอดีตการต่อสู้ของเขาในไทย ไม่ว่าจะเป็นกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทีไอทีวี หรือเอ็นบีที คือการเป็นสื่อที่เป็นกลางโดยให้พื้นที่คนจากทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม แต่ในปัจจุบัน นิยามของคำว่า "สื่อ" สำหรับเขาในการทำสื่อออนไลน์ Thai Voice Media ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเพราะเหตุการณ์การเมืองไทยในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาพาเขาไปสู่ข้อสรุปของวิชาชีพว่า ไม่สามารถหาความเป็นกลางได้อีกต่อไป

"สื่อต้องมีหลัก คือความเป็นธรรม เสรีภาพประชาชน ความเป็นคน ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน พอเรายึดหลักปั๊บ ความเป็นกลางก็จะหมดไปทันที" จอมกล่าว

Jom Petchpradab

ที่มาของภาพ, Jom Petchpradab

คำบรรยายภาพ, "ถ้าได้เงินจากทักษิณ ทุกวันนี้ผมก็ไม่ต้องไปยืนขายกล้วยแขกในวัดไทยหรอก"

การประกาศจุดยืนลักษณะดังกล่าวก็นำมาซึ่งคำครหาจากบางฝ่ายว่า จอม "รับเงิน" ทักษิณ และเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายเสื้อแดง

"ถ้าได้เงินจากทักษิณ ทุกวันนี้ผมก็ไม่ต้องไปยืนขายกล้วยแขกในวัดไทยหรอก" จอมกล่าว และตอบเสริมกับข้อกล่าวหาว่าเป็นสื่อเสื้อแดงว่า "ผมไม่ว่าอะไรเลย คำว่า "แดง" แต่ต้องแยกหน่อยว่าไม่ใช่แดงเพื่อการเมือง ไม่ใช่ทักษิณ และไม่ใช่ นปช. แต่เป็นของประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยขับเคลื่อนได้จริง ๆ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่สำนึกในความที่คนมีค่าเท่ากัน"

จอมยอมรับว่าการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เขา "ตั้งธง" ไว้แล้ว และเมื่อถามว่าจะมีประโยชน์อะไรที่จะเชื้อเชิญคนที่ "คิดต่าง" มาร่วมรายการในเมื่อเขามี "คำตอบ" ไว้ในใจแล้ว เขายืนยันว่าถึงอย่างไรก็ตาม เขาต้องฟังเสียงคนที่แตกต่าง

"ใช่ มันอาจจะเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่ก็ต้องฟังเสียงเขา ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เห็นด้วย ต้องกลับมาสู่ประเด็นเดิมที่ว่า มันต้องอยู่ได้ในสังคมที่เราเห็นคนที่ต่างจากเรา เราต้องอยู่กับเขาให้ได้" จอม กล่าว

ไผ่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

จอมได้รับได้สถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว และเขาบอกว่าขณะนี้ ต้องพยายามวางแผนเพื่อหารายได้เลี้ยงตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าขายหรือการผันตัวไปเป็นคนขับรถอูเบอร์ เพื่อที่จะได้มีต้นทุนในการทำงานสื่อบนเส้นทางที่เขาเชื่อต่อไป

จอมบอกว่ายังไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ "แต่แน่นอนว่าได้สร้างความคิดให้กับคนแล้ว"

"สังคมไทย เรารับรู้ปัญหาเยอะ จุดอ่อน เหตุผลที่วิวัฒนาการประชาธิบไตยไทยมันไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน อย่างไร ...[แต่]มันไม่ถูกขับเคลื่อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเลย บอกตรง ๆ ไม่คาดหวัง อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว คนที่ขยับจริง ๆ ต้องเป็นคนไทยทุกคนเองที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง"

PAVIN CHACHAVALPONGPUN

ที่มาของภาพ, PAVIN CHACHAVALPONGPUN

ฝีปากกล้า สู่ความเปลี่ยนแปลง?

"ไม่เคยมีใครขอให้มึงเป็นนายกฯ นะคะ ผ่านการเลือกตั้งก็ไม่ผ่าน ใช้ปืนยึดอำนาจประชาชน เสือกจะมาบ่นเรื่องเงินเดือนอีก..." รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อดีตนักการทูตไทยผู้ผันตัวมาเป็นนักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมือง โพสต์ไว้ทางหน้าเฟซบุ๊กของเขาที่มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กเกือบ 140,000 คน

"จะพูดว่าสิ่งที่ผมทำมันไม่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง มันคงเป็นไปไม่ได้" อดีตผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลของศูนย์ข่าวแปซิฟิก/จส. 100 บอกกับบีบีซีไทย ถึงการเคลื่อนไหวตลอดระยะ 4 ปีตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว งานเขียนวิชาการ บทความในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศหลายฉบับ และการเดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยในประเทศต่าง ๆ

อาจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตผู้นี้เป็นบุคคลที่ถูกรัฐบาลจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง จากการถูกเรียกให้ไป "รายงานตัว" หลังการรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และถูกยึดหนังสือเดินทางไม่นานหลังจากนั้น

หุ่นนายกฯ

ที่มาของภาพ, EPA

หลังจากรับราชการในกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลาถึง 16 ปี เขากลายเป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยเริ่มเป็นผู้ริเริ่มโครงการรณรงค์ "ก้าวข้ามความกลัว: ปลดปล่อยอากง" ซึ่งเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และพูดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในขณะเดียวกันเขาก็พูดถึงประเด็นอื่น ๆ ของประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานของรัฐบาลทหาร บทบาทสถาบันทหาร ประเด็นถกเถียงของข้าราชการหรือคนมีชื่อเสียงในสังคม ไปจนถึงประเด็นสังคมวัฒนธรรม

"คนเริ่มมาสนใจการเมือง เอาล่ะ คนที่ตามผม เผลอ ๆ เกินครึ่งอาจจะเป็นคนที่เกลียดผม แต่นั่นยิ่งดี คุณมีศัตรูมากกว่ามิตรเนี่ย แสดงว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณเนี่ย เขาเริ่มจะฟังคุณ จะเชื่อไหม อาจจะยัง นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือเราจะต้องแทรกซึมไปยังคนที่เขาคิดต่างจากเรา ผมคิดว่าจุดนี้ผมทำได้มากพอสมควร"

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการกลายเป็นอีกหนึ่งบุคคล พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศเมื่อปีที่แล้ว ขอให้ประชาชนงดติดตาม และเผยแพร่ข้อมูล โดยระบุว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งปวินมองว่า สิ่งที่บ่งบอกว่าทางการเห็นว่าพวกเขาทั้งสามคนเริ่มมีพลังมากขึ้นเรื่อย ๆ และทางการเข้าใจว่า "สนามรบ" ในยุคปัจจุบันไม่ใช่บนท้องถนนอีกต่อไปเหมือน 20-30 ปีก่อน แต่เป็นบนโลกออนไลน์

"ถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญ เขาไม่สนใจหรอก แต่เขาเห็นว่า 3 คนนี้มีศักยภาพที่จะส่งต่อข้อมูลอีกชุดให้กับสังคม เขากลัวมาก ๆ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกปิดในเมืองไทย"

แต่ "พลัง" ที่ปวินว่า ก็มาพร้อมคำถามจากบางฝ่ายว่า น้ำเสียงเย้ยหยันและคำหยาบที่เขาใช้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน หรือกล่าวอีกอย่างคือ จะทำให้คนที่เกลียดเขาอย่างที่ปวินบอกเองเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้แค่ไหน

นายปวินบอกว่า เขาไม่สนใจหากคนที่วิจารณ์เป็น "ฝั่งเดียว" กับเขา แต่ "อาจจะแคร์" หากเป็นฝ่ายตรงข้าม "เกลียดมากขึ้นมันอาจจะไม่ดีเพราะสิ่งที่เราพยายามจะทำเนี่ย มันอาจจะไม่เวิร์ค"

"แน่นอน ผมแซะ แล้วมันเป็นความผิดเหรอที่ผมแซะ ภาษาฝรั่งคือ sarcarsm เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยโรมัน เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการเมือง คุณจะรับมันได้หรือไม่ได้ นั่นเป็นปัญหาของคุณ"

สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต นอกจากการสอนและเดินทางไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ ต่อไป นายปวินบอกว่า "อาจมีแคมเปญ อะไรบางอย่างเกี่ยวกับการจัดการเผด็จการ" แต่เมื่อถามว่าจะเป็นในรูปแบบการให้ความรู้ หรือรณรงค์เคลื่อนไหวมวลชน ปวินบอกว่าไม่สามารถบอกอะไรไปมากกว่านี้เพราะเกรงว่าจะทำให้ "ไก่ตื่น" ไปเสียก่อน

คนอยากเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, กลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" ยื่น 3 เงื่อนไข สู่การเลือกตั้ง เมื่อ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา

ปวินบอกว่า หากดูจากรูปแบบการเคลื่อนไหวปัจจุบัน โอกาสประสบความสำเร็จอาจจะน้อยและไม่สามารถไม่โทษผู้เคลื่อนไหวได้ เพราะสำหรับวัฒนธรรมการเมืองของไทย มวลชนไม่ได้เป็น "active citizen" หรือมีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

"ส่วนหนึ่งเราต้องโทษฝ่ายตรงข้าม เพราะมันสร้างวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิด ออกไปประท้วงทีไรถูกยิงกระบาล ไม่มีใครถูกนำตัวดำเนินคดี เกิดแบบนี้ซ้ำ ๆ แล้วใครจะกล้าออกไปประท้วง เราโทษเขาไม่ได้ ทุกวันนี้คนที่ออกมามีความกล้าหาญมาก แม้จะมีนิดหน่อยเล็กน้อยก็ตาม อาจจะไม่ประสบความสำเร็จวันนี้ แต่อย่างน้อยมันเป็นความเคลื่อนไหว ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง มันจะต้องก้าวไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่านี้"

อย่างไรก็ตาม ปวินมองว่า รัฐบาล คสช."ต้องจบ" อย่างแน่นอนเพราะสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ "กำลังสวนกระแสพัฒนาการในภูมิภาค ในโลกทั้งหมด" และเขาเชื่อว่าไม่มีระบอบใดที่จะอยู่ได้โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

ปวินเป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงการสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เพราะ "เบื่อหน่ายกับวังวนเดิม ๆ"

เขาอธิบายว่า การที่ประชาชนมีฝ่ายทักษิณเป็นตัวเลือกเพียงตัวเดียวทำให้ทักษิณไม่เห็นค่าเสียงสนับสนุนของประชาชน และพรรคอนาคตใหม่มีความมุ่งมั่นในการพูดถึงประเด็นหนัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถอนทหารออกจากบทบาททางการเมือง เรื่องกฎหมายมาตรา 112 และการให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายในสังคม เช่น ประเด็นของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

BBC THAI

ที่มาของภาพ, BBC THAI

"จ." ผู้จ้องทำลายสถาบัน?

"สมัยหนุ่มหลัง 6 ตุลา ผมไม่ได้เข้าป่า เพราะติดคุก เพิ่งมามีโอกาสเข้าป่าเดินเขาตอนแก่นี่เอง" นี่คือส่วนหนึ่งของโพสต์เฟซบุ๊ก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เขียนถึงการเดินทางออกจากประเทศไทยหลังการรัฐประหารปี 2557 และลี้ภัยทางการเมืองที่ฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากที่เริ่มถูกคุกคามตั้งแต่ช่วงปี 2554 ซึ่งเป็นผลมาจากการอภิปรายเรื่อง "สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีก่อนหน้านั้น สู่การถูกมือปืนยิงโจมตีที่บ้านพัก หลังกองทัพบกให้ข่าวเตรียมจัดการเขาในข้อหาหมิ่นสถาบันช่วงต้นปี 2557 อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้นี้คือบุคคลที่ทางการจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง และเคลื่อนไหวต่อเนื่องในการเสนอข้อมูลเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในด้านที่ขัดกับความเชื่อกระแสหลักของสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้สมศักดิ์ถูกออกหมายจับตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อปีที่แล้ว ก็กลายเป็นอีกหนึ่งบุคคล พร้อมด้วยนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์และนายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศขอให้ประชาชนงดติดตาม และเผยแพร่ข้อมูล โดยระบุว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เมื่อปีที่แล้ว

แม้การลี้ภัยของสมศักดิ์จะสืบเนื่องมาจากการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยตรง แต่ความสนใจหลักของสมศักดิ์ตลอดมาเป็นการวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และให้น้ำหนักเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าการบริหารงานของ คสช. เมื่ออภิปรายถึงใจกลางปัญหาและการปฏิรูปการเมืองไทย และหากจำนวนโพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นภาพสะท้อนอะไรได้บ้าง เราจะเห็นว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 45 จาก 50 โพสต์ล่าสุดล้วนเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, AFP

บีบีซีไทยได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์สมศักดิ์แต่ไม่มีการตอบรับ อย่างไรก็ตาม โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งสะท้อนความคิดของเขาที่ว่าประเด็นการเมืองและสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

"ความสำเร็จอันใหญ่หลวงของระบอบ คสช. ในรอบ 3-4 ปีมานี้ (ซึ่งคนจำนวนมากอาจจะไม่ทันได้นึก เพราะ คสช.เต็มไปด้วยความล้มเหลว) คือ ทำให้ประเด็นสถานะของสถาบันกษัตริย์ เป็นประเด็นที่หลุดออกจากการอภิปรายสาธารณะในเมืองไทยโดยสิ้นเชิง นี่เป็นความสำเร็จที่ใหญ่มาก" สมศักดิ์ ระบุในโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว และเขายังได้มุ่งตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายของพรรคใหม่ ๆ ในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ประกาศว่าจะไม่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

สมศักดิ์เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังเป็นเวลานาน 2 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพและคอมมิวนิสต์ จนได้รับการนิรโทษกรรม

หลังออกจากคุก เขาศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกสาขาการเมืองที่มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ศึกษาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2489 มาจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งรวบรวมอยู่ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง"

การเรียกร้องประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้สมศักดิ์ถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าเป็น "พวกล้มล้างสถาบัน" ในขณะบางฝ่ายมองว่า "แหล่งข้อมูล" ที่มีหลักฐานและน่าเชื่อถือ เป็นข้อมูลอีกด้านที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถ่ายทอดให้เชื่อกันต่อ ๆ กันในสังคมไทย และเป็นธรรมดาที่จะเห็นคนกดไลค์โพสต์และดูเฟซบุ๊กไลฟ์ของสมศักดิ์เป็นหลาย ๆ พันคน

สมศักดิ์

ที่มาของภาพ, Facebook

แต่คำถามที่ตามมาพร้อมกับกระแสผู้ติดตามความคิดเห็นของเขาจำนวนมหาศาลคือ การเคลื่อนไหวเฉพาะบนโลกออนไลน์ของสมศักดิ์ จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว บอกกับบีบีซีไทยว่า ด้วยภาพลักษณ์ของสมศักดิ์ที่ถูกนำเสนอให้เป็นกลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ การแสดงความเห็นของสมศักดิ์จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐไทยใช้ในการคงไว้ซึ่งกฎหมายมาตรา 112 และปฏิเสธการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวด้วยเหตุผลของความมั่นคงแห่งรัฐ

"ในภาพรวม สมศักดิ์อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงช้าทั้งนี้เพราะว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับเขามาก" เขากล่าว "การแสดงความเห็นเขิงประชดประชันบางครั้งยิ่งทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เป็นแนวร่วมในการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันพระมหากษัตริย์"

เขาบอกว่า ถ้ามองในระยะสั้น สมศักดิ์ไม่ได้ช่วยให้เกิดแนวร่วม แต่ส่งผลด้านลบต่อการเรียกร้องให้ปฏิรูปมากกว่า เพราะการให้ข้อมูล "ยังกระจุกตัวในกลุ่มเดิม"

"เขาควรแค่พูดข้อเท็จจริง พยายามอย่าประชดประชัน การสื่อสารสำคัญมาก ทำอย่างไรให้ข้อมูลได้รับการตอบรับจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมนี่เป็นโจทย์ใหญ่"